
ไชยันต์ ไชยพร
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2475-2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร ได้แก่
1. การเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีสิทธิ์รับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1
2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง
3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีวาระอยู่ยาวตราบที่ยังบังคับใช้บทเฉพาะกาลอยู่
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดแรกที่แต่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร
5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องซึ่งส่วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2
6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 รับรองตัวเองให้เป็นคณะรัฐมนตรี
จาก 1-5 บรรดาสมาชิกคณะราษฎรต่างแต่งตั้งตัวเองกลับไปกลับมาหมุนเวียนกันเป็นคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ แม้จะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน แต่ก็ยังกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีสิทธิ์ในการรับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และแม้ว่าจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงแรกให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากสมาชิกพฤฒสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นมาเป็นจำนวน 80 คน พบว่า เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นจำนวน 50 คน และเป็นสมาชิกคณะราษฎร 56 คน
หมายความว่า กว่าครึ่ง (50/80 คน) ของสมาชิกพฤฒสภาสืบต่อมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และกว่าครึ่ง (56/80) ของสมาชิกพฤฒสภาเป็นสมาชิกคณะราษฎร นั่นคือ มีสมาชิกสภาพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 70 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
และเมื่อเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 จำนวน 78 คน พบว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 46 คน นั่นคือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร 58.9 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกพฤฒสภากลับเพิ่มมากขึ้นกว่าสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรก
และคนในสมัยนั้นเรียกพฤฒสภาว่าเป็น “สภาปรีดี”
ส่วนสมาชิกพฤฒสภาที่เหลือที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คน ในตอนก่อนๆ ได้กล่าวถึงประวัติของสมาชิกพฤฒสภาไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คนไปบ้างแล้ว ได้แก่ คุณพึ่ง ศรีจันทร์ คุณแก้ว สิงหะคเชนทร์ คุณเขียน กาญจพันธุ์ และพันโท เจือ สฤษฎิ์ราชโยธิน คุณจินดา พันธุมจินดา (จินดา จินตเสรี) คุณจำลอง ดาวเรือง คุณไต๋ ปาณิกบุตร คุณถวิล อุดล คุณทัน พรหมิทธิกุล มหาอำมาตย์ตรี พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) พระนิติการณ์ประสม (สงวน ชัยเฉนียน) คุณปพาฬ บุญ-หลง หลวงประสิทธิ์นรกรรม คุณประทุม รมยานนท์ พันตำรวจเอก พระพิจารณ์พลกิจ และคุณพึ่ง ศรีจันทร์ คุณมิ่ง เลาห์เรณู ร้อยโท วิริยะ วิริยะเหิรหาว คุณสนิท เจริญรัฐ คุณสุกิจ นิมมานเหมินทร์ คุณไสว อินทรประชา และพันโท พระอภัยพลรบ (ชลอ อินทรัมพรรย์)
ต่อไปจะได้กล่าวถึง หลวงอรรถกัลยาณวินิจ (เอื้อน ยุกตะนันทน์) เป็นบุตรคนโตของหลวงบริมาณมนูกิจ (ปุย ยุกตะนันท์) และคุณเข็ม (รักตะประจิตร) ยุกตะนันท์ เกิดปี พ.ศ. 2441 เป็นบางพลัด กรุงเทพฯ หลังจากจบจากโรงเรียนใกล้บ้านแล้ว ท่านได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย แล้วย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์จนจบ แล้วเข้าศึกษากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เมื่ออายุ 22 ปีถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารแล้วสมัครเป็นนักเรียนนายดาบ และได้เป็นนายดาบประจำกรมทหารราบที่ 17 ลำปางในปี พ.ศ. 2464 หลังจากนั้นหนึ่งปี ได้ปลดจากราชการทหารตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร และได้เข้าศึกษาต่อ สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2467 หลังปรีดี พนมยงค์ 5 ปี (หลวงประดิษฐ์มนูธรรมสอบเนติบัณฑิตได้เมื่อปี พ.ศ. 2462)
จากนั้นท่านได้เป็นอัยการในกรมอัยการในปี พ.ศ. 2468 จนถึง พ.ศ. 2476 ได้เป็นอัยการประจำกรมสรรพสามิต และอัยการจังหวัดสมุทรสาคร จากอัยการ หลวงอรรถกัลยาณวินิจย้ายมารับราชการเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาในปี พ.ศ. 2478 และในปี พ.ศ. 2480 ได้เป็นผู้บัญชาการเรือนจำกองลหุโทษ และได้เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในปี พ.ศ. 2482-2483 และในปี พ.ศ. 2485 ได้เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2485 และในปีนั้น ท่านได้รับการแต่งตั้งจากกรมสรรพามติให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด และผู้อำนวยการโรงงานสุรา กรมสรรพสามิต ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ได้ประกอบอาชีพทนายความ จนในปี พ.ศ. 2489 จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกพฤฒสภา
จากที่ผู้เขียนได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหลวงอรรถกัลยาณวินิจ ไม่พบข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับปรีดี พนมยงค์ จะมีแต่ข้อมูลที่ว่าในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2468 จนถึง พ.ศ. 2476 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้จบการศึกษาจากฝรั่งเศสและเดินทางกลับประเทศเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายปกครอง ณ โรงเรียนกฎหมาย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ท่านทั้งสองนี้จะได้รู้จักและสนิทสนมกันหรือไม่ เพราะทั้งสองท่านเป็นคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน หลวงอรรถกัลยาณวินิจอายุมากกว่าหลวงประดิษฐ์ฯ 2 ปี จึงไม่สามารถกล่าวได้แน่ชัดว่า การที่หลวงอรรถกัลยาณวินิจได้เป็นสมาชิกพฤฒสภาทำให้พฤฒสภาเป็น “สภาปรีดี” ตามที่กล่าวกันในช่วงเวลานั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ขอนายกฯช่วยคุ้มครอง โอดทำไมเล่นกันแรงขนาดนี้ โดนหมายเรียกคดีฮั้วสว.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง กรณีการได้รับหมายเรียกจากกกต.คดีฮั้วเลือกสว. จะไปชี้แจงวันใดนั้นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องกฎหมาย เพราะฉะนั้นใครถูกกล่าวหา หรือชี้อะไรมา โดยเฉพาะการชี้ที่เป็นข้อกล่าวหา ต้องให้ทนายความ
ดร.ณัฏฐ์ ให้ความเห็นคดีฮั้ว สว. ล็อต 7 ชี้หากมีมูลอาจกระทบถึงยุบภูมิใจไทย!
“ดร.ณัฏฐ์” ชี้ ปมฮั้ว สว.สีน้ำเงิน ล็อต 7 โยง “เนวิน-อนุทิน-กก.บห.พรรคภูมิใจไทย”หากฟังได้ว่า ร่วมกันกระทำความผิด ถูกดำเนินคดีอาญา ยึดทรัพย์และยุบพรรคภูมิใจไทย
นายกฯ คุยอนุทิน ขอเพื่อไทยคุมมหาดไทย แต่เจอปฏิเสธ
16 มิถุนายน 2568 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)
'ภูมิใจไทย' เตรียมฟ้องกลับ คกก.ชุด 26 กกต. แจ้งความเท็จปมฮั้วเลือกสว.
น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลักกงการประชุมกรณีที่มีจดหมายเชิญในการรับทราบข้อกล่าวหาของ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยทุกคน พรรคภูมิใจไทยพร้อมชี้แจงและมั่นใจว่
'อนุทิน' โล่งอก คุยนายกฯ ชั่วโมงกว่าไม่มีเรื่องปรับครม.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมพรรคภูมิใจไทย จะมีการนำเรื่องการพบนายกรัฐมนตรีชี้แจงในที่ประชุมพรรคด้วยหรือไม่ ว่า ไม่เกี่ยว เพราะวันนี้เป็นการประชุมสส.พรรค
'ชาดา' มอง กก.บห.ภูมิใจไทย ได้หมายคดีฮั้วสว. มีผลกระทบแน่นอน แต่ไม่รู้แบบไหน
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนชุดที่ 26 ออกหมายเรียกบุคคลเข้าชี้แจงในคดีฮั้ว สว. ซึ่งปรากฏรายชื่อของคณะกรรมการบริหารพรรค ภท.ด้วยนั้น