
ไชยันต์ ไชยพร
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2475-2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร ได้แก่
1. การเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีสิทธิ์รับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1
2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง
3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีวาระอยู่ยาวตราบที่ยังบังคับใช้บทเฉพาะกาลอยู่
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดแรกที่แต่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร
5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องซึ่งส่วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2
6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 รับรองตัวเองให้เป็นคณะรัฐมนตรี
จาก 1-5 บรรดาสมาชิกคณะราษฎรต่างแต่งตั้งตัวเองกลับไปกลับมาหมุนเวียนกันเป็นคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ แม้จะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน แต่ก็ยังกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีสิทธิ์ในการรับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และแม้ว่าจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงแรกให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากสมาชิกพฤฒสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นมาเป็นจำนวน 80 คน พบว่า เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นจำนวน 49 คน และเป็นสมาชิกคณะราษฎร 55 ถคน (ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนให้ตัวเลขไว้ 45 และ 51 คน เพราะตกหล่นไปสี่ท่าน คือพันโท ก้าน จำนงภูมิเวท, คุณปราโมทย์ [บุญล้อม] พึ่งสุนทร พ.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) ร.น. และคุณจิตตะเสน ปัญจะ
ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรและได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วย)
หมายความว่า กว่าครึ่ง (49/80 คน) ของสมาชิกพฤฒสภาสืบต่อมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และกว่าครึ่ง (55/80) ของสมาชิกพฤฒสภาเป็นสมาชิกคณะราษฎร นั่นคือ มีสมาชิกสภาพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 68.75 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489
และเมื่อเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 จำนวน 78 คน พบว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 46 คน นั่นคือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร 58.9 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกพฤตสภากลับเพิ่มมากขึ้นกว่าสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรก
ส่วนสมาชิกพฤฒสภาที่เหลือที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คน ได้แก่ นายแก้ว สิงหะคเชนทร์, พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน สรยุทธเสนี, นายเขียน กาญจพันธุ์, พันโท เจือ สฤษฎิ์ราชโยธิน, นายจินดา พันธุมจินดา, นายจำลอง ดาวเรือง, นายช่วย สุคนธมัต, นายไต๋ ปาณิกบุตร, นายถวิล อุดล, นายทองม้วน สถิรบุตร, นายทัน พรหมิทธิกุล, นายเธียรไท อภิชาตบุตร์, พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลนาชสุวัจน์), พระนิติการณ์ประสม (สงวน ชัยเฉนียน), นายปพาฬ บุญ-หลง, หลวงประสิทธิ์นรกรรม (นายเจี่ยน หงสประภาส), นายประทุม รมยานนท์, นายผูก ปาลธรรมี, พันตำรวจเอก พระพิจารณ์พลกิจ, นายพึ่ง ศรีจันทร์, นายมิ่ง เลาห์เรณู, ร้อยโท วิริยะ วิริยะเหิรหาว, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร, นายสนิท เจริญรัฐ, นายสุกิจ นิมมานเหมินท์, นายไสว อินทรประชา, พันโท พระอภัยพลรบ (ชลอ อินทรัมพรรย์), หลวงอรรถกัลยาณวินิจ (เอื้อน ยุกตะนันทน์), นายอรุณ แสงสว่างวัฒนะ
ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงประวัติของคุณพึ่ง ศรีจันทร์และคุณแก้ว สิงหะคเชนทร์ ต่อไปคือ คุณเขียน กาญจพันธุ์
จากการค้นข้อมูลเบื้องต้น ทราบแต่เพียงว่า คุณเขียน กาญจพันธุ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย และคุณเขียนได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดสมุทรประการ ในการเลือกตั้งครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในตำบลเลือกตัวแทนตำบล แล้วผู้แทนตำบลค่อยเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง ในครั้งนั้น กำหนดให้ราษฎรสองแสนคนมีผู้แทนได้หนึ่งคน และในการเลือกตั้งครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,278,231 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45
และน่าสนใจที่จังหวัดที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่เป็นจังหวัดเพชรบุรี มีผู้ออกมาใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 78.82 ส่วนจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71
