๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๑๗)

 

 

ในเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ใช้คำว่า “พวกหนักโลก” และวงเล็บว่า “social parasite”  และเขาได้อธิบายว่า “ในประเทศไทยนี้ มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลก อาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือ ตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ หรือการใด ให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ในกรุงเทพฯหรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตดูตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก...ไม่มีวิธีใดดีกว่าที่รัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้” [1]

ในขณะที่หลวงประดิษฐ์ฯเขียนเค้าโครงเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2476 (หรืออาจจะก่อนหน้านี้ไม่นาน) คำว่า  “parasite” มีความหมายสองอย่าง อย่างแรกหมายถึง “สิ่งมีชีวิตที่อาศัยผู้อื่นหรือเซลล์ชนิดอื่นเป็นที่พักอาศัยและแหล่งอาหาร และบางครั้งทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ใช้ประโยชน์นั้นหรือเซลล์ภายในจนเจ็บป่วยหรือถึงกับเสียชีวิต เช่น การอาศัยอยู่สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำในร่างกายมนุษย์ ตัวอย่าง พยาธิ”  และผู้ที่ค้นพบสิ่งมีชีวิตที่ว่านี้คือ นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส มูริส คูรี (Maurice Caullery) และเขาได้ใช้คำว่า “parasite” ตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดนี้  และเขาได้ตีพิมพ์หนังสือข้อค้นพบของเขาในปี ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หลวงประดิษฐ์ฯได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส นั่นคือระหว่าง พ.ศ. 2463- 2470)

ทำไม คูรีถึงใช้คำว่า parasite เรียกเจ้าสิ่งมีชีวิตที่ว่านั้น ?

เดิมทีคำว่า parasite ไม่ได้หมายถึงสิ่งมีชีวิตประเภทพยาธิ แต่หมายถึงคน คนที่คอยจะกินอาหารของคนอื่น เพราะคำว่า parasite  มาจากภาษากรีกโบราณ parasitos  โดยความตรงตัวของคำๆนี้คือ  para แปลว่า “อยู่ข้างๆ” ส่วนคำว่า sitos แปลว่า “ข้าวสาลีหรืออาหาร”  ดังนั้น คำว่า parasitos ในภาษากรีกโบราณจึงหมายถึง “คนที่กินอาหารบนโต๊ะของคนอื่น”  และเป็นคำที่ถูกใช้เป็นวาทกรรมทางการเมืองตั้งแต่สมัยนครรัฐเอเธนส์

นอกจากที่กล่าวไป ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1842-1867 (พ.ศ. 2385-2410)   มีการใช้คำว่า parasite ปรากฏให้เห็นในผลงานต่างๆของสองนักคิดที่เขียนงานร่วมกันบ้าง หรือเขียนคนเดียวบ้าง (ต่อไปขอเรียกว่า “นักคิด”) และเท่าที่ลองสุ่มสำรวจงานของพวกเขาแค่ 5 ชิ้นในงานทั้งหมดที่รวมเล่มได้ 50 เล่มใหญ่ พบว่า มีการใช้คำ parasite เป็นจำนวน 28 ครั้ง

ในงานเขียนชิ้นแรกๆของ “นักคิด” ในปี ค.ศ. 1842 ผู้เขียนได้กล่าวถึงความหมายของ parasite ที่ใช้ในนครรัฐเอเธนส์โบราณ และกล่าวเปรียบเปรียบบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของรัฐปรัสเซีย ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลโดยเขียนสนับสนุนนโยบายเซนเซอร์ของรัฐบาลว่าเป็นทำตัวประดุจ parasite

หลังจากงานชิ้นดังกล่าว เราจะพบการใช้คำว่า parasite ที่ไม่ต่างจากความหมายดั้งเดิมที่ใช้ในนครรัฐเอเธนส์โบราณ แต่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นโดยผู้เขียนได้นำไปใช้ภายใต้บริบททางเศรษฐศาสตร์การเมือง ทำให้ผู้อ่านงานของเขาเห็นว่าคนที่เป็น parasite ได้แก่   ผู้ที่ไม่ได้ใช้แรงงานของตัวเองในการผลิตสินค้าหรือผลผลิตใดๆ  แต่หากินจากการกดขี่ขูดรีดแรงงานในการผลิตของคนอื่น  เช่น ชนชั้นสูงที่ไม่ได้ใช้แรงงานผลิตอะไรถือเป็น parasite บริสุทธิ์ ชนชั้นสูงที่เก็บกินค่าเช่าที่

นอกจากชนชั้นสูงที่ว่าแล้ว พวกพ่อค้าคนกลางที่ซื้อถูกขายแพง  คนที่หากินจากการค้ากำไรโดยไม่ได้ใช้แรงงานของตนในการผลิตอะไร การใช้แรงงานผู้หญิงและเด็กในครัวเรือน ตลอดจนการผลิดรายย่อยที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักร  คนที่หาประโยชน์จากเงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็น parasite ทั้งสิ้น

การจ่ายค่าแรงต่อหน่วยหรือต่อชิ้น ก็ถือเป็นการกระทำที่เป็น parasite

คนเก็บภาษีก็เป็น parasite  และเมื่อคนเก็บภาษีเป็น parasite  การเก็บภาษีเข้าส่วนกลางทำให้เกิดรัฐรวมศูนย์ ซึ่งเป็น parasite ตัวใหญ่ที่ดูดกินพลังของสังคมไป รัฐรวมศูนย์เกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของระบบศักดินา รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงถือเป็น parasite ตัวใหญ่ จากการที่มีอำนาจบริหารควบคุมกองทัพที่มีทหารเป็นจำนวนนับแสนๆ เพื่อพิทักษ์รักษาการกดขี่ขูดรีดหรือ parasite  

ระบบราชการทั้งพลเรือนและทหารจึงเป็น parasite

สถาบันองค์กรต่างๆของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรัฐทุนนิยมล้วนเป็นติ่ง parasite ที่ไม่ทำอะไร ไม่มีประโยชน์อะไร เอาแต่สูบจากแรงงานคนอื่นจนแห้ง  ดังนั้น “นักคิด” จึงเห็นว่า รัฐบาลของชุมชนหรือรัฐบาลแห่งคอมมูน (communal) จะต้องจัดการกับเผด็จการของทุนที่กดขี่ขูดรีดแรงงาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของ parasite   

และถ้าพิจารณา “พวกหนักโลก (social parasite)”   หลวงประดิษฐ์ ที่ได้อธิบายไว้ว่า “ในประเทศไทยนี้ มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลก อาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือ ตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ หรือการใด ให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ในกรุงเทพฯหรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตดูตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก...ไม่มีวิธีใดดีกว่าที่รัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้” 

เราจะพบนัยความหมายที่ไม่ต่างจาก parasite ของ “นักคิด”

นัยความหมายของ parasite ของ “นักคิด” ผู้เขียนนำมาจากงานต่างๆของเขา ได้แก่  

-ค.ศ. 1842, “Proceedings of the Sixth Rhine Province Assembly, First Article, Debates on Freedom of the Press and Publication of the Proceedings of the Assembly of the Estate, (Rheinische Zeitung No. 125, May 5, 1842, Supplement),”

-  ค.ศ. 1848, Manifesto of the Communist Party                                               

-ค.ศ. 1852,  The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte                             

-ค.ศ. 1870, The Civil War in France       

-ค.ศ. 1867, The Capital, Vol. I  และ Vol. IV

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายคนคงทราบแล้วว่า “นักคิด” ที่ว่านี้คือใคร พวกเขาคือ คาร์ล มาร์กซ และ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Karl Marx และ Friedrich Engels) สองนักคิดชาวเยอรมันผู้ให้กำเนิดลัทธิคอมมิวนิสม์

แต่กระนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “วิธีการที่จะทำนี้ จริงอยู่มิใช่วิธีคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นวิธีที่รัสเซียเขาใช้อยู่”  [2]

ขณะเดียวกัน หลวงประดิษฐ์ฯเองก็ได้กล่าวยืนยันไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจว่า “เราเกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์....และเราไม่ดำเนินวิธีริบทรัพย์มาแบ่งกัน...” [3]

กลับมาที่คำถามที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 นั่นคือ ตกลงแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯและเค้าโครงเศรษฐกิจของเขาเป็นหรือไม่เป็น “คอมมิวนิสต์” กันแน่ 

________________________________________

[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 291-292.

[2 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 285-286.

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 264.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490