นายกฯ คนนอกคนไหน?

เลิกพูดเถอะครับ...นายกฯ สำรอง

เพราะไม่มีสำรอง

หาก "ลุงตู่" ไป กระบวนการเลือกนายกฯ ในรัฐสภา ก็ว่าไปตามรัฐธรรมนูญ

นายกฯ ที่มาต้องเป็นของจริง

ก็ยังมองไม่ออกว่า "ลุงป้อม" จะเป็นนายกฯ สำรองได้ไง

ประการแรก "ลุงป้อม" ไม่ได้มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่แรก

พูดง่ายๆ คือ ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี

ฉะนั้น ไม่เข้าข่าย

แล้ว "ลุงป้อม" จะเป็นนายกฯ นอกบัญชีได้หรือไม่

ในทางทฤษฎีเป็นได้

 เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา  ๒๗๒ วรรคสอง บัญญัติว่า

...ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป  โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ หรือไม่ก็ได้

สรุปคือ หากเกิดกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบุคคลที่เป็นนายกฯ ในบัญชี ของแต่ละพรรคการเมืองได้  สมาชิกทั้ง ๒ สภา คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รวมกันเท่าที่มีอยู่ สามารถเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อ นายกฯ ในบัญชีของแต่ละพรรคได้

หลังจากนั้นประธานรัฐสภาต้องจัดให้ประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว.

หากมีมติไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ให้ยกเว้นได้ ก็ให้ดำเนินการโหวตนายกฯ

ถึงตอนนี้ ชื่อ "ลุงป้อม" จึงจะโผล่มา

แต่...ในทางปฏิบัติ งมเข็มในมหาสมุทรเสร็จเข็นครกขึ้นภูเขาต่อ

แม้จะมาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถูกใจคนจำนวนมากแน่นอน

รวมทั้ง ส.ว.บางส่วน

"ลุงป้อม" เป็นนายกฯ ด้วยวิธีนี้เมื่อไหร่ ก็คงต้องบริหารประเทศไปพร้อมๆ กับบริหารสารพัดม็อบที่ถาโถมเข้ามา

ในทางการเมืองมันยากครับที่จะเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น

เพราะบุคคลในบัญชีพรรคการเมืองยังมีอยู่อีกหลายคน

แล้วจะอธิบายว่าถึงทางตันได้อย่างไร

ฉะนั้นหากจะเอาชื่อ "ลุงป้อม" มาจริงๆ ก็คงต้องหาเหตุผลมาประกอบกันยืดยาวทีเดียว และใช่ว่าผู้คนในสังคมจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ง่ายๆ

ชื่อที่มีอยู่มีใครบ้าง?

ถ้านับตามขั้วเดิมก็เป็นโอกาสของ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากประชาธิปัตย์

อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย

แต่ดูทรงแล้ว "อนุทิน ชาญวีรกูล" ภาษีดีกว่า

ส่วนอีกขั้วหลักๆ จากเพื่อไทย

ชัยเกษม นิติสิริ           

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไปตั้งพรรคใหม่ ไทยสร้างไทย

ส่วน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปสมัครผู้ว่าฯ กทม.

และการเลือกนายกฯ ใหม่เกิดได้กรณีเดียวคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "ลุงตู่" เป็นนายกฯ ครบวาระ ๘ ปี ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ที่จะถึงนี้ เท่านั้น

ไม่มีกรณีอื่น!

โอกาสที่ "ลุงตู่" ประกาศลาออก เพื่อเลือกนายกฯ ใหม่ เป็นศูนย์

ส่วนยุบสภาหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

แต่ไทม์ไลน์รัฐบาล หลังเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกช่วงปลายปี อาจมีการยุบสภา หรือไม่ก็อยู่จนครบวาระ

ช่วงเวลาของ ๒ เงื่อนไขห่างกันแค่ ๓-๔ เดือนเท่านั้น

ครับ....ช่วงหลังไม่บ่อยที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จะออกสื่อ

ครั้นออกมาทีก็ต้องฟังกันบ้าง

สัมภาษณ์ช่องยูทูบสภา พูดถูกหลายเรื่องครับ

อาทิ ข้อกังวลเรื่อง ทักษิณ ส่งลูกสาวเล่นการเมืองอาจซ้ำรอยยิ่งลักษณ์

และอาจนำไปสู่การทำรัฐประหาร ซึ่งไม่อาจยอมรับกันได้อีกแล้ว

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำถามถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ ท่าทีและการเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตย

