ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 35: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม

จากตอนที่แล้ว ที่ได้ยกรายงานสถานทูตต่างประเทศที่มีต่อพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยมีสาระสำคัญว่า ทางฝ่ายฝรั่งเศสเห็นว่า การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้นถือเป็น “การรัฐประหาร” ส่วนทางฝ่ายอังกฤษเห็นว่า ไม่ใช่ และเห็นด้วยกับ “การยุบสภาฯ” ครั้งนั้น นั่นคือ ทางอังกฤษเห็นว่าเป็นการยุบสภาฯ   ส่วนในแถลงการณ์ของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและในพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า ปิดประชุมสภาฯ  และผู้เขียนได้ทิ้งคำถามท้ายบทความไว้ว่า “ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวข้างต้นไปแล้ว ท่านเห็นว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นการทำรัฐประหารตามความเห็นของพันโทรูซ์ หรือไม่เป็นตามความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษ ?”             

------------------

ต่อประเด็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นี้  ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้ศึกษาไว้ใน “แนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2520) ได้กล่าวไว้ว่า

“การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นเหตุให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ในแง่ที่ว่าจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการละเมิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  จริงอยู่ แม้ในรัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่าถ้าคิดในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากเกิดกรณีที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ไว้ได้ รัฐบาลอาจยุบสภาแล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดามิได้เป็นการกระทำที่จะละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด”

--------------

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯมิไม่ถือว่าเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นการทำรัฐประหาร เพราะเป็นไปตามมาตรา 29 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีก็เป็นไปตามระบบรัฐสภาที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการปรับคณะรัฐมนตรี

ที่เหลือที่จะอาจจะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญและเข้าข่ายการทำรัฐประหาร (เงียบ)  

ประเด็นที่เหลือ คือ การกำหนดให้รอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา  ซึ่งข้อความในข้อ 5 ในพระราชกฤษฎีกาฯจะสัมพันธ์กับหัวข้อและข้อความในแถลงการณ์ของรัฐบาล วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยหัวข้อคือ  “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลในการปิดสภาผู้แทนราษฎรและรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา”   โดยความในข้อ 5 กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป”

ส่วนข้อความในแถลงการณ์ที่มีใจความเดียวกัน ได้แก่ ข้อความในย่อหน้าแรก: “รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา”                                                    และ ข้อความในย่อหน้าสุดท้าย:  “รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า  พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

ข้อความ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราว” นี้เอง ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในวลีที่ว่า  “งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา”

การงดหรือรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ว่านี้ คือ มาตราอะไร ?

คำตอบ คือ มาตรา 6 และมาตรา 36

มาตรา 6 มีความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”       

มาตรา 36 มีความว่า “บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”

สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต้องกำหนดให้มีการรอการใช้มาตรา 6 หรืองดใช้มาตรา 6 ชั่วคราว  เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯขัดกับมาตรา 6

เพราะความในข้อ 4 ในพระราชกฤษฎีกาฯ กล่าวว่า “ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี”  ซึ่งขัดกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฯที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”  และมาตรา 36 ที่กำหนดไว้ว่า

บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร”

พูดง่ายๆคือ นัยสำคัญของความในข้อ 4 และข้อ 5 คือ การดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารเป็นการชั่วคราวนั่นเอง

แต่การประกาศดึงอำนาจนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหารนี้ มิได้กระทำในขณะที่ยังมีการเปิดประชุมสภาฯอยู่ แต่กระทำหลังจากที่ปิดประชุมสภาฯแล้วหนึ่งวัน และการปิดประชุมสภาฯก็เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรา 29 ที่กำหนดไว้ว่า

“สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ท่านว่ามีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวัน จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้”

การประชุมสภาฯสมัยดังกล่าวได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกินเก้าสิบวันแล้วด้วย   นั่นคือ ประชุมสภาฯครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จนถึงวันปิดประชุมคือวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476  การปิดประชุมสภาฯโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมิได้เป็นการปิดประชุมก่อนระยะเวลาที่กำหนด

การตราพระราชกฤษฎีกาดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า  ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว”  นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ?  ซึ่งชั่วคราวที่ว่านี้ก็คือในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476  และมีอำนาจในการ “ดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร” หรือไม่ ?

ในทางนิติศาสตร์ การดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475   ได้กำหนดไว้แล้วในมาตรา 29 ความว่า

“ถ้ามีการฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการราษฎร (ต่อมาใช้คำว่า คณะรัฐมนตรี) จะเรียกประชุมสภาราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และคณะกรรมการราษฎรเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมาย เพื่อให้เหมาะแก่การฉุกเฉินนั้น ๆ ก็ทำได้ แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นขึ้นให้สภารับรอง”

ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมนันท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนได้กล่าวไว้ว่า

“พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยและเป็นรัฐธรรมนูญที่เริ่มวางหลักการในการตราพระราชกำหนดในความหมายปัจจุบันเอาไว้ โดยกำหนดให้การ ‘ออกกฎหมาย’ พิเศษต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ 

ก) เกิดกรณีมีการฉุกเฉินเกิดขึ้น                                   

ข) คณะกรรมการราษฎรไม่สามารถเรียกประชุมสภาราษฎรได้ทันท่วงทีได้ และ

ค) คณะกรรมการราษฎรเห็นสมควรจะต้องออกกฎหมายเพื่อให้เหมาะกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

เมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ คณะกรรมการราษฎรซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถออกกฎหมาย (ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎร/ผู้เขียน) เพื่อการฉุกเฉินนั้นได้  แต่จะต้องรีบนำกฎหมายนั้นให้สภารับรอง                                                                                                  อย่างไรก็ดี กฎหมายเพื่อการฉุกเฉินตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมี ‘ลักษณะ’ เป็นพระราชกำหนดตามความหมายปัจจุบัน แต่ก็มิได้มีชื่อเรียกว่าพระราชกำหนดแต่อย่างใด” [1]

ต่อมา  รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ก็ได้มีการบัญญัติความในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 29 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ไว้ในมาตรา 52 ความว่า

“ในเหตุฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ท่านให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภาไม่อนุมัติไซร้ พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

คำอนุมัติและไม่อนุมัติของสภาที่กล่าวนี้ ท่านว่า ให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ”

ต่อมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475    ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมนันท์ได้อธิบายไว้ว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีการบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ในการตราพระราชกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ และมีความจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมาย พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ตรงที่ได้มีการกำหนดให้นำพระราชกำหนดกลับมาเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติและได้มีการบัญญัติถึงผลของการอนุมัติและไม่อนุมัติพระราชกำหนดเอาไว้ด้วย [2]

ดังนั้น ถ้ากลับมาที่คำถามข้างต้นที่ว่า “ผู้รับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิบสี่คน อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่กราบบังคมทูลฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ มีอำนาจที่จะให้มีการ “รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา…เป็นการชั่วคราว”  นั่นคือ รอการใช้มาตรา 6 เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ?  ซึ่งชั่วคราวที่ว่านี้ก็คือ 81 วัน นั่นคือ ระหว่างช่วงที่มีการปิดประชุมสภาฯระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 (เพราะในตอนท้ายรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้กำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญไว้แล้วในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476)    และมีอำนาจในการ “ดึงอำนาจนิติบัญญัติในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯมาไว้ที่ฝ่ายบริหาร” หรือไม่ ?

คำตอบตามหลักนิติศาสตร์ที่ปรากฏในมาตรา 29 ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และมาตรา 52 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  และคำอธิบายของศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมนันท์ คือ  คณะกรรมการราษฎร/คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารสามารถดึงอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่ฝ่ายบริหารในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯ/ไม่สามารถเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันท่วงทีได้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน

คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือเหตุฉุกเฉิน ? และทำไมไม่สามารถเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันท่วงที ?

ต่อกรณีที่เป็นเหตุฉุกเฉิน รัฐบาลได้แถลงไว้ดังนี้

รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบเพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลอันสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา        

ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกแยกกันเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถที่จะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสม์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม  และเป็นที่เห็นได้ โดยแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร  และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

ในคณะรัฐมนตรีซึ่งมีรัฐมนตรีถึง 20 คน จะหวังให้มีความเห็นเหมือนกันไปทุกสิ่งทุกอย่างเสมอไปนั้นไม่ได้ ก็จริงอยู่  แต่ว่าถ้ารัฐบาลจักดำรงอยู่ในความสามารถบริหารราชการแผ่นดินโดยเรียบร้อยแล้ว  เป็นความจำเป็นยิ่งที่รัฐมนตรีทุกคนจักต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นไปในทางเดียวกันในนโยบายอันสำคัญๆ  ความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีในเวลานี้เป็นภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้  ไม่ว่าจะเป็นอยู่หรือจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองใด และไม่ว่าจะมีรูปรัฐบาลเป็นอย่างไร

สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะได้มีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้ หาควรไม่ที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีอยู่ใช้อยู่ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่าไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากคนมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี     

ความแตกต่างกันในสภา ซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้ เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนแก่ใจประชาชนทั่วไป

ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมือง และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่

รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า  พระราชกฤษฎีกานี้ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตรา และเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476”

คำถามที่ตามมาคือ ตามที่รัฐบาลแถลงการณ์มานั้นถือได้ว่าเป็น “เหตุฉุกเฉิน” หรือไม่ ? 

การตอบคำถามนี้คงต้องอาศัยหลักรัฐศาสตร์ในการตอบ เพราะถ้าใช้ตามหลักนิติศาสตร์ ข้อความในมาตรา 29 และมาตรา 52 กล่าวเพียงว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น มิได้วางเกณฑ์ไว้ว่า ในสถานการณ์ใด เงื่อนไขอะไรถึงจะเข้าข่ายเป็นเหตุฉุกเฉิน เมื่อรัฐบาลพิจารณาว่า “…ความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีในเวลานี้เป็นภาวะอันแสนสุดจะทนทานได้  ไม่ว่าจะเป็นอยู่หรือจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองใด และไม่ว่าจะมีรูปรัฐบาลเป็นอย่างไร” และ “สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะได้มีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้ หาควรไม่ที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีอยู่ใช้อยู่ประดุจเป็นการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่าไม่ได้ทำหรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากคนมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี

ความแตกต่างกันในสภา ซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติกับคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้ เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนแก่ใจประชาชนทั่วไป” และ “ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุดไม่ว่าในบ้านเมือง และโดยคติเช่นนั้นเท่านั้นที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่

คำถามคือ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ?  หากจริง จะถือว่าเป็นเหตุฉุกเฉินได้หรือไม่ ?

ถ้าเป็นเหตุฉุกเฉินจริง ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร แต่ถ้าไม่ ก็ถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


[1] นันทวัฒน์ บรมนันท์, รายงานการวิจัยเรื่อง “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219”, เสนอต่อ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมษายน 2549, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: บริษัท พี. เพรส จำกัด: 2549), หน้า 14-15.

[2] นันทวัฒน์ บรมนันท์, รายงานการวิจัยเรื่อง “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนดที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219”, เสนอต่อ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมษายน 2549, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: บริษัท พี. เพรส จำกัด: 2549), หน้า 15-16.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 28)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ประธานสส.ปชป.เรียกร้อง ‘เชาว์’ หยุดปั่นกระแส สร้างความแตกแยกในพรรคได้แล้ว

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธาน สส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่า

อดีตสส.ปชป. เจ็บปวด สส.สาวพรรคส้ม จวกประชาธิปัตย์ได้แสบถึงทรวง!

ถ้าใครได้ติดตามการประชุมรัฐสภา และได้ฟังการอภิปรายของของคุณลิซ่า นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายในฐานะที่เป็นคนใต้คนหนึ่ง เนื้อหาการอภิปรายตอน