ประชาธิปไตยไหวหรือเปล่า

เบื่อการเมืองไทย ไปดูการบ้านการเมืองต่างประเทศกันหน่อย

มีเรื่องให้ตกใจไม่น้อยทีเดียว

เลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบ ๒ วันที่ ๒๔  เมษายน

ขณะนี้อยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว

ทั้ง ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง และ มารีน เลอเปน ผู้ท้าชิง เร่งปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งกันมันหยด เรียกว่าใส่กันเต็มแม็ก

ใครพลาดก็กลายเป็นศพทางการเมืองทันที

บทบาทของ "มาครง" เราคงรู้ดีกันอยู่แล้ว แต่ "เลอเปน" อาจจะยังใหม่สำหรับคนไทย 

"เลอเปน" มาจากพรรคขวาจัด หวังได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ นโยบายแตกต่างจาก "มาครง" แทบจะกลับหลังหัน

เช่น ต่อต้านผู้อพยพ ห้ามหญิงมุสลิมสวมผ้าคลุมศีรษะหรือฮิญาบในที่สาธารณะ

จะจัดการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดสิทธิ์ของผู้อพยพ

รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย การทำงาน และสุขภาพ แก่ชาวฝรั่งเศส มากกว่าผู้ที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส

ให้ฝรั่งเศสออกจากโครงสร้างการบังคับบัญชาทางทหารของนาโต

ลดการสนับสนุนความเป็นสหภาพยุโรป (อียู)

"คืนดีในเชิงยุทธศาสตร์" (strategic rapprochement)  กับรัสเซียทันทีที่สงครามยุติลง เพื่อไม่ให้รัสเซียหันไปจับมือกับ “จีน” สร้างกลุ่มพันธมิตรที่เข้มแข็งท้าทายตะวันตก

ที่เจ็บแสบและได้ใจชาวฝรั่งเศสจำนวนมากคือ สหรัฐฯ  ควรจ่ายเงินชดเชยแก่ฝรั่งเศส สำหรับความเสียหายต่างๆ  หากว่าอียูกำหนดมาตรการแบนนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

"อเมริกาที่จะขายก๊าซธรรมชาติเหลวแก่เราและทำกำไรอย่างงดงามจากมัน ควรโอนเงินให้ฝรั่งเศสเป็นค่าชดเชยสำหรับมาตรการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซีย"

แต่แนวคิดนี้ฝั่ง "มาครง" มองว่าสุดโต่ง

ขนาดคนไทยลี้ภัยในฝรั่งเศสยังมาผสมโรงด้วย 

วันก่อน "จรัล ดิษฐาอภิชัย" โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า

...ฝรั่งเศส จะมีการปฏิวัติเลือกตั้งประธานาธิบดี รอบสอง ๒๔ เมษายน จะมีคนไม่ไปออกเสียงจำนวนมาก   เพราะมีคน ๒ Ni ไม่เอาทั้ง ๒ คน

  Ni Macron Ni LePen 

โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษา ซึ่งสัปดาห์ก่อน พวกเขาที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนประท้วง เผาตึกคณะ

ผมก็เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้...

แสดงว่าคนฝรั่งเศสกำลังเบื่อ ระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ถึงขนาดเผาตึกกันแล้ว

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน วานนี้ (๒๐ เมษายน) สำนักข่าว China Xinhua News รายงานผลสำรวจพบว่า ชาวเยอรมนี เชื่อมั่น ระบอบประชาธิปไตย น้อยลง

รายละเอียดของข่าวมีดังนี้ครับ

ผลสำรวจทั่วประเทศของสถาบันอัลเลนส์บาค (Allensbach Institute) พบราวร้อยละ ๓๑  ของประชากรเยอรมนี เชื่อว่าพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ภายใต้  "ประชาธิปไตยปลอมๆ ที่พูดอะไรไม่ได้"

ขณะร้อยละ ๒๘ เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยของเยอรมนีต้องถูกเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

คณะนักวิจัยระบุว่า ผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ชาวเยอรมนีเกือบหนึ่งในสามคลางแคลงใจกับระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

ส่วนผลสำรวจจากมูลนิธิเบอร์เทลส์มันน์  (Bertelsmann Foundation) ในปีนี้ พบชาวเยอรมนีเชื่อมั่นในสถาบันประชาธิปไตยและพึงพอใจในระบอบประชาธิปไตยลดลงอย่างมาก หลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-๑๙) ผ่านมา  ๒ ปีแล้ว

ผลสำรวจเมื่อฤดูร้อน ปี ๒๐๒๐ พบร้อยละ ๔๕ ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อมั่นในรัฐบาลกลาง

