ประชาธิปัตย์ยังอยู่

หยอก กันบ่อยไปนะ

"แรมโบ้อีสาน" ต้องทิ้งเก้าอี้ทางการเมือง ก็เพราะเรื่อง  "หยอก" นี่แหละ  

นี่...มาอีกคน "นิโรธ สุนทรเลขา" ตำแหน่งใหญ่โตไม่แพ้กัน เป็น ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

อ้างคำพูด "ลุงป้อม" เจอ "ทักษิณ" ที่ลอนดอนหรือเปล่าไม่รู้ แต่ฝากความคิดถึงด้วย

ฟังแล้ว ก็แล้วแต่จะคิดครับ

เจอจริง กับ หยอกเล่น

เป็นไปได้หมด

แต่หากฟังให้จบ ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่คิด

เอาตามคำพูดของ "นิโรธ สุนทรเลขา" นะครับ

...ผมได้สอบถามว่า ได้เจอกับ คุณทักษิณ หรือไม่ ท่านประวิตร นิ่งเงียบไปพักนึง ก่อนตอบว่า เขาฝากความคิดถึงให้ผมด้วย ก่อนจะถามผมกลับว่า ผมเป็นผู้สื่อข่าวสำนักไหน เพราะถามเหมือนเป็นนักข่าว...

ครับ....เรื่องมันเป็นแบบนั้น

ฝั่ง "ลุงป้อม" บอกว่า อำเล่น ไม่ได้ไปพบกัน เป็นการหยอกล้อเล่นๆ เท่านั้น   

เจี๊ยะป้าบ่อสื่อ!

ในทางการเมือง คนรักลุงตู่ คือคนไม่เอา ทักษิณ

คนรักลุงตู่ ไม่ได้รักลุงป้อม ไปหมดทุกคน

ส่วนลุงป้อม กับลุงตู่ ก็คงจะรักกันอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละครับ แต่ศรัทธาทางการเมืองมีจุดเริ่มต้นจากความไว้วางใจ ฉะนั้นหยอกแบบนี้ไม่เป็นผลดี

เมื่อมีข่าว "ลุงป้อม" นัดเจอ "ทักษิณ" ที่ลอนดอน จริงหรือไม่ก็ตามแต่ มันสั่นคลอนความเชื่อมั่นไปแล้วพอสมควร

เพราะมีคนเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า "ลุงป้อม"  สามารถจับมือกับ "ทักษิณ" ได้

แต่ถ้าทำอย่างนั้น จะไม่มีที่ยืนให้ "ลุงตู่"

ก็หมายความว่า "ลุงตู่" ต้องเกษียณไป

หรือไม่ก็ไปยืนอีกข้าง

สมการนี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะการเมืองมักมาคู่กับความไม่แน่นอนเสมอ

หลายเดือนมานี้เจอคำถามตลอดว่า พลังประชารัฐ สามารถผสมพันธุ์กับเพื่อไทยได้หรือไม่ ก็ตอบแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก...

ในทางการเมืองทุกอย่างเป็นไปได้

เป็นไปได้แม้กระทั่ง เพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ ๑  พลังประชารัฐเป็นลำดับ ๒ และ ๒ พรรคนี้ตั้งรัฐบาลด้วยกัน  มี "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกรัฐมนตรี

ประชาชนจะโห่ไล่หรือไม่เป็นอีกเรื่องนะครับ

แต่การจับขั้วตั้งรัฐบาลเคยเกิดปรากฏการณ์ย้ายข้างที่คาดไม่ถึงกันบ่อยๆ

เช่นช่วงตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์

พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้าน เดินกันตีนขวิด ติดต่อ ๔ พรรคร่วมรัฐบาลเดิม คือ ชาติไทย เพื่อแผ่นดิน  (บางส่วน) มัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา รวมไปถึง ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินที่แตกออกมาจากพรรคพลังประชาชน เพื่อให้ได้ ส.ส.ในสภาเกิน ๒๕๐ ที่นั่ง

นั่นจึงจะสามารถโหวตให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรีได้

ส่วนขั้ว เพื่อไทย รวมกับพรรคเพื่อแผ่นดินและประชาราช ได้ ๒๒๘ เสียง แก้เกมดึงเสียงกลับ เสนอให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เจ้าของสูตรการเมืองูเห่าในตำนาน ขณะนั้นสังกัดพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แลกกับการสลับขั้ว

แต่ล้มเหลว

ทักษิณ สั่งพลิกเกมใหม่ เสนอให้ พล.ต.อ.ประชา  พรหมนอก ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อดึงเสียงกลับเช่นกัน

สุดท้าย "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น เป็นมือประสานร้อยทิศ รวบรัดตัดความ มีภาพการกอดกันตัวกลมของ "เนวิน-อภิสิทธิ์"

การตั้งรัฐบาลจึงปิดดีลไปเรียบร้อย

"อภิสิทธิ์" เป็นนายกฯ

ฉะนั้นไม่ยากหรอกครับ หากหลังเลือกตั้งจะเกิดการสลับขั้วการเมืองขึ้น

ย้อนอดีตการเมืองแบบนี้ทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการของพรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุด "วิทยา แก้วภราดัย" โบกมือลาไปอีกคน ฟางเส้นสุดท้าย เพราะท่าทีผู้บริหารพรรคจากกรณี ปริญญ์ พานิชภักดิ์

ฟังแล้วขนลุกครับ!

 “อย่าให้พรรคช้ำจนไม่เหลือชื่อประชาธิปัตย์  ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่เหลือพรรค

คำว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะเราถูกสอนมาว่าต้องรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้สึกของประชาชน  ไม่ใช่เกาะเกี่ยวเหนียวติดอยู่กับตำแหน่ง ผมถูกฝึกมาอย่างนั้น

พรรคเป็นของทุกคน พรรคก็เป็นของผม แต่ผมต้องหาคนรับผิดชอบให้ได้ เมื่อไม่มีใครรับผิดชอบ ผมต้องเลือกปกป้องพรรค”

มีคนเดินออกจากประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่อง แฟนคลับประชาธิปัตย์อาจคิดว่าถึงจุดที่ประชาธิปัตย์ไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

ไม่ขนาดนั้นครับ

เสธ.หนั่น ถือเป็นโลโก้ของประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ

๑๓ ปีในตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่ายาวนาน แต่สุดท้ายก็ต้องไป

ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ๕ ปี ต้องลาออกจากประชาธิปัตย์ทุกตำแหน่ง

พ้นโทษมา เสธ.หนั่น ไม่กลับประชาธิปัตย์ ไปก่อตั้ง พรรคมหาชน กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แทน

๒ ปีให้หลังไปเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย ในชายคาของ บรรหาร ศิลปอาชา

นั่นคือคนที่เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์นานถึง ๑๓ ปี

อีกกรณีคือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

หลังการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ปี ๒๕๔๘ ประชาธิปัตย์  เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารพรรคครั้งใหญ่ สุเทพ ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค

ปลายปี ๒๕๕๖ "สุเทพ" ลาออกจาก ส.ส. พร้อม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ๘ คน ไปเป็นแกนนำชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทักษิณ ก่อนพัฒนาเป็น กปปส.

จบการชุมนุม "สุเทพ" ไม่ได้กลับประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย

แต่ประชาธิปัตย์ก็เดินมาได้ถึงทุกวันนี้

แม้บุคลากรของพรรคจะออกไปเรื่อยๆ

กรณ์ จาติกวณิช ไปตั้งพรรคกล้า

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ไปอยู่สร้างอนาคตไทย

หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ตั้งพรรคไทยภักดี

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กษิต ภิรมย์

วิฑูรย์ นามบุตร

วันนี้ประชาธิปัตย์ยังอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง