เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๒๐): การยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอความเห็นของศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ  ต่อกรณีการยุบสภาของคุณทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยอาจารย์บวรศักดิ์ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ตอนยุบสภานั้น นายกฯ ให้ผมเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเข้าไปกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ไปหาที่กระทรวงการต่างประเทศ ผมก็ยกมือไหว้ท่านหนึ่งครั้ง ตอนยื่นพระราชกฤษฎีกาส่งให้ท่าน ผมขอท่านว่าขอแสดงความเห็นหน่อยได้ไหม ท่านก็บอกว่าได้ ว่ามาเลย ผมก็บอกว่า ท่านนายกฯครับ มันไม่มีเหตุที่จะยุบสภา แต่ท่านก็ตัดบทโดยให้เหตุผลว่า ผมรับผิดชอบเอง” 

นอกจากนี้ ในวิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง  ปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎร ของคุณหนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ ยืนยันว่า การยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลตามที่ประกาศไว้อย่างไรในพระราชกฤษฎีกา รวมทั้งเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม เพราะการยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น  เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้  ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ในกรณีการยุบสภาฯดังกล่าว  ปรากฎข้อมูลจาก https://th.m.wikinews.org/wiki/%22ทักษิณ%22_ล้มกระดานประกาศยุบสภา_เลือกตั้ง_2_เมษายน มีข้อความว่า

“ระหว่างไปร่วมงานสหกรณ์เข้มแข็งร่วมแรงขจัดความยากจน พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งสัญญาณบางอย่างในการกล่าวบนเวที ซึ่งทำให้เชื่อว่ากำลังจะมีการยุบสภา จากนั้นเมื่อเวลา 16.45 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เดินทางไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ต.ท.ทักษิณได้ทูลเกล้าฯ เสนอทางเลือกให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณา 2 แนวทาง คือ การปรับคณะรัฐมนตรีและยุบสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ยุบสภา

ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เพื่อหารือและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง พ.ต.ท.ทักษิณเสนอที่จะปรับ ครม.เพื่อลดกระแสความขัดแย้ง แต่ พล.อ.เปรมแนะนำว่าควรยุบสภาดีกว่า”

ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เข้าใจได้ว่า การยุบสภาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 มาจากการเลือกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่เก้า)  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ตรงกับ/หรือน่าจะมาจากข้อมูลจาก https://wikileaks.org/plusd/cables/06BANGKOK5565_a.html  ภายใต้หัวข้อ “THAKSIN LOYALIST SEES LIGHT AT THE END OF THE TUNNEL” (ผู้จงรักภักดีต่อทักษิณเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์)  ซึ่งเป็นการสรุปสาระสำคัญของการสนทนาระหว่างเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาขณะนั้นคือ นายราล์ฟ บอยซ์ (Ralph Boyce) กับ รองศาสตราจารย์ ดร. โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและสมาชิกพรรคไทยรักไทย  ระหว่างช่วงรับประทานอาหารกลางวันที่ที่พำนักของเอกอัครราชทูต การสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้นวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2549   ส่วนบันทึกดังกล่าวนี้เป็นรายงานที่ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2549  เป็นเวลา 8 วันก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 ปรากฎดังนี้    

“SUMMARY

-------

(C) When the Ambassador asked about the wisdom of Thaksin's decision to dissolve the parliament in February, Bhokin replied that Thaksin had received advice to do so from Privy Council President Prem Tinsulanonda as well as then-Cabinet Secretary Borwornsak Uwanno. Bhokin then confided that Thaksin had discussed the matter directly with the King; when Thaksin had presented various alternatives to resolve growing political tension, the King had said it would be better to dissolve the parliament.”

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ดังนี้

“(ข้อมูล) เพิ่มเติมเกี่ยวกับอิทธิพลจากพระราชสำนัก

8. (C) เมื่อเอกอัครราชทูต (สหรัฐขณะนั้น นายราล์ฟ บอยซ์ [Ralph Boyce]/ผู้เขียน) ได้ถามเกี่ยวกับวิจารณญาณของทักษิณในการตัดสินใจยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์  โภคินได้ตอบว่า ทักษิณได้รับคำแนะนำให้ยุบสภาจากประธานองคมนตรี (พลเอก) เปรม ติณสูลานนท์ และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และโภคินยังได้วางใจบอกเรื่องลับว่า ทักษิณได้หารือเรื่อง ดังกล่าวโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในตอนที่ทักษิณได้กราบบังคมทูลเสนอทางเลือกต่างๆในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น พระมหากษัตริย์ทรงตรัสว่า ยุบสภาจะดีกว่า”

ข้อความดังกล่าวมาจากย่อหน้าสุดท้ายในรายงานบันทึกการสนทนาระหว่างเอกอัครราชทูตสหรัฐฯกับรองศาสตราจารย์ ดร. โภคิน พลกุล ทำให้เข้าใจได้ว่า นอกจากประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์และศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่เก้า) ก็ทรงแนะนำให้คุณทักษิณ ชินวัตร ยุบสภาด้วย หลังจากที่คุณทักษิณได้กราบบังคมทูลเสนอทางเลือกต่างๆให้พระองค์ทรงเลือก  อันหมายความว่า การยุบสภาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นวิธีการที่พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่าวิธีการอื่นๆ    ข้อมูลจากการสนทนาของรองศาสตราจารย์ ดร. โภคินกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯที่ปรากฎในวิกิลีคส์จึงขัดแย้งกับที่ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณได้กล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตอนยุบสภานั้น นายกฯ ให้ผมเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเข้าไปกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ไปหาที่กระทรวงการต่างประเทศ ผมก็ยกมือไหว้ท่านหนึ่งครั้ง ตอนยื่นพระราชกฤษฎีกาส่งให้ท่าน ผมขอท่านว่าขอแสดงความเห็นหน่อยได้ไหม ท่านก็บอกว่าได้ ว่ามาเลย ผมก็บอกว่า ท่านนายกฯครับ มันไม่มีเหตุที่จะยุบสภา แต่ท่านก็ตัดบทโดยให้เหตุผลว่า ผมรับผิดชอบเอง”  [1]          

ตกลงแล้ว ความจริงคืออะไร ?  นักวิชาการที่ทำวิจัยการเมืองในช่วงนั้น หากใช้ข้อมูลจากวิกิลีคส์ดังกล่าว ไม่ควรนำข้อมูลดังกล่าวนี้ไปใช้โดยกล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่เก้า) ก็ทรงแนะนำให้คุณทักษิณ ชินวัตร ยุบสภา”  แต่ควรจะตรวจสอบโดยการสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร. โภคิน พลกุล และ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อีกครั้งให้แน่ใจ เพราะทั้งสองท่านก็ยังมีชีวิตอยู่

_______________________________________

[1] บทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ ใน http://www.publaw.net/publaw//iew.asp?publawIDs=999       

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นางแบก' เป่าพรวด! อีเว้นต์สงกรานต์ฝีมือรัฐบาล ทำเงาทะมึนของรัฐประหารหายเรียบ

นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ คำผกา หรือ แขก กองเชียร์พรรคเพื่อไทย และพิธีกรชื่อดัง โพสต์ข้อความใน X Kam Phaka @kam

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า