เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๘)

 

ก่อนที่จะเรียกร้องให้มีหรือไม่มีการยุบสภา ควรเข้าใจถึงเป้าหมาย หลักการและเหตุผลในการยุบสภา ซึ่งการยุบสภาเกิดขึ้นได้เฉพาะในระบอบการปกครองแบบรัฐสภาเท่านั้น ในระบอบประธานาธิบดีแบบสหรัฐอเมริกา ไม่มีการยุบสภา

เราสามารถสรุปเป้าหมาย หลักการและเหตุผลของการยุบสภา ได้ดังนี้คือ

หนึ่ง การยุบสภาเป็นหนทางในการบังคับวินัยพรรคและสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหาร  เมื่ออำนาจยุบสภาอยู่ในการวินิจฉัยโดยลำพังของนายกรัฐมนตรี ขอบเขตของการใช้อำนาจยุบสภาจะกว้างขวาง การที่นายกรัฐมนตรีขู่ว่าจะยุบสภา  สามารถเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการควบคุมรักษาเสียงข้างมากในสภาไว้ได้   

นายกรัฐมนตรีที่สามารถยุบสภาได้ตามความต้องการของตน จะไม่ถูกบีบให้ลาออกง่ายๆโดยการลงมติไม่ไว้วางใจในสภา  เพราะนายกรัฐมนตรีจะมีทางเลือกสองทางระหว่าง ลาออก กับ ยุบสภา การยุบสภาคือ ทางเลือกที่นายกรัฐมนตรีจะขออุทธรณ์โดยตรงต่อเสียงประชาชน โดยให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะไว้วางใจให้เขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่   โดยก้าวข้ามเสียงไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในสภาไป            

ในลักษณะนี้  อำนาจในการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีอาจจะทำให้สภาต้องพิจารณาให้ดีในการที่จะลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพราะหากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา และในการเลือกตั้งทั่วไปที่ตามมา  ส.ส. ฝ่ายค้านอาจจะแพ้การเลือกตั้งได้

ดังนั้น อำนาจยุบสภาอันไม่มีข้อจำกัดของนายกรัฐมนตรีจะ                                       

ก. ทำหน้าที่ควบคุมเสียงในสภา                   

ข. ลดทอนการใช้การลงมติไม่ไว้วางใจตามอำเภอใจ                                           

ค.ส่งผลอย่างยิ่งต่อสมาชิกสภาที่ยังมีฐานเสียงไม่เข้มแข็ง (backbenchers) ให้อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี เพราะสมาชิกสภาที่ยังไม่มีชื่อเสียงคือนักการเมืองที่ยังไม่มีฐานเสียงที่มั่นคงจนมั่นใจได้ว่าหากเกิดการเลือกตั้งแล้ว เขาจะสามารถได้การเลือกตั้งกลับเข้ามาในสภาอีก

สอง การยุบสภาเป็นตัวเร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล  กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลในประชาธิปไตยแบบรัฐสภาผันแปรไปตามแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและรัฐธรรมนูญที่กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆอื่นๆ ด้วย เช่น ระบบพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง และวัฒนธรรมทางการเมือง

โดยส่วนใหญ่ของประเทศที่ระบบพรรคการเมืองเป็นระบบหลายพรรค การเจรจาต่อรองหลังเลือกตั้งในการจัดตั้งรัฐบาลอาจใช้เวลาเนิ่นนาน นับสัปดาห์จนถึงเป็นเวลาหลายเดือนจนเป็นปี  และก็ไม่จำเป็นว่าจะจัดตั้งสำเร็จเสมอไปด้วย ดังนั้น  การมีกฎที่กำหนดไว้ว่า ถ้าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล  จะต้องยุบสภา

ดังนั้น การยุบสภาจึงเป็นแรงจูงใจและแรงขับที่ทำให้การเจรจาระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ มีความประนีประนอมมากขึ้น ซึ่งอันนี้สามารถกำหนดไว้ในกฎระเบียบหรือรัฐธรรมนูญที่ให้ผู้ที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ให้คำแนะนำในการยุบสภา  หรือกำหนดให้มีการยุบสภาโดยอัตโนมัติก็ได้ หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้หรือในช่วงเวลาที่เหมาะสม                           

สาม การยุบสภาเป็นทางออกจากทางตันที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างสถาบันทางการเมือง  ทางตันที่ว่านี้ ได้แก่ ทางตันระหว่างรัฐบาลและเสียงข้างมากในสภา อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ด้วยระบบรัฐสภาอยู่ภายใต้หลักการที่ให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่สร้างสรรค์ กลมกลืนและใกล้ชิดกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับเสียงข้างมากในสภา  เมื่อความสัมพันธ์นี้มีปัญหารุนแรง การยุบสภาจะช่วยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า ใครควรจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ—ไม่ว่าจะเป็นการคืนเสียงข้างมากให้กับสภาเพื่อไปสนับสนุนรัฐบาล หรือคืนเสียงข้างมากที่จะไปสนับสนุนรัฐบาลใหม่  ตัวอย่างคือ รัฐบาลอาจจะให้มีการยุบสภา ถ้านโยบายสำคัญใดนโยบายหนึ่งหรือการริเริ่มเสนอกฎหมายถูกปฏิเสธจากสภา

สี่ การยุบสภาเป็นหนทางในการสนับสนุนอำนาจที่ได้รับความนิยมจากประชาชนของรัฐบาล  เมื่อเสียงข้างมากในสภาของรัฐบาลเริ่มมีปัญหา เช่น การหันเหของสมาชิกของพรรครัฐบาลไปยังฝ่ายค้าน หรือการสูญเสียที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อม  หรือเมื่อความนิยมหรือเสียงสนับสนุนจากสาธารณะถูกตั้งข้อสงสัย  เช่น หลังจากมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นใหญ่หรือวิกฤตเศรษฐกิจ  รัฐบาลอาจต้องการได้รับการยืนยันความชอบธรรมของตนจากเสียงสนับสนุนการยอมรับจากประชาชนโดยการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง 

แต่ในกรณีนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สุ่มเสี่ยง เพราะรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจอาจจะแพ้การเลือกตั้งและจำต้องออกจากตำแหน่งไป  อย่างไรก็ตาม การยุบสภาจะเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจนในการหยั่งเสียงความไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐบาล  และหากรัฐบาลชนะเลือกตั้ง ก็จะทำให้มีความเข้มแข็งกลับคืนมา

ห้า การยุบสภาเพื่อได้อาณัติจากประชาชนหลังการเปลี่ยนรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา บางครั้ง มีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เช่น รัฐบาลผสมแตกตัวและมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่ หรือถ้าพรรคเสียงข้างมากเปลี่ยนผู้นำโดยการเลือกตั้งผู้นำใหม่ภายในพรรค  อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในกรณีเหล่านี้ รัฐบาลใหม่อาจจะยุบสภาเพื่อหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งทั่วไป และได้รับอาณัติการยอมรับที่ชัดเจนจากประชาชน    

หก การยุบสภาเป็นหนทางที่จะหยั่งเสียงประชาชนต่อประเด็นสำคัญ   บางครั้ง รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจต่อนโยบายที่สำคัญที่อาจจะเบี่ยงเบนไปจากที่เคยประกาศไว้หรือมีความจำเป็นต้องสนองตอบต่อปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นที่มีข้อถกเถียงกันมาก อันเป็นประเด็นที่ไม่ได้คาดถึงไว้ในช่วงการหาเสียงก่อนหน้า  ในกรณีเหล่านี้ เพื่อความชอบธรรมของรัฐบาล รัฐบาลอาจจะตัดสินใจถึงความจำเป็นที่จะต้องให้สาธารณะเป็นผู้ตัดสินใจออกมาอย่างชัดเจนว่าสังคมต้องการไปในทิศทางใด   และการจะได้มาซึ่งเสียงรับรองจากสาธารณะคือการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้น  เมื่อมีการใช้การยุบสภาด้วยเป้าหมายที่ว่านี้  การยุบสภาจะถูกใช้ไปในลักษณะที่คล้ายกับการหยั่งเสียงประชามติ แต่เป็นการหยั่งเสียงประชามติอย่างหยาบและไม่ชัดเจนและสุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ที่ว่าหยาบเพราะในการเลือกตั้ง มีประเด็นต่างๆ หลากหลายในการหาเสียง ในขณะที่ถ้าเป็นการทำประชามติ ก็จะมีความชัดเจนไปเลยในประเด็นเฉพาะที่ต้องการฟังเสียงประชาชน  และที่ว่าเสี่ยงก็เพราะจากจุดยืนของรัฐบาลที่ต้องการหยั่งเสียงในประเด็นหรือนโยบายเฉพาะ  การเลือกตั้งอาจจะส่งผลให้รัฐบาลนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไปเลย  ในขณะที่ หากแพ้ประชามติ ก็มิได้จำเป็นว่าพรรครัฐบาลทั้งพรรคจะต้องพ้นไป อาจจะเป็นเพียงการเปลี่ยนตัวผู้นำเท่านั้น  ดังนั้น  การทำประชามติโดยตรงไปเลยจึงเป็นที่นิยมมากกว่าจะยุบสภา

เจ็ด การยุบสภาเป็นหนทางที่จะเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบในการเลือกตั้งก่อนสภาครบวาระ อำนาจการตัดสินใจในการยุบสภาทำให้สามารถเลือกกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับผู้มีอำนาจในการยุบสภา แต่ก็เป็นไปได้ว่า รัฐบาลอาจจะคาดการณ์เสียงประชาชนผิดจังหวะด้วยก็ได้ และอาจจะแพ้การเลือกตั้ง

ซึ่ง การยุบสภาในข้อเจ็ดนี้เคยเป็นหลักการและเป้าหมายหนึ่งของการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปในปี พ.ศ. 2554 เมื่อรัฐสภาอังกฤษได้ผ่านพระราชบัญญัติที่เรียกว่า  The Fixed-term Parliaments Act 2011 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองว่าด้วยการยุบสภาครั้งใหญ่ในอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้  (โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490