
ไชยันต์ ไชยพร
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2475-2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร ได้แก่
1. การเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีสิทธิ์รับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1
2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง
3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีวาระอยู่ยาวตราบที่ยังบังคับใช้บทเฉพาะกาลอยู่
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดแรกที่แต่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร
5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องซึ่งส่วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2
6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 รับรองตัวเองให้เป็นคณะรัฐมนตรี
จาก 1-5 บรรดาสมาชิกคณะราษฎรต่างแต่งตั้งตัวเองกลับไปกลับมาหมุนเวียนกันเป็นคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ แม้จะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน แต่ก็ยังกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีสิทธิ์ในการรับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และแม้ว่าจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงแรกให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากสมาชิกพฤฒสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นมาเป็นจำนวน 80 คน พบว่า เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นจำนวน 49 คน และเป็นสมาชิกคณะราษฎร 55 คน (ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนให้ตัวเลขไว้ 45 และ 51 คน เพราะตกหล่นไปสี่ท่าน คือพันโท ก้าน จำนงภูมิเวท, คุณปราโมทย์ [บุญล้อม] พึ่งสุนทร พ.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) ร.น. และคุณจิตตะเสน ปัญจะ
ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรและได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วย)
หมายความว่า กว่าครึ่ง (49/80 คน) ของสมาชิกพฤฒสภาสืบต่อมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และกว่าครึ่ง (55/80) ของสมาชิกพฤฒสภาเป็นสมาชิกคณะราษฎร นั่นคือ มีสมาชิกสภาพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 68.75 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
และเมื่อเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 จำนวน 78 คน พบว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 46 คน นั่นคือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร 58.9 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกพฤฒสภากลับเพิ่มมากขึ้นกว่าสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรก
ว่าเป็น “สภาปรีดี”
ส่วนสมาชิกพฤฒสภาที่เหลือที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คน ในตอนก่อนๆ ได้กล่าวถึงประวัติของสมาชิกพฤฒสภาไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คนไปบ้างแล้ว ได้แก่ คุณพึ่ง ศรีจันทร์ คุณแก้ว สิงหะคเชนทร์ คุณเขียน กาญจพันธุ์ และพันโท เจือ สฤษฎิ์ราชโยธิน คุณจินดา พันธุมจินดา (จินดา จินตเสรี) คุณจำลอง ดาวเรือง และคุณไต๋ ปาณิกบุตร ต่อไปจะได้กล่าวถึงประวัติของคุณถวิล อุดล
คุณถวิลเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ดโดยกำเนิดและมาจากครอบครัวที่มีฐานะ จบการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย และมาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม จบเป็นเนติบัณฑิต ขณะที่มีอายุได้ 21 ปี เมื่อ พ.ศ. 2473 เรียนจบแล้วก็ไปมีอาชีพเบื้องต้นเป็นทนายความ
ก่อนที่คุณถวิลจะได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นสมาชิกพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 คุณถวิลเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2480 และการเลือกตั้งวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไว้วางใจคณะรัฐมนตรี คณะที่ 12 ซึ่งมีคุณทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี และดำรงตำแหน่งควบรัฐมนตรีอีกสี่กระทรวง (กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ) คุณทวี บุณยเกตุเป็นสมาชิกคณะราษฎร สายพลเรือน
คุณถวิลได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีลอยในคณะรัฐมนตรีภายใต้คุณทวี ตอนนั้นคุณถวิลยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดอยู่ (ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ร้อยเอ็ดจนถึง วันที่ 15 ตุลาคม 2488) แต่คณะรัฐมนตรีคณะที่ 12 นี้มีอายุเพียง 16 วันเท่านั้น (1 กันยายน 2488 – 17 กันยายน 2488) ต่อมา คณะรัฐมนตรี คณะที่ 13 ที่มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
เป็นนายกรัฐมนตรี คุณถวิลก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยอีกเช่นกัน
คุณถวิลได้ร่วมกับสงวน ตุลารักษ์, หลวงเดชาติวงศ์ วราวัฒน์, วิจิตร ลุลิตานนท์, เตียง ศิริขันธ์ และจำกัด พลางกูร และหลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยที่มีท่านปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้า
ดังนั้น สำหรับ คุณถวิล อุดล แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่จากที่กล่าวไปข้างต้น เราก็สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า คุณถวิลเป็นหนึ่งในสมาชิกพฤฒสภาที่ทำให้พฤฒสภาถูกเรียกว่าเป็น “สภาปรีดี”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม้วกลับเชียงใหม่ เปิดรดน้ำดำหัว ก่อนช่วยหาเสียงเลือกนายกฯนครเชียงใหม่
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ไปยังจังหวัดเชียง
'อนุสรณ์' หนุน DSI เดินหน้าสอบ 'ฮั้วเลือก สว.' จี้ กกต. พิสูจน์ความโปร่งใส
สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ระบุกรณี DSI จำลองเหตุการณ์เลือก สว. พบข้อพิรุธชัดหลายจุด เรียกร้อง กกต.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมา สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
‘ดร.เอนก’ ทะลุช็อต วิกฤติ 3 ก๊กโลกใหม่ 'สหรัฐ' ร่วง 'บูรพา' รอด!! I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
‘ดร.เอนก’ ทะลุช็อต วิกฤติ 3 ก๊กโลกใหม่ 'สหรัฐ' ร่วง 'บูรพา' รอด!! อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568
🛑LIVE ตายยกเข่ง..!? '4จตุรเทพ' งัดม.144 เชือดครม.-สภา | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2568
'ธรรมนัส' อ้างข้อมูลวงใน ยังไม่ถึงเวลาปรับครม.จ่อดัน 'อรรถกร' คัมแบ็กแทนพ่อ
ร.อ.ธรรมนัส เผยได้ข้อมูลจากคนในรัฐบาล ยืนยันยังไม่ถึงเวลาปรับ ครม. เหตุเศรษฐกิจยังน่าห่วง แย้ม “อรรถกร” มีลุ้นคัมแบ็กนั่งรมต.แทนบิดา ส่วน “ไผ่” รอเคลียร์คุณสมบัติ พร้อมแย้ม สส.ฝ่ายค้านเตรียมย้ายซบกล้าธรรม สัปดาห์หน้า