ทว่าผลสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๒๒ พบตัวเลขดังกล่าวลดลงอยู่ที่ร้อยละ ๑๘ เท่านั้น

ด้านสัดส่วนผู้พึงพอใจกับประชาธิปไตยในเยอรมนีลดลงจากร้อยละ ๖๑ อยู่ที่ร้อยละ ๔๒

ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวประชาธิปไตยในอเมริกาค่อนข้างครึกโครม  ผลโพลเผยว่า ชาวอเมริกัน ๕๘% เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะล่มสลาย

โพลที่ว่านี้จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์กลุ่มผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ บุกโจมตีอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ

ชาวอเมริกัน ๖ ใน ๑๐ คน มีความเชื่อดังกล่าว

มหาวิทยาลัยควินนิเพียก เผยผลสำรวจ แสดงให้เห็นว่า ๗๖% ของผู้ตอบแบบสำรวจคิดว่าความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในสหรัฐฯ เป็นอันตรายมากกว่าภัยคุกคามจากต่างประเทศ

ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ ๕๘% เห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการล่มสลาย โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยเพียง ๓๗%

ขณะเดียวกัน ๕๓% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่า ความแตกแยกทางการเมืองในประเทศจะเลวร้ายลงตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา

สถานการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณด้านลบมาสักระยะหนึ่งแล้ว

นิตยสาร The Economist เคยตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๕๗

พูดถึงจีนว่า ไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยตะวันตก พรรคคอมมิวนิสต์จีนควบคุมทุกกลไกของประเทศ

เปลี่ยนผู้นำระดับสูงทุก ๑๐ ปี คัดเลือกคนเก่งตามผลงาน

ทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ความล้มเหลวในระบอบการเลือกตั้ง ในรัสเซีย  อิรัก อียิปต์ ซีเรีย ลิเบีย แอฟริกาใต้ ตุรกี ตอกย้ำว่าระบอบที่อ้างการเลือกตั้งเป็นหลักนั้น

ก็ยังหลุดเข้าไปสู่ระบบเผด็จการและคอร์รัปชัน

"วินสตัน เชอร์ชิล" อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยนิยามว่าประชาธิปไตยเป็น ระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด

มาถึงวันนี้ผู้คนทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา ล้วนตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยไปต่อได้หรือเปล่า

กลับมาที่ไทย

ช่วง ๑๐ กว่าปีมานี้ ขั้วการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มมวลชน พากันเรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ถากถางฝั่งตรงข้ามว่า ฝ่ายเผด็จการ

มันเกิดคำถามเยอะครับ

ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

แต่ข้องใจคนที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เพราะจำนวนไม่น้อย อาศัยในคอกการเมือง มีเจ้าของชัดเจน

แล้วแต่นายชี้นิ้วสั่ง

ฉะนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายเผด็จการ หรือขวาจัด

แต่อยู่ที่ คนคิดว่าตัวเองอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ยิ่งตอกย้ำกันเยอะ พูดกรอกหูกันทุกวัน ว่าตัวเองอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยิ่งทำให้ประชาธิปไตยไทยดูแย่ลงไปเรื่อยๆ

ประชาธิปไตยมันต้องมีอิสระไม่ถูกครอบงำ

นี่อะไรกัน ปล่อยคนโกงชาติบงการแทบทุกอย่าง

ครับ...ประชาธิปไตยยังคงเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด

แต่ก็เป็นระบอบการปกครองที่คนชั่ว คนโกง จับเป็นตัวประกันเรื่อยมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไร้ภาวะผู้นำ

ศึกนายพลสีกากีดูเพลินๆ ไปครับ ขุดกันเยอะเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น

'ครอบงำ' หัวจรดเท้า

"พรรคของท่าน ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะไป" วานนี้ (๒๖ มีนาคม) นายหัวชวน หลีกภัย พูดถึง "นักโทษชายทักษิณ" ผู้ป่วยที่เดินแทบไม่ได้เมื่อเดือนที่แล้ว ไปเหยียบที่ทำการพรรคเพื่อไทย ด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง ก็จริงนะ...

ผู้สานต่อสันดาน

คนเขาสงสัย... ระหว่างการคุมประพฤติ นักโทษ จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร?

ก้าวไกล ไม่รอด!

จะเกี่ยวกันมั้ย??? พรรคอนาคตไกล ร่อนหนังสือเชิญสื่อทุกแขนง ไปร่วมพิธีเปิดที่ทำการพรรค และพิธีบวงสรวง เจริญพระพุทธมนต์ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม

หมากนี้จะกินรวบ

เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ เพราะว่าไปแล้วมันก็น่าประหลาดใจกับคำสั่งเรียก "บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก" ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี