จาก ‘ฉลากเบอร์5’ สู่ห้องเรียนสีเขียวเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้และสังคม

ที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคหลายคนคงเริ่มเห็นหน้าตาของฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ตามเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ กันบ้างแล้ว โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้นได้เดินหน้าการปรับโฉมจากฉลากเบอร์ 5 แบบเดิมมาเป็นแบบใหม่ และกำหนดใช้ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่รวมกว่า 26 ผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เครื่องใช้เล็กๆ อย่างหลอดไฟ ไปจนถึงหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย จักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์ด้วย

“อาทิตย์เอกเขนก” นอกจากจะพาไปรู้จักฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่แล้ว ยังพาไปส่องดูโครงการต่อเนื่องที่ กฟผ.เริ่มดำเนินงานต่อยอดจากการออกฉลากใหม่ ที่แม้จะดูว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ แต่ในเงื่อนไขนั้นมีความลงตัวอยู่ โดยเริ่มจากการพัฒนาฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่นั้นเป็นการยกระดับการประหยัดพลังงานให้เข้มข้นมากขึ้น และเป็นตัวช่วยในการเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมทั้งรักษ์โลกมากกว่าเดิม

โดยการเพิ่มเกณฑ์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความละเอียดมากขึ้นจากเดิม 1-3 ดาว เป็น 1-5 ดาว ทำให้ประชาชนสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ยิ่งดาวมาก ยิ่งประหยัดไฟมาก รวมถึงฉลากรูปแบบใหม่ยังส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการเพิ่มสัญลักษณ์ที่แสดงปริมาณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตลอดช่วงการใช้งาน สัญลักษณ์ที่แสดงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ QR Code เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าที่ระบุไว้

และเพื่อให้การดำเนินโครงการ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” บรรลุผลในการลดการใช้พลังงานโดยรวมของชาติ และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังจากทุกๆ ฝ่าย ดังนั้น กฟผ.จึงใช้แนวทางในการดำเนินโครงการ จึงมุ่งที่จะใช้วิธีจูงใจโดยการสร้างการรับรู้ความถูกต้องในการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มภาคที่อยู่อาศัย ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม

ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “3 อ.” คือ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อาคารประหยัดไฟฟ้า และอุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น อ. อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า:ภาคที่อยู่อาศัย โดยกลุ่มประชาชนในภาคที่อยู่อาศัยเป็นกลุ่มที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 25% ของปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ การดำเนินการในภาคที่อยู่อาศัยนี้จึงมุ่งเป้าหมายไปที่การส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น หลอดอ้วน หมดไปจากตลาดเมืองไทยอีกด้วย

อ. อาคาร/โรงงานประหยัดไฟฟ้า:ภาคธุรกิจ/ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสัดส่วนการใช้พลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม คิดเป็น 75% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ และเพื่อให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม จะต้องมีการบริหารการใช้ไฟฟ้า การปรับปรุงระบบป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร การใช้ระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง และการปรับปรุงระบบแสงสว่างการจัดการอบรมให้ความรู้ด้านการใช้พลังงานอย่างถูกต้อง ลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

และ อ. สุดท้ายคือ อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า:สร้างการเรียนรู้สู่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งต้องยอมรับว่าทัศนคติหรือการรับรู้เรื่องการประหยัดพลังงานมีความจำเป็นต้องตอกย้ำและสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เอง กฟผ.จึงได้แตกแขนงการทำงานผ่านโครงการฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ดำเนินโครงการปลูกฝังอุปนิสัยการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพแก่เยาวชนและประชาชน โดยประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จัดตั้ง “ห้องเรียนสีเขียว” (GREEN LEARNING ROOM) แม้จะดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 แต่การเข้ามาของฉลากเบอร์ 5 ใหม่นี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญ

ซึ่งจะเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมในการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพแก่เยาวชนของชาติตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยม โดยผ่านระบบการศึกษาของประเทศ เพื่อปลูกฝังอุปนิสัยการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้ยั่งยืน และปัจจุบันโครงการห้องเรียนสีเขียวได้มีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในการส่งต่อองค์ความรู้ ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน มุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว (Green Learning Society) ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ

ตัวอย่างที่ผ่านมา กฟผ.ได้ส่งมอบห้องเรียนสีเขียว และปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานภายในอาคารเรียน โรงเรียนมัธยมวชิราลงกรณวราราม จังหวัดนครราชสีมา โดยสามารถปรับให้เป็นห้องเรียน Net Zero หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องจากติดตั้งระบบไฟฟ้า Solar Cell และระบบกักเก็บพลังงาน Battery Storage โดยมีจอแสดงผลการจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ห้องเรียน ที่แสดงวงจรการใช้ไฟฟ้าภายในห้องและคำนวณราคาพลังงานไฟฟ้าที่สามารถประหยัดได้

รวมถึงใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงเบอร์ 5 อาทิ เครื่องปรับอากาศ และหลอดไฟ LED ส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าทดแทนการใช้ไฟฟ้าของอาคารได้ประมาณ 21,500 หน่วยต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11.2 ตันต่อปี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานภายในอาคารเรียน สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่โรงเรียนได้อีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"มนตรี เดชาสกุลสม" ปักหมุดภารกิจเร่งด่วน เชื่อมโครงข่ายถนนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

หลังจาก “มนตรี เดชาสกุลสม” เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) คนที่ 11 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่บุคลากรกรมทางหลวงชนบท

กฟผ.เปิดสนามแข่งจักรยาน มาตรฐานUCI ณ เขื่อนวชิราลงกรณ

กฟผ. จับมือสมาคมกีฬาจักรยานฯ เปิดประเดิมสนามแข่งจักรยานมาตรฐานนานาชาติ (UCI) รับ 3 รายการใหญ่ การแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ การแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์นานาชาติ และการแข่งขัน หนูน้อยขาไถ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2567 ณ สนามจักรยาน เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ คว้ารางวัลสุดยอด CEO รัฐวิสาหกิจดีเด่นสาขา Environment ตอกย้ำการขับเคลื่อนภารกิจองค์กรด้วยความตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับรางวัลสุดยอดซีอีโอรัฐวิสาหกิจ สาขา Environment จากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” ลุยเพิ่มศักยภาพ เร่งเครื่องดันสนามบินสมุยสู่ “Tourism Hub” อ่าวไทย

หากพูดถึงอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ปัจจุบันกลับเติบโตอย่างน่าสนใจหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการมากขึ้น