ความเห็นของต่างชาติต่อการเมืองหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476: (70) : การยึดอำนาจวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476-กบฏบวรเดช (คณะกู้บ้านกู้เมือง)

 

ไชยันต์ ไชยพร

หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช (คณะกู้บ้านกู้เมือง) เซอร์ รอเบิร์ต ฮอลแลนด์ และ นายแบกซ์เตอร์ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทั้งสองได้บันทึกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการที่พระองค์ทรงทบทวนสถานการณ์ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปีก่อนหน้านั้น อัครราชทูตอังกฤษได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับพระราชดำรัสนี้ว่า “….จากข้อมูลที่ข้าพเจ้ามีอยู่นั้น การทบทวนสถานการณ์ (review of the situation) ตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อปีที่แล้วไม่เพียงแต่มิได้เป็นการขยายความจนเกินจริง (exaggerate) เท่านั้น หากแต่ยังอาจถือได้ว่า เป็น การเล่าเรื่องที่เชื่อถือได้โดยสมบูรณ์ (absolutely authentic account) ของสิ่งที่ได้เกิดขึ้น ที่น่าสนใจเป็นการเฉพาะ หากพิจารณาการวิพากษ์วิจารณ์ที่ได้เกิดขึ้นในตอนนั้น คือพระราชดำรัสเกี่ยวกับสภาวการณ์ที่ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินไปสงขลา (เรื่องเดียวกัน)  ดังนั้น ในที่นี้ จึงจะขอนำบันทึกของ เซอร์ รอเบิร์ต ฮอลแลนด์ มาเสนอไว้ทั้งฉบับมิใช่เพียงเพราะความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ แต่เพื่อเป็นการปกป้องพระเกียรติยศแห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต้องได้รับความกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ในช่วงนั้นด้วย (Inclosure in Doc. 116, “Notes on Sir R. Holland’s Audience with His Majesty the King of Siam” อยู่ใน เรื่องเดียวกัน หน้า 131-132 ส่วน “Notes on Mr. Baxter’s Audience with His Majesty the King’s of Siam” อยู่ในรายงานฉบับเดียวกันนี้ หน้า 132-135 บันทึกทั้ง 2 ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2476)

ข้อความต่อไปนี้เป็นบันทึกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อบุคคลทั้งสองนี้ตามที่บันทึกไว้โดย เซอร์ รอเบิร์ต ฮอลแลนด์ (ต่อจากตอนที่แล้ว)

“….ข้าพเจ้ารู้สึกว่า อนาคตจะขี้นอยู่กับชะตากรรมของผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมจากผลของการก่อการกบฏเมื่อเร็วๆนี้เป็นสำคัญ ข้าพเจ้าได้เรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้มีการยกเลิกโทษประหาร พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ตกลงในเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีพวกเลือดร้อนหัวรุนแรง (hot-heads) จำนวนมากที่ยืนยันว่าจะต้องมีการประหารชีวิต (อัครราชทูตอังกฤษระบุว่า “จากที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมานั้น เป็น พันโท หลวงพิบูลสงครามและกองทัพบกเป็นสำคัญ ที่ยืนยันจะให้ใช้มาตรการปราบปรามรุนแรง (severe repressive measures) อันเป็นมาตรการที่กำลังใช้อยู่ขณะนี้” [F 7458/21/40] “Sir J. Crosby to Sir John Simon, 13 November 1934”, British Documents, p. 163)

การดำเนินงานเช่นนี้จะมีผลชี้ชะตาในอนาคต (fatal move) การแก้แค้น (vengeance) จะตามมาจัดการในระยะยาวกับผู้ที่รับผิดชอบ และผลก็คือ เราจะได้เห็นเพียงแต่การปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า (a vista of revolutions) โดยที่แต่ละครั้งก็จะสูญเสียเลือดเนื้อ (sanguinary) มากกว่าครั้งที่ผ่านมา ความเห็นของต่างชาติจะประณามการใช้การลงโทษประหารชีวิต โดยเฉพาะจนถึงขณะนี้ เวลาได้ผ่านไปนานแล้วหลังจากมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ บุคคลที่รับผิดชอบในรัฐบาลปัจจุบันมิได้รู้สึกหวั่นไหวกับความคิดที่ว่า การกระทำของตนอาจถูกเพ่งเล็งอย่างไม่เห็นด้วยโดยมหาอำนาจต่างชาติ ข้าพเจ้าได้ยืนยันว่า ข้าพเจ้าจะให้ท่านทั้งสองเข้าเฝ้า (เซอร์ รอเบิร์ต ฮอลแลนด์และนายแบกซเตอร์) วันนี้โดยไม่มีผู้แทนคนใดของรัฐบาลร่วมอยู่ด้วย และข้อเรียกร้องของข้าพเจ้าก็ได้รับการสนองตอบ เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่า สำคัญเพียงใดที่จะได้ความเห็นอย่างไม่เป็นทางการจากชาวต่างชาติในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะได้รับรู้สภาพที่แท้จริงอย่างถูกต้อง รัฐบาลตระหนักในที่สุดว่า ข้าพเจ้ามิได้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และด้วยการสนทนาอย่างเสรีและจริงใจกับท่านอย่างที่ข้าพเจ้าได้ทำไปแล้วนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะในทางใด (ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้ออก “พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมด้วยการกักบริเวณผู้ต้องสงสัยได้เป็นเวลาถึง 10 ปี และยังได้กำหนดระวางโทษการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญไว้ 3 ถึง 7 ปีหรือปรับตั้งแต่ 500 บาทจนถึง 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)  เป็นเวลาช่วงหนึ่งแล้วที่รัฐบาลไม่ยอมให้ข้าพเจ้าให้สัมภาษณ์เป็นการส่วนตัวแก่ชาวยุโรปคนใด

แนวคิดในการปกครองของคณะที่อยู่ในอำนาจปัจจุบันนี้คือ การธำรงรักษาการครองอำนาจ (dominance) ของพวกเขาไว้ ความพยายามและมาตรการทั้งหมดของพวกเขามุ่งไปที่เป้าหมายนั้น หากพวกเขาไม่ถูกโค่นล้มโดยกำลังเสียก่อนโดยขบวนการต่อต้ายภายในของกองทัพบก พวกเขาก็จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปต่อไปจนกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนมติมหาชนอย่างแท้จริง จะสามารถระบุเจตนารมณ์ของตนในลักษณะซึ่ง (ผู้มีอำนาจ) ต้องเชื่อฟัง

พระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ที่ปรึกษาชาวต่างชาติทั้ง 2 คนนี้ มีประเด็นสำคัญยิ่งอยู่อย่างน้อย 3 ประการ                 

ประการแรก พระองค์ได้ทรงอธิบายสถานะของพระองค์และสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำ (หรือมิได้กระทำ) ที่ยังอาจเป็นข้อสงสัยได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไปสงขลาในช่วงเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ ที่ทำให้พระองค์ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และพระราโชบายเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในประเด็นหลังนี้ การที่ทรงเชื่อว่ายุคสมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงแล้วโดยสิ้นเชิง และทั้งศรัทธาและความชื่นชมที่ทรงมีต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งมีสมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ยืนยันชัดเจนอีกครั้งในพระราชดำริเรื่องนี้ที่ทรงมีมาแต่แรก ประการต่อมา เราเห็นได้ชัดเจนจากพระราชดำรัสครั้งนี้ว่า ความไม่ลงรอยในทางความคิดยังคงมีอยู่ระหว่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัฐบาบคณะราษฎรขณะนั้น เช่น ในเรื่องการลงโทษประหารชีวิตผู้ต้องคดีจากเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ความไม่ลงรอยระหว่างกันนี้ยากที่จะประสานให้เข้าด้วยกันได้

