นายกฯคนต่อไป

เลือกตั้งคราวหน้าน่าจะสนุก

ยังไม่รู้จะได้หย่อนบัตรกันวันไหน แต่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างกันแล้ว

เพื่อไทย ก็น่าจะตายตัวที่ "อุ๊งอิ๊ง" เพียงรายชื่อเดียว

ประชาธิปัตย์ถึงจะมีมรสุมหนัก แต่ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ยังคงได้ไปต่อ

ก้าวไกล ยังเป็น "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"

สำหรับพลังประชารัฐ คงจะงงๆ อยู่บ้าง จะเป็น "ลุงตู่" อีกสมัย หรือ "ลุงป้อม" จะมาแทน ยังไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่ แฟนๆ ยังต้องลุ้นกันตัวโก่ง

ภูมิใจไทย "อนุทิน ชาญวีรกูล" นอนมา

สร้างไทย "เจ๊หน่อย" จอง

สดๆ ร้อนๆ สร้างอนาคตไทย ชู "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์"

สรุปแล้วนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก็อยู่ในกลุ่มรายชื่อนี้ครับ

"ได้เป็น" กับ "เป็นได้" คือสิ่งที่พูดกันมาตลอดสำหรับบุคคลที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร เพราะหลายคน "ได้เป็น"

แต่เป็นไม่ค่อยจะได้เรื่อง

ปีหน้าแทบทุกประเทศทั่วโลกยังคงบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการระบาดของ โควิด-๑๙ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เราจะมีนายกฯ ที่ "ได้เป็น" อย่างเดียวไม่ได้

ต้อง "เป็นได้" อย่างสมบูรณ์แบบ ถึงจะพาชาติรอด

เราอาจต้องมีนายกรัฐมนตรี ที่สามารถเทียบชั้น "รัฐบุรุษ" ได้

รัฐบุรุษ คือผู้ได้รับยกย่องอย่างสูงว่ามีความรู้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งได้ประกอบคุณงามความดีมากมายเป็นที่ประจักษ์

สำหรับในประเทศไทย มีผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น รัฐบุรุษ ๒ คน คือ

๑.นายปรีดี พนมยงค์

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร เนื่องด้วยทรงบรรลุนิติภาวะ นายปรีดีจึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘

๒.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง พล.อ.เปรม ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและตัวอย่างอันดีงาม เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๑

เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลว่า พล.อ.เปรม ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งที่สำคัญ ทั้งด้านทางทหารและการบริหารราชการแผ่นดิน มาหลายตำแหน่ง เป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๘ ปี ๕ เดือน ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฯลฯ

โฟกัสไปที่ "ป๋าเปรม" ครับ

เด็กรุ่นหลังไม่ได้รู้จัก "ป๋าเปรม" ในแง่มุมข้อเท็จจริง แต่ว่าตามเสียงปลุกปั่นในโซเชียล ที่มีขบวนการทำลายล้างอยู่เบื้องหลัง 

เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไรให้คนรุ่นหลังยกย่องเป็น รัฐบุรุษ?

"ป๋าเปรม" ทำในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีแทบทุกคนทำไม่ได้

คือการสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติ

ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในอดีต รุนแรงกว่าในปัจจุบัน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคทั่วประเทศไทย

สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปจำนวนมาก

หลังจากที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง ๕๐ วัน ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓

เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๓

สมัยนั้นมีคำกล่าวว่า ชัยชนะทางการทหารของฝ่ายรัฐบาลใน “ยุทธการช่องช้าง” และความสำเร็จของนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" อาจไม่เกิด ถ้า พล.อ.หาญ ลีนานนท์ ไม่ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ ๔

คอมมิวนิสต์คงยังไม่หมดไปจากภาคใต้

และหากไม่มี "ป๋าเปรม" ไม่มีนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ คอมมิวนิสต์ครองเมือง

สิ่งที่ "ป๋าเปรม" คิดในหัวคือ การสลายคอมมิวนิสต์ด้วยการพัฒนาชนบท

ฉะนั้นเมื่อ "ป๋าเปรม" ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๒๓ แล้ว ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา วันที่ ๒๘ มีนาคม ได้มีการกำหนดนโยบายเรื่องการพัฒนาชนบทไว้ในนโยบายของรัฐบาลโดยทันที

คือ "การสร้างงานในชนบท"

หลังจากนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทยอยวางปืนออกจากป่า มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย 

คนไทยรุ่นหลังที่รักใน เสรีภาพ และประชาธิปไตย อาจมองบรรยากาศความขัดแย้งในอดีตไม่ออก และคิดว่ายุคที่ตัวเองเติบโตมาเป็นยุคที่ประเทศไทยห่วยแตกในทุกเรื่องอย่างแสนสาหัส

กรณีแดงเผาเมืองยังไม่ได้ครึ่ง คนไทยใช้อาวุธสงครามไล่ฆ่ากันยุคคอมมิวนิสต์เติบโตสุดขีด

แต่ "ป๋าเปรม" สามารถแก้ปัญหา และสร้างความสมานฉันท์ในชาติได้

ครั้งหนึ่งในการอภิปรายในสภาของ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ขณะนั้นยังมีสถานะเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอแนะให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินตามแนวทาง "ป๋าเปรม" 

คือยึดเอาแนวทางตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ มาประยุกต์ใช้เพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ

ความสมานฉันท์ คือสิ่งที่คนไทยทุกคนโหยหามาตลอด หลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ เมื่อกว่าสิบปีก่อน

แทบทุกพรรคล้วนมีนโยบายสร้างความสมานฉันท์ในการปราศรัยหาเสียงหลายครั้งที่ผ่านมา

แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหน สร้างความสมานฉันท์ได้จริง

กลับกัน มีแต่สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมาอีก  

นี่เองจึงไม่มีผู้นำยุคหลังเข้าใกล้คำว่า รัฐบุรุษ

ด้านเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ไม่มีรัฐบาลไหนสร้างรากฐานในการพัฒนาประเทศเฉกเช่นที่ "ป๋าเปรม" ทิ้้งเป็นมรดกไว้

การพัฒนาอุตสาหกรรม การพลิกโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ด ให้คนรุ่นหลังได้เก็บกิน คืออีกสิ่งที่ทำให้ "ป๋าเปรม" ได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ

ก็ลองเช็กรายชื่อดูครับว่า "ว่าที่นายกรัฐมนตรี" คนต่อไป ใครพอมีศักยภาพ สร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ได้บ้าง

คิดว่าใครใช่ก็เลือกคนนั้น

แต่ถ้ายังไม่ใช่ ก็เสียใจด้วย

เพราะตัวเลือกมีอยู่แค่นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง