ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน: เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ กับ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 (ตอนที่ 3: รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย Joshua Kurlantzick)

 

สมัยก่อนใครอยากจะรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแบบไหนและมีความเป็นมาอย่างไร คงต้องไปค้นตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่อค้นหาหนังสือและงานวิจัยที่กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์  แต่สมัยนี้ คงจะเริ่มกันที่วิกิพีเดียในกูเกิลเสียเป็นส่วนใหญ่ และพรรคประชาธิปัตย์ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย ก็เริ่มต้นว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” โดยมีเชิงอรรถอ้างอิง 4 รายการ โดยรายการแรกเป็นบทความเรื่อง "Demise of the Democrat Party in Thailand" (มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์) เป็นข้อเขียนของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) เป็นบทความความยาวขนาด 45 บรรทัด เผยแพร่ในบล๊อกโพสต์ (blogpost) ทางอินเตอร์เนทวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 (December 9, 2013 12:47 pm)

ในบทความนี้  โจชัว เคอร์แลนต์ซิคได้กล่าวว่า “เมื่อชนชั้นกลางและคนชนชั้นแรงงานในชนบทมีพลังมากขึ้น คนประชาธิปัตย์ก็เริ่มเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีความคิดแบบชนชั้นนำไม่ฟังเสียงประชาชนทั่วไปมากขึ้นและเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยมากขึ้น”

แต่ก่อนที่คนประชาธิปัตย์หรือคนที่เชียร์ประชาธิปัตย์จะด่วนตัดสินว่า คุณเคอร์แลนต์ซิคมีอคติ เป็นพวกทักษิณหรือเป็นพวกเสื้อแดง  ขอให้อ่านบทความเรื่อง “Tanks Roll in Thailand” (รัฐประหารในประเทศไทย) ที่เขาเขียนและเผยแพร่ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2549 (https://www.washingtonpost.com/archive/opinions/2006/09/24/tanks-roll-in-thailand/d07cd2df-5634-4888-ab63-02b0d3330c1d/)  ห้าวันหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งในขณะนั้น คุณเคอร์แลนต์ซิคมีอายุ 30 ปี

ในบทความดังกล่าว คุณเคอร์แลนต์ซิคได้กล่าวว่า

เมื่อผมมาเมืองไทยในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2547 เรื่องราวของทักษิณ ชินวัตร คือเขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง  วิกฤตเศรษฐกิจในเมืองไทยที่เป็นผลจากวิกฤตการเงินเอเชียนในช่วงปลายทศวรรษ 2533 ก็ได้กลับฟื้นคืนมา มีนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในประเทศ ตลาดหุ้นเติบโตและมีการจับจ่ายบริโภคสูงมาก ตามร้านอาหารหรูย่านขุมวิท จะเห็นชนชั้นกลางระดับสูงในชุดเลิศหรูนั่งทานทาปาส (tapas) และดื่มไวน์ราคาแพง           

ทักษิณได้เดินทางไปประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างภาคภูมิใจ และโอ้อวดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค และโฆษณาตัวแบบ ‘ทักษิโณมิกส์’ (Thaksinomics) ให้ประเทศอื่นๆเอาอย่าง        

การเมืองก็ดูจะดำเนินไปได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเวลาเกือบสิบห้าปีที่ไม่มีรัฐประหาร ทำให้ประเทศสามารถสร้างประชาธิปไตยที่แข็งขัน โดยในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาค                 

แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็อยู่ได้ไม่นาน โดยในช่วงต้นปีนี้ (ต้นปี พ.ศ. 2549/ผู้เขียน) ผู้คนนับหมื่นได้มารวมตัวกันบนท้องถนนขับไล่ทักษิณ ระบบการเมืองของไทยได้พังทลายลง การก่อความไม่สงบทางใต้กลายเป็นสงคราม  เศรษฐกิจเริ่มดิ่งเหว  และสถานการณ์มาถึงจุดวิกฤตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เมื่อเกิดการทำในสิ่งที่ย้อนยุค นั่นคือ ทหารทำรัฐประหาร ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2533         

จริงๆแล้ว การเห็นภาพทหารติดอาวุธในชุดพรางเดินลาดตระเวนตามถนนต่างๆในกรุงเทพดูเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะภาพแบบนี้น่าจะเหมาะกับพม่าหรือมอริทาเนียมากกว่าจะเป็นภาพที่เห็นในเมืองที่เต็มไปด้วยศูนย์การค้า ที่เต็มไปด้วยของแบรนด์เนมอย่างวิตตองและชาแนล

แต่ความตกต่ำของประเทศที่มีอนาคตอันสดใสนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่เห็น เพราะตั้งแต่ทักษิณได้รับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544  เขาได้ทำลายสถาบันประชาธิปไตยต่างๆของไทยลงอย่างช้าๆ และนโยบายเศรษฐกิจต่างๆของเขา แม้ว่าจะประสบความสำเร็จตอนเริ่มต้น แต่เขาก็เอาอนาคตของประเทศมาจำนอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือ ใช้เงินอนาคต/ผู้เขียน)  ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเขาจำเป็นที่ต้องระดมการสนับสนุนจากผู้ที่มีหัวประชาธิปไตยในสัปดาห์ที่แล้ว (ช่วงเกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549/ผู้เขียน) ก็มีคนเพียงน้อยนิดที่จะอยู่ข้างเขา

ทักษิณเข้าสู่การเมืองในฐานะเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เขาได้โฆษณาตัวเองในฐานะที่เป็นผู้นำซีอีโอ ที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วเด็ดขาด ภาพลักษณ์ของคนที่ร่ำรวยที่สุดส่งผลให้เขาเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในประเทศที่เคยชินแต่กับการเมืองภายใต้รัฐบาลผสมที่ขับเคลื่อนอะไรได้ช้าและมีแต่ความแตกแยก อีกทั้งเขายังมีนโยบายประชานิยมต่างๆที่จะผันเงินของรัฐไปสู่พื้นที่ในชนบท สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เขาชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และ พ.ศ.2548                   

แต่ทักษิณดูเหมือนจะไม่เคยเข้าใจประชาธิปไตยที่ต้องมีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล เขาไม่เคยเข้าใจว่า เขาไม่สามารถจะทำอะไรก็ได้เหมือนการสั่งการในองค์กรธุรกิจของเขา  ในทางตอนใต้สุดของประเทศ ที่เป็นถิ่นของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ที่มีความไม่พอใจมายาวนานต่อคนพุธที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ทักษิณสั่งยกเลิกองค์กรที่มีไว้เพื่อรับฟังการร้องเรียนของคนในพื้นที่ และเข้าควบรวมอำนาจเหนือสถานการณ์ในภาคใต้ในแบบที่เกือบจะเบ็ดเสร็จ             

ในกรุงเทพ บริษัทของครอบครัวของทักษิณได้ซื้อสถานีโทรทัศน์ที่เสรีที่สุดของประเทศ (ITV ทีวีเสรี/ผู้เขียน)  และไล่ผู้สื่อข่าวที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ออก และใช้สำนักงานปราบปรามทุจริตการฟอกเงินของรัฐบาลเข้าข่มขู่ผู้รายงานข่าวอื่นๆ  และมีการไล่ข้าราชการที่ตั้งคำถามกับนโยบายของเขาออก รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้นำกองทัพที่มีหัวปฏิรูป  และแต่งตั้งคนที่ใกล้ชิดเขาไปลงในตำแหน่งสำคัญๆในองค์กรอิสระต่างๆ ที่จริงๆแล้วควรจะต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระจากรัฐบาล โดยองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540    อีกทั้งยังมีการตั้งข้อกล่าวหาปลุกปั่นยุยงต่อคนที่วิจารณ์เขา และเขาได้ทำลายอำนาจศาลอย่างเปิดเผย   

ขณะเดียวกัน นโยบายเศรษฐกิจต่างๆของเขาก็มักจะถูกออกแบบมาให้เอื้อประโยชน์แก่อาณาจักรธุรกิจโทรคมนาคมของเขา แม้ว่า แรงจูงใจจากระบบการเงินทักษิโณมิกส์จะนำพาให้เศรษฐกิจก้าวกระโดด แต่ก็ทิ้งให้ประเทศต้องจมอยู่กับหนี้สินมหาศาล และล้มเหลวในการสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ที่จะสามารถแข่งขันกับเศรษฐกิจของจีนหรือประเทศอื่นๆในเอเชียได้

ในเดือนมกราคม (พ.ศ. 2549/ผู้เขียน) ครอบครัวของเขาได้ขายหุ้นกิจการโทรคมนาคมให้กับบริษัทสิงคโปร์ในมูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยไม่ได้เสียภาษีเลย ในการศึกษาของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ในปี พ.ศ. 2546 พบว่า แปดในสิบกลุ่มบริษัทในประเทศไทยมีคนของตนอยู่ในคณะรัฐมนตรีของทักษิณที่มีการเชื่อมต่อกับบริษัทของพวกตน

และยิ่งเขามีอำนาจมากขึ้น เขาก็ยิ่งโจมตีศัตรูของเขามากขึ้น เขาโจมตีองค์กรสื่ออิสระที่ยังคงเหลืออยู่   เขาปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงเรียกร้องให้ประนีประนอมในกรณีปัญหาภาคใต้ ที่ความโกรธแค้นได้กลายเป็นความรุนแรงที่ขยายตัวในวงกว้าง  กลับกัน เขาอาจจะแอบปล่อยให้หน่วยล่าสังหารปฏิบัติการในทางใต้  เกิดการหายตัวไปของผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  เพียงสองปีที่ผ่านมา ผู้คนในภาคใต้กว่า 1,200 คนเสียชีวิต ด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ   

การปฏิบัติการกวาดล้างของรัฐบาลในภาคใต้ยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้น  ในตอนค่ำของทุกวัน ในสามจังหวัดภาคใต้  จะรู้สึกเหมือนอิรัคมากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่  ตามสี่แยกหลัก จะมีทหารพร้อมปืนกลหนักนั่งอยู่ในกำบังกระสอบทราย และมีทหารที่หยุดรถและตรวจค้นผู้โดยสาร  ส่วนในเส้นทางที่ไม่ใช่เส้นทางหลัก  ผู้ก่อความไม่สงบก็จะแอบซุ่มยิงตำรวจและวางระเบิดอาคารสถานที่ราชการ

ในที่สุด การกระทำของทักษิณก็เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะรับได้  นายทหารและชนชั้นนำทางการเมืองไม่พอใจกับการโกงและการใช้อำนาจโดยไม่ถูกกฎหมาย (corruption) อย่างเห็นๆของทักษิณ พวกเขาได้กล่าวกับผมว่า กองทัพต้องสูญเสียทหารในภาคใต้โดยไม่มีแผนการใด  และที่เลวร้ายกว่านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯที่เป็นที่เคารพของประเทศ  ได้ทรงมีพระราชดำรัสอย่างอ้อมๆวิจารณ์ทักษิณในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว แต่เขาก็ไม่ฟัง

ทักษิณควรจะให้ความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ที่ได้รับการยกย่องประดุจเทพของประเทศไทย  ด้วยทรงนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาหลายครั้งในหลายทศวรรษที่ผ่านมาแต่ทักษิณดูเหมือนจะไม่ให้ความสนใจพระมหากษัตริย์ และแม้ว่าคนจนยังคงรักทักษิณอยู่ แต่การประท้วงตามท้องถนนได้ปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งเป็นการประท้วงที่ไม่มีความรุนแรงในการชุมนุมประท้วงครั้งหนึ่ง คนกรุงเทพนับหมื่นรวมตัวกันที่ท้องสนามหลวง สวมเสื้อยืดล้อเลียนทักษิณ เต้นไปตามเพลงที่ต่อต้านทักษิณ ตะโกนข้อความต่างๆ และนั่งทานของกินเล่นกัน           

กระนั้น การประท้วงตามท้องถนนอาจจะทำให้กองทัพมีความมั่นใจที่จะเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะหลังจากที่ทักษิณชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนเมษายน (การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549/ผู้เขียน) ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่รัฐประหารที่นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน  ผู้บัญชาการทหารบกและเป็นพันธมิตรกับทางในวัง คณะรัฐประหารใส่สีที่เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ และต่อมา พระมหากษัตริย์ทรงรับรองการเปลี่ยนรัฐบาลของพลเอกสนธิ

หลังเกิดรัฐประหาร เห็นได้ชัดว่า พวกเสรีนิยมที่โดดเด่นของประเทศก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้การทำรัฐประหารมากเท่าไรนัก  แม้ว่าทักษิณจะชนะการเลือกตั้งมาสามครั้ง (พ.ศ. 2544, 2548, 2549/ผู้เขียน) และองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ต่างประณามการทำรัฐประหารของพลเอกสนธิ  อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัยก็กล่าวว่า ‘ในฐานะนัการเมือง เราไม่สนับสนุนรัฐประหารแต่...ทักษิณเป็นต้นเหตุของวิกฤต’

ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานะที่หมิ่นเหม่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง  รัฐบาลทหารสัญญาว่าจะตั้งพลเรือนให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารก็ประกาศกฎอัยการศึกและจับกุมนักเคลื่อนไหวที่พยายามจะประท้วงการทำรัฐประหาร

จากการเอาทักษิณออกไป กองทัพอาจจะได้ผู้นำที่มีแนวโน้มต่อต้านประชาธิปไตย และการทำรัฐประหารก็ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ลงไปแล้ว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้กองทัพเข้ามีมีบทบาทในการเมือง พลเอกสนธิเองก็เคยกล่าวไว้ปีที่แล้วว่า ‘ ปัญหาการเมืองก็ควรแก้ด้วยนักการเมือง’             

และหากมีการเลือกตั้งอีกครั้ง และทักษิณก็น่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมอีก เพราะเขายังเป็นที่นิยมในหมู่คนยากจน  มันก็จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองที่จะดำเนินต่อเนื่องไป เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งมันจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีอนาคตสดใส

    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล: ทุกอย่างต้องมีครั้งแรก แต่...

หนึ่งในปัญหาของการตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ส. 151 ที่นั่ง กับพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. 141 คือ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

‘ชวน-นิพนธ์’ ลงพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้ ขอบคุณประชาชนเลือก ปชป.

‘ชวน-นิพนธ์’ ลงพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้ ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่เลือกประชาธิปัตย์ ยันปชป. จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและสถาบันหลักของชาติ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔๕)

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ”

เพื่อไทย สรุปบทเรียน นัดอบรมผู้สมัครส.ส.ทั้งสอบได้สอบตก หลังพ่ายก้าวไกลยับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัว

กระตุก ’พท.’ ตอน ’ปชป.’ 50 เสียงเป็น ประธานสภา 141 เสียง จะแค่นั่งร้านก้าวไกลหรือ

โบว์-ณัฏฐา บอกถ้า MOU มีแต่นโยบายก้าวไกล แล้ว พท.ไปเซ็น ก็คือการ downgrade บอก ปชป. มี 50 เสียงยังเป็นประธานสภาฯ แล้ว 141 เสียง จะเป็นแค่นั่งร้านหรือ