เปิดแนวคิด‘สอน.’ปรับพันธุ์อ้อย เพิ่มประสิทธิภาพ‘ลดเผา ลดฝุ่น!’

“ฝุ่นพิษ” หรือ PM2.5 ในช่วง 4-5 ปีก่อนคนอาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย และยังไม่ค่อยให้ความสนใจ แถมใช้ชีวิตกันอย่างปกติ แต่ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสถานการณ์เรื่องฝุ่นโหมหนักขึ้น จนสร้างผลกระทบหนักให้กับการใช้ชีวิตของคนในสังคมอย่างมาก ไม่ใช่เพียงฝุ่นละอองทั่วไป แต่ส่งผลไปยังคุณภาพชีวิตและสามารถทำลายสุขภาพได้ จึงทำให้ประเด็นเรื่องฝุ่น ก้าวขึ้นมาเป็นประเด็นหลักที่สังคมให้ความสนใจ และเรียกหาถึงทางแก้ไขกันมากขึ้น

แม้ที่ผ่านมาทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเดินหน้าหาหนทางแก้ปัญหากันมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถสะสางให้ประเด็นนี้เบาบางลงได้ ดูได้จากยอดสะสมของ PM ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความมุ่งมั่นที่จะทำงานก็ยังต้องเดินหน้าต่อ ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเราจึงได้เห็นมาตรการต่างๆ ที่ชัดเจนจากหลายๆ หน่วยงานเข้ามาทำงานเพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษนี้มากขึ้น “อาทิตย์เอกเขนก” ฉบับนี้จึงอยากชวนมาดูถึงแผนการทำงานของหนึ่งในหน่วยงานที่ถือเป็นโจทก์เรื่องฝุ่นมากที่สุด

คือ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. ที่บริหารจัดการเรื่องอุตสาหกรรมอ้อยทั่วประเทศ จัดการและจัดแจงการเก็บอ้อย ขาย ส่งออกน้ำตาลทราย รวมถึงมาตรการดูแลชาวไร่ กำหนดราคาขั้นต้นและขั้นปลายทั้งปี แถมที่ผ่านมาก็ได้แผนงานที่พยายามจะแก้เรื่องฝุ่นมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาพันธุ์อ้อยให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และพร้อมที่จะนำไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่แตกต่างกัน

โดยงานที่ สอน.ดำเนินการ ได้แก่ กระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาพันธุ์อ้อยสายพันธุ์ใหม่ มุ่งเน้นให้พันธุ์อ้อยมีความเหมาะสมต่อการใช้งานโดยเครื่องจักรกลการเกษตร ลดการเผาใบ ลดต้นทุนการผลิตอ้อย สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ซึ่งเป็นหนึ่งในการสนับสนุนการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย และลดฝุ่น

ทั้งนี้ การผสมพันธุ์อ้อยจนถึงได้อ้อยพันธุ์ดีสายพันธุ์ใหม่ และขยายพันธุ์อ้อยเพื่อส่งเสริม ใช้ระยะเวลาประมาณ 8-12 ปี โดยใช้งบประมาณการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี ทั้งงบด้านวิจัยพัฒนา-ส่งเสริมพันธุ์-งบบุคลากรในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ทั้งนี้หากใช้เวลา 12 ปีในการพัฒนาพันธุ์อ้อยจนได้อ้อยสายพันธุ์ใหม่ และขยายพันธุ์สำหรับส่งเสริมจะใช้งบประมาณรวม 240,000,000 บาท ซึ่งอ้อยพันธุ์ดีสายพันธุ์ใหม่สามารถนำไปปลูกได้ 1% ของพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 11 ล้านไร่ จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยสายพันธุ์ใหม่ของ สอน. จำนวน 110,000 ไร่

ขณะเดียวกัน เดิมทีพันธุ์อ้อยจะมีการเสื่อมของพันธุ์ หากมีการปลูกต่อเนื่องอย่างยาวนานจะส่งผลให้พันธุ์อ้อยมีความต้านทานต่อโรคและแมลงน้อยลง จึงต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อมาทดแทนอ้อยสายพันธุ์เดิมที่เกษตรกรใช้ปลูก การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยจึงควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพันธุ์อ้อยที่มีปริมาณผลผลิตและคุณภาพที่สูง สามารถที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย และส่งผลถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

นอกจากการพัฒนาพันธุ์อ้อยแล้ว การแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2567/2568 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย เพื่อลดปัญหาฝุ่นมลพิษ PM2.5 โดยจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยร่วมมือในการตัดอ้อยสดสะอาดคุณภาพดี และการขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลลด ชะลอ ระงับ และยับยั้งการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ โดยได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และสร้างการตระหนักรู้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูการหีบอ้อย

รวมถึงชี้แจงแนวทางปฏิบัติ ตัดอ้อยสด แนวทางการลดการเผาอ้อย รวมทั้งความเสียหายที่เกิดจากการเผาอ้อย ให้เห็นถึงข้อเสียของการเผาอ้อย พร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องผ่านทางสื่อออนไลน์ การประชุม การสัมมนา และรูปแบบข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจูงใจเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นวงเงินสนับสนุนให้ตัดอ้อยสดมากขึ้น ซึ่งได้มีการแจ้งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรับทราบก่อนถึงช่วงเวลาเริ่มต้นการตัดอ้อย

ประกอบด้วย การสนับสนุนเงินสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด 100% ผลักดันให้ลดการเผาทั้งก่อนและหลังการตัดอ้อย (ต้นน้ำถึงปลายน้ำ) และส่งเสริมให้มีการรับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อไม่ให้มีการเผาใบและยอดอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว โดยการสนับสนุนเงินเพิ่มให้แก่ผู้ขายและผู้รับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อจูงใจการขายและรับซื้อใบและยอดอ้อย ป้องกันไม่ให้มีการเผาหลังเก็บเกี่ยว

กลายเป็นมาตรการที่ถือว่าได้ผลดีเลยทีเดียว เพราะจากที่มีการแสดงตัวเลขของ สอน. ทำให้ปีนี้ยอดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือ 18.90% รายวันอยู่ที่ประมาณ 14.67% ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ให้เกิน 25% แล้วด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชูภารกิจปั้น“กรมธนารักษ์”ยุคใหม่! เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ปั๊มMaster Planยกระดับทรัพย์สินรัฐ

“กรมธนารักษ์” ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ที่มีภารกิจสำคัญทั้งในเรื่องการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ให้ใช้ จัดประโยชน์ และพัฒนาที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ

“กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา”พลิกฟื้นรถเมล์ไทย เปลี่ยนถ่ายยุคสันดาปสู่พลังงานสะอาดลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

คงต้องบอกว่าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายๆ ท่านคงได้หยุดพักผ่อนกัน แต่สำหรับไทยโพสต์ยังคงไม่หยุดที่จะหาสาระดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง