การมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. 2498 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นเรื่องดีที่มีการส่งเสริมให้นักการเมืองรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความเห็นพ้องในอุดมการณ์ของพรรค
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกกลับส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของนักการเมืองเป็นกลุ่มก้อนภายใต้ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นเอกบุคคลหรือคณะบุคคล ทำให้ผู้มีอำนาจหรือคณะบุคคลสามารถควบคุมนักการเมืองต่างๆที่มาเข้าสังกัดได้ง่ายขึ้น โดยเน้นไปที่การตอบแทนผลประโยชน์ส่วนตัวกันมากกว่าจะเป็นเรื่องมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน
และเมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองมีอันต้องลี้ภัยไปอย่างในกรณีของจอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ พรรคเสรีมนังคศิลาก็เสื่อมสลาย นักการเมืองในสังกัดก็แยกย้ายกันไปเข้าพรรคการเมืองอื่นหรือเข้าหาผู้มีอำนาจทางการเมืองอื่น หรืออย่างในช่วงก่อนหน้าการเกิดรัฐประหาร 15 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดวิกฤตการเมืองและการเสื่อมความนิยมต่อพรรคเสรีมนังคศิลา จะพบการแตกตัวออกจากพรรคไปก่อตั้งพรรคใหม่โดยทันที อันได้แก่ การแตกตัวของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เคยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาไปตั้งพรรคใหม่ที่ชื่อว่า พรรคสหภูมิ ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นคู่แข่งกับจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น และสามารถที่จะพลิกหันกลับมาทำลายพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่พวกตนเคยสังกัดได้ทันที
และหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า พรรคสหภูมิ ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนทั้งสิ้น 45 ที่นั่งในจำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 160 ที่นั่ง จะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ก็ยังไม่เกินกึ่งหนึ่งไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จอมพลสฤษดิ์จึง “คิดปรับปรุงพรรคสหภูมิเสียใหม่ โดยรวมเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาเดิมมาร่วมกับพรรคสหภูมิ แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า ‘พรรคชาติสังคม’ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค”
การจดทะเบียนจัดตั้งพรรคชาติสังคม ที่เกิดขึ้นจากการยุบรวมเอาสมาชิกพรรคสหภูมิจำนวน 45 คนและสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพียง 4 คนหลังจากที่ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่เป็นการเลือกตั้งสกปรก พรรคเสรีมนังคศิลาได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 85 ที่นั่ง ขึ้นมาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ถือเป็นเรื่องผิดวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งที่ต้องการสะท้อนเจตจำนงและความต้องการเลือกสมาชิกพรรคการเมืองใดที่ตนเห็นชอบ เพราะประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลาที่เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 แต่จู่ๆ หลังการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลายอมยุบพรรคและหันไปเป็นสมาชิกพรรคชาติสังคมที่ประชาชนไม่รู้จักและไม่เคยเกิดขึ้นมาในขณะที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
หนึ่งในผู้มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความผิดประหลาดนี้ คือ ตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองพรรค และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่อยู่เบื้องหลังพรรคสหภูมิและอยู่เบื้องหลังการยุบรวมและตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นมา
ต่อมาคือ ประชาชนที่เลือกพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลาแล้วกลับนิ่งเฉยยอมรับการยุบไปรวมเป็นพรรคการเมืองใหม่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังที่ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ได้ให้ข้อสังเกตไว้ในปี พ.ศ. 2511 ว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า สมาชิกของพรรคชาติสังคมนั้นส่วนใหญ่ หาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในนามของพรรคมาก่อนไม่ หากได้รับเลือกตั้งมาในนามของพรรคและนโยบายต่างๆ กัน อาทิ พรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลา ภายหลังที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็เข้ามาร่วมพรรคกันตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจ”
และการยอมยุบพรรคตัวเองเพื่อไปร่วมกับพรรคอื่นหรือพรรคใหม่ของผู้มีอำนาจก็เป็นไปเพื่อ หวังผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี ดังที่ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ก็ได้กล่าวไว้อีกด้วยว่า แม้มายุบรวมเป็นพรรคเดียวกันแล้ว “แต่ต่างฝ่ายต่างก็ยังคงยึดถือว่าตนเป็นพรรคนั้นพรรคนี้มาก่อน มีการแบ่งแยกกันออกเป็นพวกเป็นเหล่าเช่นในคราวตั้งคณะรัฐมนตรี ก็มีการกำหนดโควตากันว่า ควรเป็นสมาชิกพรรคสหภูมิเท่านั้น อดีตเสรีมนังคศิลาเท่านี้”
และแม้นว่าจะมาร่วมกันเป็นพรรคการเมืองใหม่แล้ว แต่ก็ยังคงดำรงความขัดแย้งที่เคยมีอยู่ด้วย นั่นคือ “การที่สมาชิกพรรคสหภูมิ และอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาไม่ค่อยจะลงรอยกันนี้ เนื่องมาจากว่าสมาชิกพรรคสหภูมิมีความไม่พอใจที่รวมเอาอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลามาร่วมกับพรรคสหภูมิ เพราะตอนที่หาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกพรรคสหภูมิได้โจมตีพรรคเสรีมนังคศิลาอย่างรุนแรง เมื่อรวมกันเช่นนี้จะทำให้ราษฎรขาดความเชื่อถือได้”
และเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็ทำให้ความขัดแย้งภายในพรรคขยายตัวลุกลามไปโดยเฉพาะเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ป่วยต้องไปรับการรักษาตัวในต่างประเทศ “ก็ได้เกิดความสับสนอลเวงภายในพรรค ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขัดแย้งกันภายในพรรคระหว่างสมาชิกพรรคสหภูมิกับอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา” อีกทั้ง “บรรดาลูกพรรคทั้งหลายต่างก็เรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเคยได้รับความสะดวกสบายในเรื่องเงินทองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม พอมาอยู่ในพรรคชาติสังคมก็ต้องการได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเงินทองบ้าง เมื่อทางพรรคไม่อาจสนองความต้องการได้ ก็มีปฏิกิริยาในทำนองไม่พอใจ ถึงกับคิดจะปลีกตัวไปรวมกับพรรคการเมืองใหม่ พรรคประชาราษฎร์”
ดังนั้น จากที่กล่าวมาข้างต้น เราได้ประจักษ์ถึงปรากฎการณ์ทางการเมืองของการย้ายพรรค, ยุบพรรค รวมพรรคที่เกิดขึ้นชัดเจนเป็นครั้งแรกภายใต้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. 2498 และได้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) ของการยุบ ย้ายพรรค รวม ตั้งพรรคตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและกลุ่มก๊วน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและเจตจำนงของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ตนและพวกตนได้เข้ามามีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนอยากชวนให้พิจารณาคำกล่าวของ เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ ในปี พ.ศ. 2508 ต่อปรากฎการณ์ของพรรคการเมืองในการเมืองไทยขณะนั้น เดชชาติ ได้กล่าวว่า
“…พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรค นอกจากนั้นเป็นการรวมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นกำลังที่จะไปต่อรองกับรัฐบาลในการขอผลประโยชน์ทางการเมือง พรรคการเมืองไทยมีสมาชิกจำนวนจำกัด และไม่มีประชาชนเข้าเป็นสมาชิกด้วยตามความหมายของพรรคการเมืองที่แท้จริง ผู้แทนราษฎรซึ่งเข้ามารวมกันเป็นพรรคการเมืองก็ไม่ได้หาเสียงในนามของพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นการหาเสียงส่วนตัวของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อได้รับการเลือกตั้งก็มารวมกันเข้าเป็นกลุ่มบุคคล เพื่อจะเจรจาต่อรองผู้มีอำนาจว่า ผลประโยชน์ต่างๆ ในทางการเมืองควรจะแบ่งสันปันส่วนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความอิดหนาระดาใจเป็นอย่างมาก”
และเมื่อความยุ่งยากภายในพรรคผสมกับปัญหาภายนอกพรรคที่เกิดจากพรรคจนเกิดความสับสนวุ่นวายสร้างความอิดหนาระอาใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ในที่สุดผู้มีอำนาจทางทหารก็ใช้เป็นข้ออ้างก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ และมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่โดยการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาการเมืองที่ผ่านมา และวงจรอุบาทว์ของพรรคการเมืองไทย (vicious cycle) ที่เกิดขึ้นหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ตามมานี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดวงจรทางการเมืองที่ต่อมาในปี พ.ศ. 2527
ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้บัญญัติศัพท์คำว่า “วงจรอุบาทว์ (vicious cycle)” เพื่ออธิบายลักษณะเด่นของปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่อยู่ในวังวนของการเลือกตั้ง-ซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้ง-ทุจริตคอร์รัปชัน-วิกฤตทางการเมือง-รัฐประหาร-รัฐธรรมนูญใหม่-การเลือกตั้ง
มีข้อสังเกตว่า การทำรัฐประหารสองครั้งหลัง คือ พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 จะยังคงสามารถอธิบายภายใต้ “วงจรอุบาทว์” ที่อาจารย์ชัยอนันต์ได้กล่าวไว้ในปี พ.ศ. 2527 ได้หรือไม่ ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มชัด 'ยธ.-ราชทัณฑ์' ออกอาการ 'ยิ่งลักษณ์' กลับปีหน้า-คุมขังนอกคุก?
ออกอาการ 'ยธ.-ราชทัณฑ์' อ้ำอึ้ง "ยิ่งลักษณ์" เข้าเงื่อนไขคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ อ้างอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น สามารถปรับแก้อายุโทษจากไม่เกิน 4 ปีได้ ยอมรับเป็นไปได้ประกาศใช้ระเบียบราชทัณฑ์ฯใหม่ทันไตรมาสแรกของปี 2568 สอดรับพอดีกับคำพูดของนักโทษเทวดา ที่ว่าน้องสาวจะกลับบ้านสงกรานต์ปีหน้า
สส.ปชน.หวด 'นายกฯอิ๊งค์' เข้าสภาฯตอบกระทู้ด้วยตัวเอง!
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมเปิดสมัยประชุมสภา
รัฐบาลพร้อมรับ 4 คนไทยกลับบ้าน เช็กสุขภาพ-เยียวยาจิตใจทันที
นายกฯ รับรายงานพร้อมรับ 4 คนไทยกลับบ้าน ด้าน สธ. เตรียมทีมดูแลสุขภาพกาย-จิตใจ ทันทีที่เหยียบแผ่นดินไทย
'เหวง' อึ่ม! เพิ่มภาษีแวต 15% ทำเพื่อใคร คนยากจนตายสถานเดียว
นพ.เหวง โตจิราการ อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแกนนำคนเสื้อแดง โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ดร.เสรี เปิด 4 พฤติกรรมของบุคคลที่ 'สลิ่ม' เกลียดเข้าไส้!
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าบุคคลที่เราเชื่อว่าสลิ่มหลายคนไม่ชอบหรือเกลียดอย่างรุนแรง
จับไต๋! ขึ้น VAT 15% ไอเดีย 'ทักษิณ' เย้ย 'นายกฯอิ๊งค์' อ้ำอึ้งตลอด
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ขึ้นภาษี VAT แนวคิดทักษิณ?