สตช. ยันมีอำนาจจับกุม 'บุหรี่ไฟฟ้า' รับตำรวจบางนายไม่แม่นข้อกฎหมาย

ฝ่ายกฎหมาย สตช. ยันบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยอมรับตำรวจบางนายไม่แม่นข้อกฎหมายเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาความชัดเจน

2 ก.พ.2566 - ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) เปิดเผยถึงกรณีที่ ส.ส.เอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.เชียงราย อ้างเอกสารจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทั้งในสถานที่ส่วนตัว และสาธารณะได้ รวมถึงประเด็นความผิดพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 และ 246 นั้น เมื่อตำรวจจะจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำความผิด ต้องมีคำสั่งจากอัยการที่สั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาในความผิดฐานดังกล่าวด้วยนั้น

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยืนยันว่า ตำรวจยังมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งยังมีความผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากรพ.ร.บ.กระทรวงพาณิชย์ และพ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข แต่ยอมรับว่า อาจมีตำรวจบางนายที่ไม่แม่นยำข้อกฎหมาย เข้าไปจำกุมผู้ต้องหา แล้วแจ้งดำเนินคดีตามมาตรา 242 ว่าด้วย ผู้ใดนำเข้ามาหรือส่งออกไปนอก ราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะคลังสินค้าทัณฑ์บนโรงพักสินค้าที่มั่นคงท่าเรือรับอนุญาตหรือเขตปลอดอากรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า สินค้าหนีภาษี

แต่ในกรณีของบุหรี่ไฟฟ้า ตามกฎหมายเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่สามารถเสียภาษีได้ ทำให้ตำรวจต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 244 ,246 จึงจะถูกต้อง ซึ่งมาตรา 244 ว่าด้วย ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรหรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

ส่วน มาตรา 246 ว่าด้วย ช่วยซ่อนเร้นผู้ใดช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสียซื้อรับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึ่งรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ต้องระวังโทษจำคุก ไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากจับกุมแล้ว ตามขั้นตอนตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้กับพนักงานสอบสวน มีความเห็นส่งไปยังศาลเพื่อพิจารณาต่อไป หรือบางกรณีหากผู้เสียหายยินยอมเสียค่าปรับ และเข้าข่ายมีความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร พนักงานสอบสวนก็จะส่งไปยังกรมศุลกากรให้พิจารณาอัตราโทษปรับต่อไป

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังระบุอีกว่า ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับหนังสือขอความเห็นจากคณะกรรมาธิการชุดหนึ่ง เกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดทั้งหมด รวมถึงทางฝ่ายกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ก็อยากขอความเห็นจากทางกรมศุลกากร เกี่ยวกับความชัดเจนในเรื่องด้วยเช่นกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พวงเพ็ชร' นำแถลงจับบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 1.2 หมื่นชิ้น

'พวงเพ็ชร' แถลงข่าวร่วม สคบ.จับกุมผู้ลักลอบขาย 'บุหรี่ไฟฟ้า' ใกล้สถานศึกษา โซน กทม. ยึดของกลางกว่า 12,000 ชิ้น มูลค่า 3.6 ล้านบาท ตะลึง!! พบแพ็คเกจลักษณะคล้ายโลโก้พรรคการเมืองดัง

‘ไตรรงค์’ ลุยเองนำทีมพฐ. เร่งหาหลักฐานเพลิงไหม้กระทรวงเกษตรฯ

จากการประชุมซักถามพยานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าต้นเพลิงที่เกิดเหตุอยู่ที่บริเวณห้องครัวติดกับระเบียงด้านนอกอาคาร

สสส. สานพลัง ภาคี จ.สงขลา จัดกิจกรรม “HEALTHY HERO เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันโรค NCDs”

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)