ประการสุดท้าย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สำคัญที่สุด ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักแน่ชัดว่า โอกาสที่จะประสานรอยร้าวไม่มีอยู่อีกแล้ว พระราชดำรัสครั้งนี้ ซึ่งแม้จะมิได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวสยามโดยตรง แต่ก็มีลักษณะเหมือนเป็นพระราชดำรัส สั่งเสีย” และ “อำลา”  แม้จะทรงย้ำว่า จะเสด็จพระราชดำเนินจากไปเป็นการชั่วคราวเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติมาตั้งแต่ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน ดังนั้น เมื่อทรงต้องประสบกับสถานการณ์ที่สร้างความตึงเครียดกดดันแก่พระองค์ตลอดระยะเวลาหลังจากนั้น (ทั้งๆที่ทรงมีปัญหาเกี่ยวกับพระเนตรและพระพลานามัยอยู่ตลอดเวลา) ก็มาถึงจุดที่พระองค์ยากจะทรงทนรับสถานการณ์ได้อีกต่อไป เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกจากสยามในเดือนมกราคม พ.ศ. 2477  เพื่อเสด็จประพาสยุโรป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน่าจะทรงได้ตัดสินพระทัยแน่นอนแล้วว่าจะสละราชสมบัติ”

(แหล่งอ้างอิง: ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ?, ธีระ นุชเปี่ยม)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วิสุทธิ์' ลั่นไม่กังวลใครจะอยู่หรือไป เสียงรัฐบาลตอนนี้ 270-280 แล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขอให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้นจะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ว่า ตนไม่ทราบว่าเขาพูดจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม

‘วิทยา’ ย้ำมติ รทสช.ให้เปลี่ยนนายกฯ ชี้อยู่ต่อไม่เกิน 3 เดือน-จริยธรรมจ่อถล่ม

รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุเปลี่ยนนายกฯ คือทางรอดของพรรค ชี้ “แพทองธาร” หมดคุณสมบัติ รอดยากทั้งทางการเมืองและกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องรอผ่านงบฯ 69 เชื่อปัญหาจริยธรรมตามมาเป็นขบวน

'พีระพันธุ์' ชี้ชะตารัฐบาลอิ๊งค์ สมชัยชี้วินาทีเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

สมชัย ศรีสุทธิยากร ชี้ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คือผู้กุมชะตารัฐบาลแพทองธาร ย้ำ หากพีรพันธุ์เลือกถอนตัว จะเป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ก

คลิปหลานฮุนเซนสะเทือน ปชป. 'ชนินทร์' ยื่นทบทวนร่วมรัฐบาล สก.กรุงเทพทยอยไขก๊อก

ชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาฯ ปชป. ร่อนหนังสือถึงหัวหน้าพรรค ขอประชุมทบทวนมติร่วมรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ชี้ประชาชนไม่พอใจ-ฐานเสียงไหล ล่าสุด ส.ก.บางกอกน้อยลาออกกลางกระแสต้านนายกฯ ปมคลิปสนทนาฮุนเซน

'ดิเรกฤทธิ์' ชี้ 4 คดีรุม นายกฯ ไม่ลาออก รัฐบาลก็ไปไม่รอด

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย โพสต์เตือนจับตา 4 คดีใหญ่ที่รายล้อมนายกรัฐมนตรี ทั้งคดีอาญา-รัฐธรรมนูญ-ความมั่นคง ย้ำหากยังฝืนอยู่ในตำแหน่ง รัฐบาลชุดนี้ก็ไปต่อไม่ได้

'เทพไท' หนุนยุบสภาดีกว่าลาออก ชี้คืนอำนาจประชาชน สลายขั้ว-เปิดทางนายกฯใหม่

อดีต สส.นครศรีธรรมราช ชี้ปมคลิปหลุดแพทองธาร ทำให้สังคมกดดันนายกฯต้องแสดงความรับผิดชอบ เสนอ “ยุบสภา” เป็นทางออกในระบบประชาธิปไตย ย้ำมีข้อดีกว่าลาออกทั้งในแง่การเปิดทางคนใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจ และปลดล็อกทางการเมือง