การเมืองวนในอ่าง

ช่วงนี้ข่าวการบ้านการเมืองวนในอ่าง

นายกฯ สำรอง นายกฯ คนนอก เวียนไปวนมาให้ตาลายเล่น

ถ้ายังพูดกันต่อ ก็ต้องว่ากันอีก ๔ เดือนเป็นอย่างน้อย เพราะปม นายกฯ ๘ ปี ต้องรอปลายเดือนสิงหาคมโน้น 

เรื่องซักฟอกรัฐบาล ก็ดูมีแต่แรงโม้ "ลุงตู่" ขึ้นเขียงให้เชือดมา ๓ รอบแล้ว ฝ่ายค้านเลือดกบปากกลับไปทุกที

กำลังจะมีรอบ ๔ ก็ดูท่าฉายหนังม้วนเก่า

ที่เป็นประเด็นใหม่ คือมีคนปล่อยข่าวผ่านสื่อในเครือข่ายว่า มีการซื้อ ส.ส.พรรคเล็ก ๕-๓๐ ล้านบาท เพื่อโหวตล้มรัฐบาล

ใครซื้อ ใครขาย น่าจะเดากันออก      

เป็นธรรมชาติของพรรคเล็กบางพรรค สามารถสลับขั้วย้ายข้างได้ตลอดเวลา หากปัจจัยถึง เพราะไม่มีรัฐมนตรีอยู่ใน ครม. ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบทางการเมือง

แต่พลังต่อรองสูง

แทงได้ทั้งสองหน้า

ล้มก็ได้ปัจจัย ไม่ล้มก็มีปัจจัยให้ อยู่ที่การต่อรอง

เราจึงเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในฤดูกาลซักฟอกรัฐบาล 

การเมืองไทยก็วนไปแบบนี้แหละครับ

อย่าเพิ่งเบื่อ

ที่จริงไม่ว่าการเมืองที่ไหน ประเทศอะไร มีเรื่องไม่เวียนหัวด้วยกันทั้งนั้น

การเมืองไม่ได้ตรงไปตรงมาเสมอไป เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ และต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ

มีบทความน่าอ่านจาก สยามทาวน์ยูเอส ข่าวคนไทยในอเมริกา เรื่อง "เผยเหตุไบเดนไม่เลือก “ลัดดา” เป็นวีพี เพราะ “แม่ไทย” เขียนโดย ภาณุพล รักแต่งาม

ตัดทอนมาเฉพาะบางตอนนะครับ

---------------

...กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งสำหรับคนไทยและบรรดาไมนอริตี้ทั่วอเมริกา เมื่อมีการเปิดเผยถึงสาเหตุที่ โจ ไบเดน ปฏิเสธไม่เลือกวุฒิสมาชิก ลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ เป็น “รันนิ่งเมท” ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ทั้งที่ดูเหมือนว่าเธอมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในเวลานั้น

เหตุผลที่ไบเดนอ้างคือ... เพราะคุณลัดดามีแม่เป็นคนไทย อีกทั้งยังเกิดที่ประเทศไทยด้วย

ที่บอกว่าเป็นประเด็นที่ “ไมนอริตี้” ทั่วประเทศให้ความสนใจ ก็เพราะว่าสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองลูกครึ่งไทยถูกปฏิเสธนี้ น่าจะเป็นสาเหตุเดียวกันที่ทำให้นักการเมืองผิวสีจำนวนเยอะแยะมากมาย ถูกปฏิเสธ ไม่ให้เติบโตทางการเมืองมาแล้ว... แต่อาจ “ไม่ชัดเจน” ขนาดนี้เท่านั้น

หนังสือชื่อ “This Will Not Pass: Trump, Bidden, and the Battle for America’s Future” ของสองนักข่าวสายทำเนียบขาวของนิวยอร์กไทมส์ ชื่อ โจนาธาน มาร์ติน และอเล็กซานเดอร์ เบิร์นส์ (วางแผงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๐๒๒) บอกด้วยว่า เมื่อทราบเหตุผล คุณลัดดา ได้ “แลกวาจา” แบบดุเดือดกับประธานาธิบดีไบเดน ไปหนึ่งชุดด้วย...

คุณลัดดาเธอเกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๑๙๖๘ มีคุณแม่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ชื่อว่าคุณละมัย สมพรไพลิน ส่วนคุณพ่อเป็นอเมริกันชื่อ แฟร็ค ดัคเวิร์ธ เป็นทหารนาวิกโยธินที่เคยร่วมรบในหลายสมรภูมิ รวมถึงสงครามเวียดนามด้วย

โดยประเด็นสถานที่เกิดและความเป็นลูกครึ่งของคุณลัดดานี้ ข้อมูลในหนังสือฯ บอกว่าทำให้ทีมทนายความของไบเดนกลัวว่าจะเป็น “จุดอ่อน” ในประเด็นที่หนังสือฯ เรียกว่า birther claims ให้ โดนัลด์ ทรัมป์ โจมตีได้ง่าย

คำว่า birther เป็นศัพท์การเมือง หมายถึงกลุ่มคนที่มีความเชื่อ (ที่ไม่ถูกต้อง) เกี่ยวกับคุณสมบัติเรื่องสถานที่เกิดของนักการเมือง หรือบุคคลที่กำลังหาเสียงเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งสูงๆ ของอเมริกา ซึ่งทรัมป์ ใช้เป็นอาวุธในการ “ดิสเครดิต” อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นคนแรกเมื่อปี ๒๐๑๑ จากนั้นเมื่อลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เมื่อปี ๒๐๑๖ ก็เอามาใช้กับ ส.ว.เท็ด ครูซ ที่สมัครแข่งกับเขา ว่าไม่มีสิทธิ เพราะเกิดที่แคนาดา กับแม่ที่เป็นอเมริกันและพ่อเป็นคิวบัน

คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเกมสกปรกทางการเมืองกิ๊กก๊อกของทรัมป์ แต่หากสนใจการเมืองจริงๆ จะเห็นว่าประเด็นที่ทรัมป์ “ปล่อยของ” ใส่โอบามานั้น ส่งผลให้กลุ่ม birther จำนวนมหาศาลออกมาเรียกร้องให้อดีตประธานาธิบดีแสดงหลักฐานถิ่นเกิด, ลาออก ต่อยอดถึงการเรียกร้องให้แก้ไข หรือตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เล่นเอาท่านโอบามาเสียเวลาทำงานไปโข

ในหนังสือฯ เขียนเอาไว้ว่า “ไบเดนบอกถึงความกังวลใจของเขากับดัคเวิร์ธแบบระมัดระวัง แต่ดัคเวิร์ธโต้กลับใส่ทีมของไบเดนอย่างรุนแรง (pushed back hard) เธอเตือนความจำพวกนั้นว่าเธอถูกโจมตีด้วยถ้อยคำเหยียดผิวและชังเชื้อชาติมาแล้วขณะหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา และเธอเป็นฝ่ายชนะ”

 “ฉันเอาชนะพวกสารเลวที่ตามเล่นงานฉันด้วยเรื่องนั้นได้ทุกคน” คุณลัดดาประกาศชัด

สองนักข่าวสายการเมืองของนิวยอร์กไทมส์บอกไว้ในหนังสือ This Will Not Pass ด้วยว่า ท่านไบเดนมีท่าทีอึดอัดอย่างเห็นได้ชัดที่ต้องบอกบอกคุณลัดดาแบบนั้น เพราะมันคือการยอมรับว่า ทีมงานหาเสียงของเขาใช้วิธีที่เรียกว่า preemptive surrender หรือรีบตาลีตาเหลือกกำจัดสิ่งที่เห็นว่าอาจจะเป็นจุดอ่อนตั้งแต่ยังไม่ทันลงสนาม เหมือนยอมแพ้กับกลยุทธ์การเมืองสกปรกของทรัมป์ ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือต่อสู้

และสิ่งที่คุณลัดดาบอกกับท่านไบเดน ว่าเธอ “เอาชนะพวกสารเลว” นั้นก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะหากย้อนหลับไปอ่านข่าวเกี่ยวกับคุณลัดดา ซึ่งมีมากมายหลายสิบข่าวบนเว็บไซต์ของสยามทาวน์ฯ จะเห็นว่าเธอเคยถูก ส.ว.มาร์ค เคิร์ค คู่แข่งจากรีพับลิกันในสนามเลือกตั้ง ส.ว.อิลลินอยส์ เมื่อปี ๒๐๑๖ เล่นงานในประเด็น “แม่ไทย” มาแล้ว

ว่ากันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของสหรัฐฯ ในหมวด ๒ มาตรา ๑ ของกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุถึงคุณสมบัติสำคัญของผู้มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า No person except a natural born Citizen, or a Citizen of the United States, at the time of the Adoption of this Constitution, shall be eligible to the Office of President;

แปลได้ว่า “ผู้มีสิทธิเป็นประธานาธิบดี จะต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ โดยกำเนิด หรือเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ ในขณะที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้”

คำว่า “พลเมืองของสหรัฐฯ โดยกำเนิด” นี้ แม้ว่าในกฎหมายที่เขียนไว้เมื่อกว่า ๒๓๐ ปีที่แล้ว จะไม่ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ แต่เป็นคำที่มีการตีความกันขนานใหญ่กันครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดเมื่อปี ๒๐๑๑ ช่วงที่ทรัมป์เปิดศึก “birther” กับประธานาธิบดีโอบามา โดยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายดาหน้าออกมาให้คำนิยามเหมือนเช่นทุกครั้งว่า หมายถึง “บุคคลผู้ที่มีพ่อ หรือแม่ถือสัญชาติอเมริกัน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม”

ที่ถูกอ้างอิงบ่อยที่สุดคือบทความของสองนักกฎหมาย ชื่อ พอล เคลเมนท์ และ นีล แคทยัล (Paul Clement and Neal Katyal) ในวารสาร Harvard Law Review เมื่อปี ๒๐๑๕ บอกว่า การพยายามตีความคำว่า “การได้สัญชาติโดยกำเนิด” เป็นการทุ่มเทในเรื่องไร้สาระ (much ado about nothing)

 “บุคคลที่เกิดในครอบครัวชาวอเมริกัน ไม่ว่าจะในแคลิฟอร์เนียหรือแคนาดา หรือในคลอง (canal zone อ้างถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับวุฒิสมาชิก จอห์น แม็คเคน) คือพลเมืองสหรัฐฯ โดยกำเนิด และมีสิทธิ์อย่างชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากได้รับการเลือกจากประชาชน”

หมายถึงว่าคุณลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นผู้นำอันดับสอง ที่จะต้องขยับขึ้นมาเป็น “เบอร์หนึ่ง” ทันทีหากเกิดกรณีใดๆ ที่ประธานาธิบดีไม่สามารถทำหน้าที่ได้

สำหรับบรรดาแฟนๆ ของคุณลัดดา โดยเฉพาะในรัฐอิลลินอยส์นั้น ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ได้เกิดกระแสเรียกร้องและสนับสนุนให้คุณลัดดาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี ๒๐๒๔ แทนท่านไบเดน ด้วยเหตุผล (ที่เห็นชัดๆ) อย่างน้อยสองประเด็น หนึ่งคือท่านไบเดน จะอายุครบ ๘๒ ปีในปีเลือกตั้งครั้งหน้า และสองคือคะแนนนิยมของท่านกำลังดำดิ่งจนถือเป็นเรื่องน่าห่วง โดยเฉพาะหากการเลือกตั้งปี ๒๐๒๔ นั้น พรรครีพับลิกันเลือกตัวแทนชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ มาลงสนามอีกหน

------------------

ครับ...การเมืองไม่ว่าที่ไหน ต้องมีการฟาดฟันกัน

ความถูกต้องบางครั้งก็ต้องหลีกทางให้กับโอกาสในการได้อำนาจ

ปีนี้ปีมาลุ้นกันว่าใครเป็นนายกฯ ไทยคนต่อไป

ส่วนปี ๒๐๒๔ ก็ลุ้นว่า "ลัดดา แทมมี่ ดัคเวิร์ธ" จะเป็นคู่ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับโดนัลด์ ทรัมป์ และใครจะเข้าวิน

มองการเมืองอย่างเข้าใจมันก็สนุกไปอีกแบบ

แต่จะทุกข์ทันทีหากได้ผู้นำคุณภาพต่ำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง