ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน: เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ กับ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 (ตอนที่ 4: พรรคประชาธิปัตย์ในสายตาของ GlobalSecurity)

 

พรรคประชาธิปัตย์ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่า  “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” โดยมีเชิงอรรถอ้างอิง 4 รายการ

รายการแรกเป็นบทความเรื่อง "Demise of the Democrat Party in Thailand" (มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์) เป็นข้อเขียนของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) เป็นบทความความยาวขนาด 45 บรรทัด เผยแพร่ในบล๊อกโพสต์ (blogpost) ทางอินเตอร์เนทวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 (December 9, 2013 12:47 pm)

ในบทความนี้  คุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิคได้กล่าวว่าเมื่อชนชั้นกลางและคนชนชั้นแรงงานในชนบทมีพลังมากขึ้น คนประชาธิปัตย์ก็เริ่มเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีความคิดแบบชนชั้นนำไม่ฟังเสียงประชาชนทั่วไปมากขึ้นและเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยมากขึ้น  อีกทั้งในคราวที่ ส.ส. ประชาธิปัตย์ทุกคนประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และพากันยกทีมลาออกจากการ ส.ส. และไปลงถนนร่วมการประท้วงที่นำไปสู่สภาวะอนาธิปไตยเพื่อล้มรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ได้มาถึงจุดตกต่ำ  ถือเป็นการกระทำที่ต่อต้านสถาบันประชาธิปไตยและทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ในความเห็นของคุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิค การกระทำดังกล่าวของคนประชาธิปัตย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ถือว่าเป็นจุดจบของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนเวลากลับไปในสมัยทักษิณ ชินวัตร เขาก็เขียนบทความชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ทำลายประชาธิปไตย ผลเสียของนโยบายประชานิยม การใช้อำนาจเกินขอบเขตและผลประโยชน์ทับซ้อน การซื้อขายหุ้นครอบครัวตัวเองโดยไม่เสียภาษี ซึ่งโดยรวม คุณเคอร์แลนต์ซิคใช้คำว่า corruption นั่นคือ เขาไม่ได้เห็นด้วยกับพฤติกรรมทางการเมืองของทั้งทักษิณและไม่เห็นด้วยกับวิธีการต่อสู้ของคนประชาธิปัตย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556   เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ทำลายประชาธิปไตยด้วยกันทั้งคู่               

ต่อมาคือรายการอ้างอิงรายการที่สอง “Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". GlobalSecurity.org. (เมษายน พ.ศ. 2555 (https://www.globalsecurity.org/military/world/thailand/political-party-dp.htm) GlobalSecurity ได้กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ไว้ว่า 

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489  เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นพรรคการเมืองที่ถือว่ามีความมั่นคง  ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับพรรคการเมืองไทยโดยทั่วไป เพราะพรรคการเมืองไทยมักจะรวมตัวกันอย่างง่ายๆและมีอายุสั้น อย่างเช่นในระหว่าง พ.ศ. 2522-2539 มีพรรคการเมืองไทยถึงสี่สิบสามลงแข่งขันในการเลือกตั้ง  และในจำนวนนั้น มีเพียง 10 พรรคเท่านั้นที่ยังคงอยู่หลังจากการเลือกตั้ง  ต่อมาในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544  มีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งถึงกว่าสามสิบพรรค  ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว พรรคการเมืองไทยจะแข่งขันในการเลือกตั้งไม่ถึง 3 ครั้ง หลังจากนั้นก็ปิดตัวไป  ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเกือบครึ่ง (20 พรรค) ลงแข่งขันในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว  แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

พรรคประชาธิปัตย์ทุ่มเททรัพยากรต่างๆในการพัฒนาสาขาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมากกว่าพรรคการเมืองอื่นในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549 พรรคประชาธิปัตย์มีสาขาประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ พรรคใหญ่อื่นๆ เช่น ชาติไทย ซึ่งอยู่มา 30 ปี มี 14 สาขา ขณะที่พรรคไทยรักไทย (2541-2549) มี 10 สาขา

ในช่วงที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลครั้งสุดท้าย (ตั้งแต่ปี 2540-2544)  ทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์ที่มีความรู้ความสามารถได้ช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินในเอเชีย  ขณะเดียวกัน คนไทยบางคนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีลักษณะที่เคร่งครัดตายตัวไปเกินไป ทั้งยังมีลักษณะของระบบราชการและมีวิธิคดแบบชนชั้นนำ (elite) ด้วย                

สำหรับจุดยืนของพรรคประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2530 ถ้าพิจารณาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสี่พรรค พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าค่อนข้างเป็นเสรีนิยม แม้ว่าในปี พ.ศ. 2489  แม้ว่าประชาธิปัตย์ในตอนเริ่มต้นจะอยู่ในฐานะที่เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ที่เป็น monarchist party   ม.ร.ว.  เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2489 และในปี พ.ศ. 2519 และเป็นผู้นำพรรคตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปี พ.ศ. 2522    (เน้นโดยผู้เขียน และผู้เขียนจะได้กล่าวถึงความหมายของ monarchist และ royalist ต่อไปในภายหลัง)                     

ในปี พ.ศ. 2517 ประชาธิปัตย์ประสบความแตกแยกครั้งใหญ่และสูญเสียบุคคลสำคัญไปบางส่วน รวมทั้ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ น้องชายของ ม.ร.ว. เสนีย์ที่ก่อตั้งพรรคกิจสังคมในปีนั้น               

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 ประชาธิปัตย์ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ แต่กลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี พ.ศ. 2526

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พรรคนี้ต่อต้านการนำทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างต่อเนื่อง และพยายามอย่างแข็งขันที่จะขยายฐานการสนับสนุนในทุกกลุ่มสังคมและภูมิภาคทางภูมิศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะหลังเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 พรรคถูกกดดันจากความขัดแย้งภายใน กลุ่มผู้นำของพรรค  พิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมภายใต้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้รับการสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งในการประลองกำลังระหว่างกลุ่มก้อนภายในพรรคในเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 หลังจากนั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการแทนวีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งวีระได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่นำโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ นักธุรกิจกรุงเทพผู้มั่งคั่ง

หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ภายใต้การนำของบัญญัติ บรรทัดฐาน และประดิษฐ์ ภัคธราประสิทธิ์ เลขาธิการ ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะยังคงเป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้าน

ประชาธิปัตย์มีรากฐานที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยสมัยใหม่ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) มีสมาชิกลงทะเบียน 3.8 ล้านคน และมีสมาชิกสภา 128 คน มีความเข้มแข็งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคใต้

ในระหว่าง พ.ศ. 2544-2548  ประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลผสมข้างมากที่นำโดยพรรคไทยรักไทยในสภาผู้แทนราษฎรขัดขวางไม่ให้ประชาธิปัตย์สามารถอภิปราย ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีได้โดยตรงและรวมทั้งขัดขวางการเปิดอภิปรายไม่วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาลด้วย       

แม้ว่าประชาธิปัตย์จะพยายามหาวิธีการการต่างๆในการรับมือกับทักษิณและพรรคไทยรักไทย แต่ดูเหมือนว่าประชาธิปัตย์จะไม่สามารถทำอะไรได้ และดูเป็นฝ่ายค้านที่ไร้น้ำยา                 

ในปี พ.ศ. 2546 ประชาธิปัตย์กลับแตกแยกและขยายวงกว้างขึ้น  เมื่อ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ขัดแย้งกับชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคในขณะนั้นในประเด็นผู้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรค ฝ่ายพล.ต. สนั่นชนะ สามารถทำให้บัญญัติ บรรทัดฐาน นักการเมืองภาคใต้ผู้คร่ำหวอดได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ชวนสนับสนุนต้องถอยห่างจากศูนย์กลางอำนาจของพรรค

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 มีรายงานว่า จากการที่พล.ต. สนั่นไม่พอใจที่ไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือบัญญัติได้อย่างที่ต้องการ เขาได้นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนออกจากพรรค และก่อตั้งพรรคมหาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นจากพรรคราษฎรเดิมที่ของวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีชื่อฉาวโฉ่ (a notoriously "dirty" politician)         

แม้ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะสามารถยึดที่นั่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ในภาคใต้ได้เหมือนเดิม และไม่กี่ที่นั่งในเขตเลือกตั้งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การนำของบัญญัติ ประชาธิปัตย์ก็ไม่มีโอกาสที่จะขยายฐานหรือเอาชนะพรรคไทยรักไทยในเขตเลือกตั้งทั่วไปได้

โดย GlobalSecurity ได้กล่าวถึงบัญญัติ บรรทัดฐานว่าเป็นผู้นำที่  stodgy and uninspired ! นั่นคือ ทื่อๆ ไม่แหลมคม

(ยังมีต่อ)                                    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล: ทุกอย่างต้องมีครั้งแรก แต่...

หนึ่งในปัญหาของการตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ส. 151 ที่นั่ง กับพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. 141 คือ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

‘ชวน-นิพนธ์’ ลงพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้ ขอบคุณประชาชนเลือก ปชป.

‘ชวน-นิพนธ์’ ลงพื้นที่3จังหวัดชายแดนใต้ ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่เลือกประชาธิปัตย์ ยันปชป. จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและสถาบันหลักของชาติ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔๕)

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ”

เพื่อไทย สรุปบทเรียน นัดอบรมผู้สมัครส.ส.ทั้งสอบได้สอบตก หลังพ่ายก้าวไกลยับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัว

กระตุก ’พท.’ ตอน ’ปชป.’ 50 เสียงเป็น ประธานสภา 141 เสียง จะแค่นั่งร้านก้าวไกลหรือ

โบว์-ณัฏฐา บอกถ้า MOU มีแต่นโยบายก้าวไกล แล้ว พท.ไปเซ็น ก็คือการ downgrade บอก ปชป. มี 50 เสียงยังเป็นประธานสภาฯ แล้ว 141 เสียง จะเป็นแค่นั่งร้านหรือ