คุณเขียน กาญจพันธุ์ เป็น ส.ส. อยู่เพียงหนึ่งสมัย นั่นคือ ระหว่าง 15 พ.ย. 2476 – 6 พ.ย. 2480 และในการเลือกตั้งครั้งที่สองของประเทศไทย วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจังหวัดสมุทรปราการคือ ขุนชำนิอนุสาส์น
ส่วนท่านต่อไปคือ พันโท เจือ สฤษฎิ์ราชโยธิน จากการค้นข้อมูล ไม่พบว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่พันโทเจือเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 แทนนายหงวน ทองประเสริฐ
พันโทเจือมาจากครอบครัวทหาร บิดาคือเรือโท วิจารณ์ โภคากรวิจารณ์ พันโทเจือสมรสกับ ม.ร.ว. ศิริมาน สนิทวงศ์ ธิดาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสาย สนิทวงศ์และหม่อมบาง สนิทวงศ์ ได้พระราชทานยศร้อยตรีเมื่อ พ.ศ. 2466 ในปี พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มาประจำกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กองพัน 3 พ.ศ. 2484 เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 9 ทหารรักษาวัง
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ท่านได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ ขุนสฤษฎิ์ราชโยธิน เป็น พ.ท. เจือ สฤษดิ์ราชโยธิน
ในกรณีที่ไม่ได้ถูกถอดบรรดาศักดิ์ การออกจากบรรดาศักดิ์มีสองกรณี คือ สมัครใจลาออก กับออกเพราะมีการยกเลิกบรรดาศักดิ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 เหตุผลที่ให้มีการการยกเลิกบรรดาศักดิ์ เพราะ “…มีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ทั้งที่อยู่ในราชการและนอกราชการตั้งแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูงลงมาจนถึงผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นผู้น้อยได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีผู้มีบรรดาศักดิ์บางคนยังคงดำรงอยู่ในบรรดาศักดิ์ยังมิได้ขอคืน จึงดูเป็นการลักลั่นไม่เป็นระเบียบ ทั้งยังจะทำให้เข้าใจผิดไปว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์นั้นจะมีสิทธิพิเศษดีกว่าผู้อื่นด้วย เหตุนี้จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานไปแล้นวนั้นเสีย เพื่อแก้ความเข้าใจผิดอันอาจเกิดขึ้นได้ดังกล่าวแล้ว….” (ประกาศเรื่องยกเลิกบรรดาศักดิ์ วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 33) และพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ดังกล่าวนี้ ผู้รับสนองคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
จะเห็นได้ว่า พันโทเจือเป็นหนึ่งในบรรดาข้าราชการที่สมัครใจออกจากบรรดาศักดิ์ เพราะท่านได้ขอลาออกก่อนหน้าที่จะมีการประกาศยกเลิก
อีกสองปีต่อมา พ.ศ. 2487 พันโทเจือได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และตามรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ผู้ที่อำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งพันโทเจือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี คณะที่ 10 ที่มีจอมพล ป. พิบูลงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
สาเหตุที่เป็นไปได้ที่ท่านพันโทเจือได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อาจจะเกี่ยวกับการที่ท่านเป็นบุตรเขยของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสาย สนิทวงศ์ และหนึ่งในพระโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสาย สนิทวงศ์ คือ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) และหนึ่งในบุตรของ ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์คือ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (หลวงเดชสหกรณ์) และหม่อมหลวงเดชเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 10
หม่อมหลวงเดชและพันโทเจือมีอายุไม่ห่างกันมากนัก หม่อมหลวงเดชอายุมากกว่าพันโทเจือ 5 ปี และทั้งสองถือว่าเป็นญาติกัน เพราะหากนับญาติกันแล้ว พันโทเจือมีศักดิ์เป็นอาเขยของหม่อมหลวงเดช เพราะพันโทเจือสมรสกับ ม.ร.ว. ศิริมาน สนิทวงศ์ น้องสาวของ ม.ร.ว. สท้าน ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงเดช และหม่อมหลวงเดชไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีภายใต้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้เป็นรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2481 ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้ง เมื่อนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2487 หม่อมหลวงเดชก็ได้เป็นรัฐมนตรี และแม้หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็ยังได้เป็นรัฐมนตรี และได้ด้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2490 และเป็น “ประธานองคมนตรี” ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 นับว่าเป็น “ประธานองคมนตรีคนที่ 5 ในสมัยรัชกาลที่เก้า
แม้หม่อมหลวงเดชจะไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ในช่วงที่ได้รับทุนรัฐบาลให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อที่เยอรมนีขณะนั้นคือ นายเติม บุนนาค นายตั้ว ลพานุกรม นายประจวบ บุนนาค และหม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ โดยต่อมานายตั้ว นายประจวบ และหม่อมหลวงอุดมล้วนเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แต่การที่หม่อมหลวงเดชได้เป็นรัฐมนตรีภายใต้พระยามโนฯ จอมพล ป. และนายควง และต่อมาได้เป็นองคมนตรีและประธานองคมนตรี น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า การที่ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีภายใต้นายกรัฐมนตรีสามท่าน สามขั้วการเมือง เพราะท่านเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าจะด้วยเหตุผลของการเป็นพวกใครในทางการเมือง ท่านจบปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยกรุงเบอร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และหากการได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ของพันโทเจือมาจากสายสัมพันธ์ที่ท่านมีอยู่กับหม่อมหลวงเดช ก็อาจตีความได้ว่า พันโทเจือเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 โดยไม่ได้เป็นเรื่องฝักใฝ่ทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ และนายควง อภัยวงศ์ และการที่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาในปี พ.ศ. 2489 ก็ไม่น่าจะเป็นเพราะเรื่องมีฝักฝ่ายทางการเมืองด้วย
แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อครั้งนายปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวงเดชมิได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นเพราะความขัดแย้งเห็นต่างในครั้งที่มีการเสนอนโยบายเศรษฐกิจหรือเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี ซึ่งในการลงมติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2476 หม่อมหลวงเดชในฐานะรัฐมนตรีเป็นหนึ่งใน 11 รัฐมนตรีที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี แต่เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี
แต่ถ้าการเข้าสู่การเมืองครั้งแรกโดยการได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2487 ของพันโทเจือเป็นเพราะการมีสายสัมพันธ์กับหม่อมหลวงเดช ก็น่าสงสัยว่า การที่พันโทเจือได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกพฤฒสภาในปี พ.ศ. 2489 มาจากสายสัมพันธ์หรือปัจจัยอะไร ? เพราะพฤฒสภาชุดนั้น ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สภาของปรีดี” ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระเบิดศึกซักฟอก ดีลแลกประเทศ
การเมืองตลอดสัปดาห์หน้าร้อนระอุแน่นอน กับ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม และลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 26 มีนาคม
ปูเสื่อรอ 'ช่อ พรรณิการ์' เผยทีเด็ดเชือด 'แพทองธาร' อยู่วันที่สอง
'ช่อ พรรณิการ์' เผยติดตามการซักซ้อมซักฟอกของพรรคประชาชน มั่นใจอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ทีเด็ดอยู่วันที่สอง ประเด็นหลักพุ่งเป้าไปที่ตัว 'แพทองธาร' โดยตรง เย้ยเพื่อไทยตั้ง 'องครักษ์พิทักษ์ข้อบังคับ' ทั้งที่หน้าที่นี้เป็นของประธานสภาฯ ลั่นอยากปกป้องนายกฯ ก็บอกมาตรงๆ
โบนัสต้องมา! องครักษ์ ดาหน้าป้องแพทองธาร คุณแม่ต้องกลับไปเลี้ยงลูก
ก่อแก้ว-องครักษ์พิทักษ์นาย โต้ฝ่ายค้าน หลังมีเสียงวิจารณ์แพทองธาร อาจไม่อยู่ฟังการอภิปรายจนครบกำหนด 37 ชั่วโมง อ้างนอกจากเป็นนายกฯแล้ว ยังมีภาระหน้าที่ในฐานะ “คุณแม่” ที่ต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก ติงฝ่ายค้านว่าไม่ควรแขวะเกินเลย หลังวิปสามฝ่ายตกลงเวลาร่วมกันแล้ว
อึ้งทั้งบาง! 'องครักษ์' หา 'ปชน.' วางแผนประทุษกรรมซักฟอก 'ตระบัดสัตย์' จับมือลุง
สส.อนุสรณ์-องครักษ์พิทักษ์นาย โจมตี 'พรรคประชาชน' วางแผนประทุษกรรมซักฟอก สร้างความโกลาหลในสภา ก่อนนำไปขยายต่อโซเชียล พร้อมโชว์ตรรกะพิสดาร หา 'พรรคส้ม' ตระบัดสัตย์ 'จับมือลุง' ร่วมศึกซักฟอกแพทองธาร
ลือ 'เหลิม' ร่วมซักฟอก! รังสิมันต์ ลั่นโรยเกลือ 'แพทองธาร'
'รังสิมันต์' ย้ำศึกซักฟอก หลักฐานแน่ พร้อมเปิด 'ยุทธการโรยเกลือ' เอาผิดนายกฯแพทองธารหลังจบอภิปราย เย้ยฝ่ายรัฐบาลส่งสัญญาณเครียดจัดผ่านดินเนอร์ของพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่กระแสข่าว 'เหลิม' เข้าร่วมอภิปรายด้วยยังไม่คอนเฟิร์ม
โฆษกรัฐบาล ยืนยันนายกฯอิ๊งค์ 'เก่งจริง' จี้ฝ่ายค้านซักฟอกสร้างสรรค์ ไม่บูลลี่ด้อยค่า
จิรายุ-โฆษกรัฐบาล มั่นใจในความสามารถของ นายกฯแพทองธาร จะสามารถชี้แจงทุกประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมเรียกร้องฝ่ายค้านทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าอภิปรายในเชิงสร้างสรรค์เพื่อร่วมแก้ปัญหาประเทศ