รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงเหยื่อใน “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 13 ที่มีชื่อว่า “ผู้รับกรรม” ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดต่อจากตอนที่แล้ว ดังต่อไปนี้
“พ.ต. หลวงไววิทยาศร
…..การแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลพิเศษ จะมีหลักฐานยืนยันด้วยความจริงเพียงไร เช่น ในกรณี พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล ยืนยันหนังสือเดินทางไปประเทศพม่าว่าระหว่างที่ถูกกล่าวหาปองภัยหมายชีวิตหลวงพิบูลสงครามนั้น ตนเองกำลังอยู่ในเมืองพม่า ซึ่งเป็นพยานหักล้างข้อกล่าวหาได้สิ้นเชิง ก็หาได้รับความยุติธรรมไม่ เช่นเดียวกัน พ.ต. หลวงไววิทยาศร มิได้รับความเที่ยงธรรมในทุกกรณี เขาถูกตัดสินเมื่อบ่ายวันที่ 21 พฤศจิกายน 2482 ให้ประหารชีวิต ร่วมกับจำเลยอื่นหลายคน
ถ้าจะมีการลงโทษที่หนักกว่าการประหารชีวิตแล้ว พ.ต. หลวงไววิทยาศรก็คงมิพ้น
นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พ.ต. หลวงไววิทยาศรก็เตรียมตัวเตรียมใจที่จะก้าวเดินไปสู่หลักประหารด้วยน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวเยี่ยงชายชาติทหาร แม้ตนเองจะมั่นใจว่ามิได้กระทำผิดตามกล่าวหา มิได้ปรับทุกข์ปรับร้อนให้ใครฟังหรือหวังผลอันใด
2 ธันวาคม 2482 เช้าตรู่ พ.ต. หลวงไววิทยาศรถูกนำตัวไปแดนประหารพร้อมเพื่อนตายอีกสามคน คือ พ.ต. ขุนนามนฤนาท ร.อ. จรัส สุนทรภักดี และ ร.ท. แสง วัณณศิริ
กำลังใจของ พ.ต. หลวงไววิทยาศร ดีเสมอต้นเสมอปลาย กล้าแข็ง เต็มไปด้วยความมั่นคงแห่งสติทั้งสี่ เพื่อนตายตะโกนลามิตรสหายด้วยน้ำเสียงปกติ
พ.ต. หลวงไววิทยาศร ถามเพื่อนว่าตายแล้วจะขออธิษฐานไปเกิด ณ ประเทศใด
พ.ต. ขุนนามนฤนาทตอบว่า ‘อเมริกา !’
ข้าพเจ้าขออนุญาต ร.ท. พายัพ โรจนวิภาต ในการที่ขอตัดทอนบทเขียนของท่านใน ‘ยุคทมิฬ’ ไว้ ณ ที่นี้
คนเราเมื่อใกล้จะตายรู้กำหนดเวลาสิ้นลมปราณ จะพูดความจริงอันเกิดจากจิตใจโดยแท้ฝากไว้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์หรือความเลวร้ายของตน คำพูดของคนใกล้จะสิ้นชีพเหล่านี้เป็นที่เชื่อถือได้ และถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้ง เราจะทราบถึงรูปคดี ซึ่งดำเนินมา เป็นการใส่ร้าย ป้ายสี หรือเท็จจริงประการใด อันเป็นบทเรียนในทางประวัติศาสตร์ของอนุชนสมัยต่อไป
พ.ท. หลวงมหิทโยธีได้กล่าวว่า
‘วันนี้ เราพูดอะไรไม่ได้ แต่วันหนึ่งกระดูกของเราจะร้องได้ !’
พ.ท. หลวงมหิทโยธี พูดกับ พล. ท. พระยาเทพหัสดินว่า
‘เห็นจะเป็นพรุ่งนี้ เขาคงมาเอาตัวผมไป ไหนๆจะตายแล้ว ผมอยากจะฝากความจริงไว้ว่า ครั้งนี้ ผมไม่รู้ว่าได้ทำอะไรผิด....ขอกราบลาคุณครูด้วย’
คำพูดซื่อๆ และเศร้านี้ กินใจแสลงใจเพียงไร !
พล.ท. พระยาเทพหัสดิน เขียนไว้ว่า
‘ทำไมคนอย่างข้าพเจ้านี้ จึงเข้าไปติดคุกฐานขบถ...เพราะความจริง ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นขบถ..’
‘....ข้าพเจ้าไม่เคยได้ระแวงไปว่า เขาจะปั้นร้ายใส่ความข้าพเจ้าได้ในเรื่องคอขาดบาดตาย ซึ่งไม่มีความจริงเช่นนี้’
‘ข้าพเจ้ารับว่า ข้าพเจ้าเขลาไปมาก เขลาเพราะไม่เคยรู้จักลิทธิเผด็จการและ ‘เกสตาโป’ ซึ่งถือหลักว่า ‘เมื่อท่านไม่เป็นพวกของฉัน ท่านก็เป็นศัตรูของฉัน...’”
‘หลังจากการพิพากษาคดีพวกข้าพเจ้าแล้ว ได้มีการให้ยศให้ตำแหน่งสูง แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มากมายเพียงใด ย่อมเป็นที่ทราบชัดกันอยู่....’
‘กูไม่เคยคิดว่า มันจะเอากันรุนแรงถึงเช่นนี้ !’
ร.ท. ณ. เณร พูดกับพัศดีมิ่งว่า
ตามอาชญา จะผิดหรือไม่ผิด จริง ไม่จริง อีกเรื่องหนึ่ง ทหารต้องไม่ชิงฆ่าตัวตายใจเสาะ !’”
---------------
ใน ‘บทส่งท้าย’ ของหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ได้กล่าวว่า
“บทส่งท้าย
เริ่มต้นที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และจำเป็นต้องมาจบ (เพียงครึ่งหนึ่ง) ที่บางขวาง
เผด็จการ อำนาจ และความตาย !
เราได้รับบทเรียน ความรู้สึกอย่างไรบ้าง ในเนื้อแท้เหล่านั้น ?
ความรักชาติด้วยบริสุทธิ์ใจ ไม่เห็นแก่ตน รักชาติเพื่อตอบแทนบุญคุณชาติ หรือรักชาติ เพื่อกอบโดยเงินทอง ยศศักดิ์ แก่ตนและคณะพรรค
ประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ !
เผด็จการ หลอกลวงประชาชนได้ ชั่วระยะเวลาหนึ่งที่แพร่ความหวาดกลัวออกไปทั่วทิศ
สิ้นระยะเวลานั้นแล้ว ด้วยอำนาจสัจจะ จะแสดงความจริงแท้แก่ปวงชนให้เป็นที่ประจักษ์แจ้ง
เราอยู่ในห้วงเลวร้ายมาหลายสิบปี บางระยะ ประชาชนถูกหลอกลวงด้วยวิธีการปกครองอันชาญฉลาดคดเคี้ยวและจำยอม
ไม่จำเป็นจะเรียนรายละเอียด ความร่ำรวยมหาศาลของนักเผด็จการหลายสิบคน ผู้ซึ่งครั้งแรกยากจนค่นแค้น ไม่มีแม้บ้านอาศัยที่เป็นของตนเอง บางคนมีหนี้สินรุงรัง ดื่มสุราได้อย่างดีก็เพียงเหล้าโรง 28 ดีกรีเท่านั้น แต่เมื่อเข้าเป็นพรรคพวกจอมเผด็จการไม่กี่ปี เขาดื่มสุราต่างประเทศ ราคาสูง อยู่ตึกสวยหรูในเนื้อที่กว้างใหญ่ราวกับพระราชวัง โอ่อ่าอยู่ในสังคมชั้นสูงด้วยเงินที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง
ชีวิตทุกชีวิตที่ผ่านมาในเรื่องนี้ เป็นบทเรียน เป็นบันไดแห่งความครุ่นคิด และแน่นอนเป็นเหยื่อเผด็จการ
นักปกครองหลายรุ่น เข้ากุมอำนาจการปกครองประเทศ ส่วนใหญ่สวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย แต่โดยเนื้อแท้ ภายในเป็นเผด็จการ เห็นแก่ตัว บูชาเงิน และหลงลืมประชาชนผู้ยากไร้ทั้งในชนบทและสลัม
จะหลอกลวงประชาชนไปถึงไหน !”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชช.หวั่นไหว 'การเมือง-พิษเศรษฐกิจ' กระทบเงินในกระเป๋า
ซูเปอร์โพล ชี้การเมืองและเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความหวั่นไหวของประชาชน โดยเฉพาะเงินในกระเป๋ามาอันดับหนึ่ง
‘จตุพร’ ชี้ ‘ทักษิณ’ ตบหน้าคนไทยฉาดใหญ่ ไม่แยแสสังคม โชว์พูดตลกทำให้โง่ไปกินมาม่า
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ระบุว่า ขณะนี้ประเทศถูกนักโทษคดีทุจริตท้าทายกระบวนการยุติธรรม สั่งการ แทรก
สส.ธนกร จี้ 'มท.หนู-บิ๊กต่าย' เร่งออกมาตรการเข้มสแกนกวาดล้างแก๊งจีนเทา
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่าถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสน.ห้วยขวาง นำ
โฆษกพปชร. ยัน 'บิ๊กป้อม' ยังระลึกถึง 'ทักษิณ' อยู่โดยตลอด
พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคี ในวันเดียวกับที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี