๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๒๗)

 

 

หลังจากที่ได้พิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและพระบรมราชวินิจฉัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีต่อเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการลงมติ ซึ่งผลการลงมติคือ เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณากำหนดเป็นนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติ

มี “นักวิชาการ” กล่าวว่า จากผลการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนจุดยืนที่มีต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ เพราะก่อนหน้านี้ “ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๗๖ หลวงประดิษฐ์ฯได้เสนอร่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ’ ต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น ๑๔ คน เพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับดังกล่าว” [1]  และคณะอนุกรรมการได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีผู้เข้าประชุม คือ (๑)  หลวงคหกรรมบดี (๒) หลวงเดชสหกรณ์  (๓) หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์ (๔) นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (๕) นายทวี บุญยเกตุ (๖) นายแนบ พหลโยธิน (๗) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (๘) นายประยูร ภมรมนตรี (๙) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (๑๐) นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน (๑๑) นายวิลาศ โอสถานนท์ (๑๒) พระยาศรีวิศาลวาจา (๑๓) หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ (๑๔) หลวงอรรถสารประสิทธิ์ [2]

โดยนักวิชาการที่ว่านี้คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและรองศาสตราจารย์ ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์  และทั้งสองท่านได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่า “คณะกรรมานุการ (คณะอนุกรรมการ/ผู้เขียน) พิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ประชุมกัน เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม หลังจากการซักถามในหลักการ ที่ประชุมก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับเค้าโครงฯฉบับนี้ ๘ นาย ได้แก่ หลวงประดิษฐ์ฯ, หลวงเดชสหกรณ์, นายแนบ พหลโยธิน,  หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ, หลวงคหกรรมบดี,  หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์, นายทวี บุญยเกตุ และนายวิลาศ โอสถานนท์ ที่คัดค้านคือกลุ่มพระยามโนปกรณ์ฯ มี พล.ร.ท. พระยาราชวังสัน, พระยาศรีวิศาลวาจา พ.อ. พระยาทรงสุรเดช รวม ๔ เสียง ที่หายไป ๒ เสียง คือ คือ นายประยูร ภมรมนตรี และหลวงอรรถสารประสิทธิ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ นอกจากนี้กลุ่มคัดค้านยังได้เตรียมร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจอย่างคร่าวๆเสนอต่อที่ประชุมด้วยเช่นกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดประเด็นเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีแนวทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน”   [3]   

จากข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างต้น ผู้อ่านย่อมจะเข้าใจว่า ในการประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯมีการลงมติต่อเค้าโครงฯดังกล่าว  แต่หลังจากที่ผู้เขียนได้ตรวจสอบกับข้อความใน “สำเนาต้นฉบับ” ที่ตีพิมพ์ใน “ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 357-372” ภายใต้หัวข้อ “(ลับ)  ง. รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ณ วังปารุสกัน วันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (๒๔๗๖/ผู้เขียน)” และหนังสือเรื่อง “National Economic Policy Luang Pradist Manudharm (Pridi Banomyong) from Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years Since the Revolution 1932” โดย Kenneth Perry Landon [4] ซึ่งมีบทที่แปลต้นฉบับรายงานการประชุมดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษภายใต้หัวข้อ “D. Minutes of a Meeting of a Committee to Consider a National Economic Policy at Paruskavan Palace” ตั้งแต่หน้า 58-78  ก็ไม่พบข้อความใดๆที่บันทึกว่าได้มีการลงมติ

อย่างไรก็ตาม แหล่งอ้างอิงที่ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์ใช้ในการเขียนว่ามีการลงมติในที่ประชุมวันนั้น และมีรายชื่อของฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯและฝ่ายเสียงข้างน้อยที่คัดค้าน ทั้งสองไม่ได้อ้างอิงจากหนังสือของชัยอนันต์และขัตติยา และไม่ได้อ้างอิงจากหนังสือของ Landon แต่ทั้งสองอ้างอิงจากเอกสารสองเล่ม นั่นคือ ๑. หนังสือของ “เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก (พระนคร: เสริมวิทย์บรรณาการ, 2500) หน้า 156-194 และ ๒. วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 65. [5]        

แต่หลังจากที่ผู้เขียนได้ตรวจสอบหนังสือของ เดือน บุนนาค และวิทยานิพนธ์ของ วีณา มโนพิโมกษ์ ก็ไม่พบข้อความในบันทึกรายงานการประชุมวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2476 ว่ามีการลงมติต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯแต่อย่างใด [6]

แต่ที่น่าสนใจคือ ในวิทยานิพนธ์ของ วีณา มโนพิโมกษ์ แม้ว่าจะไม่ปรากฎข้อความที่กล่าวถึงการลงมติในที่ประชุมฯวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2476   แต่มีข้อความที่ วีณา กล่าวถึงรายชื่อของกรรมการที่เข้าประชุมฯ ที่แยกเป็นรายชื่อที่เห็นด้วยกับรายชื่อที่คัดค้านเค้าโครงเศรษกิจฯ  โดยมีผู้ที่เห็นด้วยมีจำนวน 8 คนและไม่เห็นด้วย 4 คนและมีรายชื่อตรงกับที่ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์กล่าวไว้ในหน้า 349 ในหนังสือ ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam ของทั้งสอง  แต่ท้ายของรายชื่อทั้งสองฝ่ายนี้ วีณา ไม่ได้ใส่เชิงอรรถอ้างอิงไว้ [7] ซึ่งน่าจะหมายความว่า การแบ่งแยกคณะกรรมานุการที่เข้าร่วมประชุมฯวันนั้นทั้งสิ้น 14 คนออกเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่คัดค้านมาจากการตีความหรือคาดการณ์ของ วีณา เอง  มีได้มาจากการลงมติในที่ประชุมแต่อย่างใด โดยข้อความของวีณา ที่แสดงให้เห็นว่า เธอได้อ่านรายงานการประชุมฯและตีความหรืออนุมานด้วยวินิจฉัยของเธอเองว่า ใครเห็นด้วยและใครคัดค้าน คือข้อความที่ว่า “ในการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาตินั้น หลวงประดิษฐมนูธรรมได้กำหนดความมุ่งหมายว่า ให้กรรมานุการซักถามหลักของเค้าโครงการเศรษฐกิจโดยละเอียด แต่ผลปรากฏว่า ในการประชุมครั้งนั้นจะมีก็แต่หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เท่านั้นที่ทรงซักถามและโต้แย้งในหลักการที่ยังทรงข้องพระทัยอยู่ และเมื่อเข้าพระทัยดีแล้ว ก็ทรงเห็นด้วยกับหลักการของหลวงประดิษฐมนูธรรม คนอื่นๆส่วนใหญ่ก็มิได้ซักถาม จะมีก็เพียงแต่กล่าวสนับสนุนหรือคัดค้านเท่านั้น ที่เป็นเช่นนนี้อาจเนื่องมาจากผู้ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นฐาน ผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้ก็คงมีแต่หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ หลวงเดชสหกรณ์ และหลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์” [8] 

การอ่านรายงานการประชุมคณะกรรมานุการแล้วตีความตามฐานความรู้และความเข้าใจของผู้เขียน (วีณา มโนพิโมกษ์) เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้และถือเป็นเสรีภาพทางวิชาการที่จะแสดงความคิดเห็นทางวิชาการของตน ซึ่ง วีณา ก็มิได้ใส่เชิงอรรถอ้างอิงกำกับข้อความดังกล่าว ถือเป็นความรับผิดชอบของวีณา และเปิดให้มีการตีความโต้แย้งหากมีใครไม่เห็นด้วยกับการตีความและแบ่งกรรมานุการออกเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่คัดค้านตามคำพูดของกรรมานุการแต่ละท่านที่หลวงอรรถสารประสิทธิ์ได้จดบันทึกได้  โดยผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของเธอ  ซึ่งประกอบไปด้วย                   

อาจารย์ผู้ควบคุมการวิจัยและเป็นกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์สองท่าน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช และรองศาสตราจารย์ ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน ส่วนประธานกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วไล ณ ป้อมเพชร และกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์อีกท่านหนึ่งคือ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สืบแสง พรหมบุญ

ดังนั้น การกล่าวว่ามีการลงมติในที่ประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจฯวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2476 ของชาญวิทย์และธำรงศักดิ์ จึงไม่มีข้อความใดในรายการอ้างอิงที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถที่ 151 หน้า 349 รองรับ

คำถามคือ การเขียนว่ามีการลงมติ ทั้งๆที่ไม่มีการลงมติส่งผลอย่างไรต่อภาพประวัติศาสตร์การเมืองในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ?  โปรดติดตามในตอนต่อไป  

-------------------------------------------------

[1] เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม, ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม

[2] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 357.      

[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2560), หน้า 349.

[4] Kenneth Perry Landon, National Economic Policy Luang Pradist Manudharm (Pridi Banomyong) from Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years Since the Revolution 1932, Committees on the Project for the National Celebration on the Occasion of the Centennial Anniversary of Pridi Banomyong, Senior Statesman (private sector), (Bangkok: Ruankaew Printing House: 1999).  .

[5] ดูหน้า 349 และหน้า 385 เชิงอรรถที่ 151 ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2560)

[6] เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก (พระนคร: เสริมวิทย์บรรณาการ, 2500) หน้า 156-194; วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 65.

[7] วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 65.

[8] วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 64.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490