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" บอกว่า "ลุงตู่" ไม่ฟังเด็ก

"นี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยเห็นสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้นจากผู้มีอำนาจ ว่าพร้อมที่จะคุยพร้อมที่จะฟังว่า ความต้องการคืออะไร ที่เห็นด้วยเห็นต่างคือตรงไหน"

และยกเหตุผลประกอบ ๓ ข้อ

๑.ทุกยุคทุกสมัยผู้มีอำนาจก็จะมีปัญหานี้ไม่มากก็น้อย รู้สึกว่าการที่คนมาต่อต้าน มาเรียกร้องอะไรไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ก็อาจจะมีความเชื่อตรงนั้นเป็นพื้นฐานเหมือนกัน

๒.เนื่องจากการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในรอบ ๒-๓  ปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนทางสังคม จึงยิ่งกังวลและลังเล เสมือนกับว่าไม่แตะต้องหรือไม่ยุ่งเรื่องนี้ดีกว่า แล้วก็ใช้กฎหมายหรืออะไรก็ตามเป็นเครื่องมือไป

๓.บังเอิญสภาวะแวดล้อม วัฒนธรรมและการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ เขาเติบโตมาในยุคที่การสื่อสารมันแรง เพราะรับความสนใจ

โฟกัสไปที่ข้อ ๒ และ ๓ ครับ

เข้าใจว่าข้อนี้ "ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ" หลานชาย ที่ไปเป็นผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล น่าจะรู้ลึกซึ้งดี

การเปิดรับฟังเด็กรุ่นใหม่ ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่ยากครับ เพราะเขามีชุดความคิดสำเร็จรูปอยู่ในใจแล้ว ถ้าไม่ใช่คือไม่ฟัง

ไม่ฟัง และพร้อมที่จะสื่อสารกลับอย่างรุนแรง

ที่จริง "ลุงตู่" ก็ไม่ได้เพอร์เฟกต์อะไรครับ มีข้อด้อยเยอะเหมือนกัน 

แต่ข้อดีซึ่งคนอื่นอาจมองเป็นข้อเสียคือ วิธีการจัดการกับปัญหาไม่ให้บานปลาย อย่างน้อยก็ตอนนี้

ทุกรัฐบาลเจอม็อบครับ อยู่ที่วิธีการจัดการ ทำอย่างไรไม่ให้บานปลายรุนแรง

สมัยคุณอภิสิทธิ์ ก็อย่างที่ทราบ เสื้อแดงเผาเมือง  ประเทศแทบจะหยุดชะงัก เพราะความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมาก

มายุค "ลุงตู่" เด็กๆ แสดงออกรุนแรงเช่นกัน

การสื่อสารที่ออกมาแต่ละครั้งรุนแรง และหยาบคาย เป็นประวัติการณ์

โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์  แต่เนื้อแท้คือ ไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์

ก็เป็นเรื่องยากที่จะคุย เพราะโจทย์มันเป็นแบบนั้น

การใช้กฎหมายเข้าจัดการ ถูกมองว่าปิดปาก แต่อีกด้านหนึ่งลดดีกรีความรุนแรงลงไปมากโขทีเดียว

อย่างน้อยวันนี้ไม่มีม็อบขนาดใหญ่ ทั้งที่ก่อนนี้มีความพยายามหลายครั้ง และสูญเสียกันไปพอสมควร

แต่วันนี้ประเทศเดินหน้าไปได้ แม้จะไม่เต็มสูบเพราะปัจจัยภายนอก ทั้ง โควิด-สงคราม ที่รัฐบาลอื่นไม่ซวยต้องมาเจอเหมือนรัฐบาลนี้

ครับ...ถ้า "ลุงตู่" ตกม้าตายเพราะ นายกฯ ๘ ปี ก็เลือกนายกฯ ใหม่

นายกฯ คนใหม่ก็ต้องเข้ามาจัดการปัญหา เอาแค่ปัญหาคนรุ่นใหม่โจมตีสถาบันฯ ใครพอเข้าข่ายจะบริหารจัดการได้บ้าง

หรือต้องมีนายกฯ คนนอกจริงๆ

แต่ไม่ใช่ "ลุงป้อม".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง