ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 51)

 

ไชยันต์ ไชยพร

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490  เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489  ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2475-2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร ได้แก่

1. การเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีสิทธิ์รับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1                 

2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง

3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีวาระอยู่ยาวตราบที่ยังบังคับใช้บทเฉพาะกาลอยู่

4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดแรกที่แต่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร

5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องซึ่งส่วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 รับรองตัวเองให้เป็นคณะรัฐมนตรี

จาก 1-5 บรรดาสมาชิกคณะราษฎรต่างแต่งตั้งตัวเองกลับไปกลับมาหมุนเวียนกันเป็นคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ แม้จะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน แต่ก็ยังกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีสิทธิ์ในการรับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง  และแม้ว่าจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงแรกให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จากสมาชิกพฤฒสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นมาเป็นจำนวน 80 คน พบว่า เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นจำนวน 49 คน  และเป็นสมาชิกคณะราษฎร 55 คน

หมายความว่า กว่าครึ่ง (49/80 คน) ของสมาชิกพฤฒสภาสืบต่อมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และกว่าครึ่ง (55/80) ของสมาชิกพฤฒสภาเป็นสมาชิกคณะราษฎร  นั่นคือ มีสมาชิกสภาพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 68.75 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

และเมื่อเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476  จำนวน 78 คน พบว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 46 คน  นั่นคือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร 58.9 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกพฤฒสภากลับเพิ่มมากขึ้นกว่าสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรก

และคนในสมัยนั้นเรียกพฤฒสภาว่าเป็น “สภาปรีดี”

ส่วนสมาชิกพฤฒสภาที่เหลือที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คน  ในตอนก่อนๆ ได้กล่าวถึงประวัติของสมาชิกพฤฒสภาไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คนไปบ้างแล้ว ได้แก่ คุณพึ่ง ศรีจันทร์   คุณแก้ว  สิงหะคเชนทร์  คุณเขียน กาญจพันธุ์ และพันโท เจือ  สฤษฎิ์ราชโยธิน คุณจินดา พันธุมจินดา (จินดา จินตเสรี) คุณจำลอง ดาวเรือง  คุณไต๋ ปาณิกบุตร คุณถวิล อุดล และคุณทัน พรหมิทธิกุล ต่อไปจะได้กล่าวถึง มหาอำมาตย์ตรี พระยานลราชสุวัจน์  (ทองดี  นลราชสุวัจน์)

มหาอำมาตย์ตรี พระยานลราชสุวัจน์  (ทองดี  นลราชสุวัจน์) เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี  คณะที่ 13 ที่มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี (19 กันยายน 2488 – 31 มกราคม 2489)  ตามข้อมูลประวัติของท่านเท่าที่ค้นได้ พบว่า ท่านเป็นเนติบัณฑิตสยาม เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลหลายจังหวัด ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ประธานกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์, กรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

จากข้อมูลข้างต้น ท่านคงไม่ได้มีส่วนที่ทำให้พฤฒสภาเป็น “สภาปรีดี” เหมือนหลายท่านที่ได้กล่าวไป

ต่อไปคือ พระนิติการณ์ประสม  (สงวน  ชัยเฉนียน)

ท่านเป็นคนมหาไชย สมุทรสาคร จบชั้นประถมที่โรงเรียนโมฬีโลก เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมราชบูรณะ โรงเรียนมัธยมพิเศษเทพศิรินทร์ โรงเรียนสวนกุหลาบ จนไปจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย (King’s College) จากนั้นในปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์ อธิบดีศาลฎีกามีพระประสงค์จะได้นักเรียนที่สำเร็จจากโรงเรียนหนึ่งคนไปปฏิบัติงานที่ศาลฎีกา ทางโรงเรียนได้เสนอรายชื่อไปเพื่อทรงพิจารณา 3-4 คน คุณสงวนได้รับเลือกจากเสด็จในกรมฯ ทำให้ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน ระหว่างนั้น ได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม และสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2459 และเป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภาในปีนั้น จากนั้นได้เข้ารับราชการในตำแหน่ง รองยกกระบัตรศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม ในปี พ.ศ. 2461 ได้เป็นรองอำมาตย์เอก ในปี พ.ศ. 2469 ได้เป็นพระนิติการณ์ประสม และได้เป็นอำมาตย์โทในปี พ.ศ. 2471

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ประธานคณะกรรมการราษฎร (พระยามโนปกรณ์นิติธาดา) ได้ขอให้ไปช่วยราชการในกรมร่างกฎหมายชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 (หลังรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476) คณะรัฐมนตรีได้ลงมติแต่งตั้งให้พระยานิติการณ์ประสมเป็นกรรมาธิการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมการร่างกฎหมาย (ตั้งแต่เริ่มตั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)   ต่อมาในปีเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีได้ตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และได้เป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ  ในปี พ.ศ. 2478 เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงยุติธรรมพิจารณานโยบายที่ดิน  และเป็นกรรมการสอบแข่งขันเพื่อรับตำแหน่งข้าราชการตุลาการสามัญอันดับที่ 6 ประจำปี พ.ศ. 2478

ระหว่างปี พ.ศ. 2480-2482 ทำหน้าที่อาจารย์ผู้บรรยายวิชาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และได้แต่งตำราวิชาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไว้อย่างสมบูรณ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2486 บรรยายวิชากฎหมาลักษณะพยานหลักฐานและจิตวิทยา และได้เขียนคำบรรยายไว้โดยสมบูรณ์ด้วย

อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการพิจารณาในเรื่องสำคัญๆหลายเรื่องตลอดจนถึงปี พ.ศ. 2488 ก่อนที่จะลาออกจากราชการมาดำรงตำแหน่งสมาชิกพฤฒสภา

จากข้อมูลประวัติของท่าน กล่าวได้ว่า เช่นเดียวกันกับพระยานลราชสุวัจน์  (ทองดี  นลราชสุวัจน์)  พระนิติการณ์ประสม  (สงวน  ชัยเฉนียน) คงไม่ได้มีส่วนที่ทำให้พฤฒสภาถูกเรียว่าเป็น “สภาปรีดี”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นันทเดช-ไพบูลย์' ทะลวงศึกอภิปราย ปิดฉากดีลลับทักษิณ I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร

'นันทเดช-ไพบูลย์' ทะลวงศึกอภิปราย ปิดฉากดีลลับทักษิณ อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568

ฝ่ายค้านได้เปรียบ 3:1 ยก 4 เหตุผลทำประชาชนจับตาศึกซักฟอก

อดีตหัวหน้า ศรภ. ยกเหตุผล 4 ข้อทำให้ประชาชนให้ความสนใจการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ในสภา ฝ่ายค้านมีความได้เปรียบ 3:1

องครักษ์ 20 คนไม่ช่วย! 'วิโรจน์' ซัด 'แพทองธาร' ไร้ภาวะผู้นำ-บริวารในกงสีแค่ทำคะแนน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.ประชาชน ซัดแรง องครักษ์พิทักษ์แพทองธาร 20 คน เป็นแค่บริวารในกงสี ไม่มีผลต่อศึกซักฟอก ลั่นฝ่ายค้านถามลูก ไม่ได้ถามพ่อ! เตือนนายกฯ ต้องชี้แจงเอง ไม่ใช่พึ่งบริวาร

พปชร. เผย ‘บิ๊กป้อม’ ซักฟอกนายกฯต่อจาก ‘เท้ง’ มั่นใจฝ่ายรัฐบาลไม่ประท้วง

“ไพบูลย์” เปิดคิว “บิ๊กป้อม” ลุกซักฟอกนายกฯ ต่อจาก “เท้ง” ระบุ แค่จั่วหัวภาพรวม แล้วให้ สส.ลงลึก เชื่อฝ่ายรัฐบาลให้เกียรติ ไม่เล่นเกมประท้วง