'ชัชชาติ'คนของ'ทักษิณ'

งวดเข้ามาทุกที

๒๒ พฤษภาคม เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรงกับรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ พอดิบพอดี

พฤษภาคม ยังตรงกับ พฤษภาทมิฬ

รวมทั้ง พฤษภา ๕๓ แดงเผาเมือง

ประวัติศาสตร์ทางการเมือง เดือนพฤษภาคมจึงเป็นเดือนที่การเมืองดุเดือด ไม่แพ้ตุลาคม

ฉะนั้นไม่ต้องห่วงครับ หาเสียงเลือกผู้ว่าฯ กทม.โค้งสุดท้าย "สาดกันสนุก"

ผู้สมัครจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลโดนแน่ แม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์ แต่จะถูกเหมารวมเป็นผู้ทำร้ายประชาชน

เห็นตีเกราะเคาะกะลากันทุกครั้งเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม แดงไม่ได้เผาเมือง ไม่มีกองกำลังติดอาวุธชุดดำ คราวนี้ก็ตีอีก และถี่กว่าเดิม

เสียงตะโกนทหารฆ่าประชาชนกลับมาอีกรอบ

การเมืองวันนี้ซ้อนกันอยู่หลายชั้น สนามเล็ก สนามใหญ่ เกี่ยวเนื่้องกันหมด ชนิดที่ว่าแยกกันไม่ออก 

เมื่อดูจากยุทธศาสตร์ที่แต่ละพรรคใช้ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โยงใยไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นหลังจากนี้

วันนี้เริ่มได้ยินคำว่า เลือกตามยุทธศาสตร์ ไม่เลือกเราเขามาแน่ กันแล้วนะครับ

มันเกิดจากการเมือง ๒ ขั้ว

ถ้าขั้วไหนแข่งกันส่งผู้สมัครหลายคน ขั้วนั้นอาจเสียเปรียบเพราะตัดคะแนนกันเอง

ส่วนขั้วที่ส่งผู้สมัครน้อยกว่าจะได้เปรียบ เพราะตัวหารน้อยกว่า

ดูตามสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ขั้วรัฐบาลเสียเปรียบอยู่หลายขุม เพราะตัวเลือกที่เยอะกว่า

สกลธี ภัททิยกุล เบอร์ ๓

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ ๔

อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ ๖

รสนา โตสิตระกูล เบอร์ ๗

ถ้าจะเลือกตามยุทธศาสตร์ ต้องพร้อมใจกันเลือกคนใดคนหนึ่ง แตกแถวไม่ได้เด็ดขาด แตกเมื่อไหร่กลายเป็นเบี้ยหัวแตกทันที

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่การเลือกตามยุทธศาสตร์จะเกิดขึ้นได้ 

โอกาสที่ผู้สมัครยอมเทคะแนนให้กัน แทบเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้น ๔ คนจากฝั่งรัฐบาลตัดคะแนนกันเองค่อนข้างแน่นอน

ส่วนอีกฝั่ง หลักๆ มีแค่ ๒ คน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ ๘

และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ ๑

ขั้วนี้ก็ไม่มีทางที่จะเลือกตามยุทธศาสตร์ เพราะพรรคก้าวไกลต้องการมีบทบาททางการเมืองในเมืองหลวง หลังประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในภูมิภาค

ไปดูผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประมาณ ๔.๕ ล้านคน

แบ่งตามช่วงอายุออกเป็นเจเนอเรชันได้ดังนี้

อันดับ ๑ กลุ่ม Baby Boomer อายุตั้งแต่ ๕๕ ปีขึ้นไป มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มากที่สุด กว่า ๑.๕๗ ล้านคน คิดเป็น ๓๕ % ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

อันดับ ๒ เจเนอเรชัน X มีช่วงอายุระหว่าง ๔๐-๕๔ ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ ๑.๓๓ ล้านคน คิดเป็น ๒๙% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

อันดับ ๓ เจเนอเรชัน Y มีช่วงอายุระหว่าง ๒๕-๓๙ ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ ๑.๑๕ ล้านคน คิดเป็น ๒๖% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

อันดับ ๔ เจเนอเรชัน Z มีช่วงอายุระหว่าง ๑๘-๒๔ ปี มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ ๑.๑๕ ล้านคน คิดเป็น ๑๐% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด

ทั้งหมดนี้เป็นนิวโหวตเตอร์ หรือผู้ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรก กว่า ๗ แสนคน

คิดเป็น ๑๖%

ตัวเลขนี้น่าจะบอกได้คร่าวๆ ว่า ใครจะได้คะแนนเท่าไหร่

"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" จะได้คะแนนจาก เจเนอเรชัน Y และ Z เป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนจะเลือกตัวแทนจากพรรคก้าวไกล

ขณะที่คนเลือก "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ฐานจะกว้างกว่า กินไปทุกเจเนอเรชัน

เช่นเดียวกับผู้สมัครจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนจะได้เสียงจาก Baby Boomer และเจเนอเรชัน X เป็นหลัก มีเจเนอเรชัน Y และ Z บ้างประปราย

จึงเป็นที่มาว่าทำไม "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ถึงชนะทุกโพล

แต่มีทางเดียวที่ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" จะหล่นเป็นที่ ๒ นั่นคือการเลือกตามยุทธศาสตร์ของฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลประสบความสำเร็จ

การเมืองที่ทับซ้อนกันอยู่ บางครั้ง "โหวตเตอร์" ทุกช่วงอายุมองไม่ออก ไม่ได้พิจาณาถึงเบื้องหลังที่แท้จริงของผู้สมัคร

  "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" คือคนของพรรคเพื่อไทย แต่วางยุทธศาสตร์ ให้หลุดออกมาจากพรรค เพื่อกวาดคะแนนจาก กลุ่มที่ยืนอยู่ตรงกลาง

ไม่ชอบทักษิณ แต่ก็ไม่ชอบรัฐบาล

และยังมี "โหวตเตอร์" บางส่วนจากขั้วรัฐบาลที่ตายใจว่า "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" คือผู้สมัครอิสระ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย 

ไม่เกี่ยวข้องกับ "ทักษิณ"

"โหวตเตอร์" กลุ่มนี้อาจเคยร่วมเคลื่อนไหวกับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่ง กปปส. แต่เริ่มรู้สึกท้อแท้กับขั้วรัฐบาล เพราะมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้

ปฏิรูปการเมืองที่เคยเรียกร้องก็ไม่เกิด

มีสิ่งบอกเหตุมากมายว่า "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ยังเป็นคนของ "ทักษิณ"

อาทิ พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

แต่เพื่อไทยส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ก.

การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" กับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย มีความสอดรับทั้งในแง่ของคน และนโยบาย

โปสเตอร์หาเสียง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การที่ "อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร" เดินหาเสียงอย่างเป็นทางการสนามแรก ด้วยการหนีบผู้สมัคร ส.ก.พรรคเพื่อไทยซ้ายขวา มันคือการยืนยันว่ามาเป็นทีม

"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" อาจไม่ได้ต้องการให้ "อุ๊งอิ๊ง" เข้ามามีบทบาทในช่วงนี้      

แต่ "ทักษิณ" ต้องการ เพื่อปูทางไปยังการเลือกตั้ง ส.ส.หลังจากนี้

การเมืองอีกชั้นคือ บทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี ๒๕๕๖

โค้งสุดท้ายโพลทุกสำนักให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

แต่เลือกตั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทิ้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ไปร่วม ๒ แสนคะแนน ซึ่งถือว่ามากโขทีเดียว

ครั้งนี้ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" นำขาดทุกโพลก็จริง แต่การเมืองอาจซ้ำรอยเก่าได้ ประมาท "อัศวิน ขวัญเมือง" ไม่ได้เด็ดขาด

จำได้มั้ยครับ "พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา" เดินสายเตรียมพร้อมสมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่สุดท้ายถอนตัวแบบช็อกคอการเมืองเพราะอะไร

ฐานเสียงพลังประชารัฐใน กทม.มีอยู่มากพอสมควร สุดท้ายคนในพลังประชารัฐต้องคุยกันว่า ทำอย่างไรให้ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" สอบตก

เลือกตั้ง ส.ส.ปี ๒๕๖๒ สนาม กทม. เพื่อไทยได้ ๙ ที่นั่ง แต่พลังประชารัฐกวาดไป ๑๒ เก้าอี้

แม้เสียงพลังประชารัฐใน กทม.หล่นวูบ แต่ฐานเสียงของ ส.ส.แต่ละคนนั้นมีอยู่

ฉะนั้นเลือกตามยุทธศาสตร์คือคำตอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไร้ภาวะผู้นำ

ศึกนายพลสีกากีดูเพลินๆ ไปครับ ขุดกันเยอะเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น

'ครอบงำ' หัวจรดเท้า

"พรรคของท่าน ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะไป" วานนี้ (๒๖ มีนาคม) นายหัวชวน หลีกภัย พูดถึง "นักโทษชายทักษิณ" ผู้ป่วยที่เดินแทบไม่ได้เมื่อเดือนที่แล้ว ไปเหยียบที่ทำการพรรคเพื่อไทย ด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง ก็จริงนะ...

ผู้สานต่อสันดาน

คนเขาสงสัย... ระหว่างการคุมประพฤติ นักโทษ จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร?

ก้าวไกล ไม่รอด!

จะเกี่ยวกันมั้ย??? พรรคอนาคตไกล ร่อนหนังสือเชิญสื่อทุกแขนง ไปร่วมพิธีเปิดที่ทำการพรรค และพิธีบวงสรวง เจริญพระพุทธมนต์ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม

หมากนี้จะกินรวบ

เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ เพราะว่าไปแล้วมันก็น่าประหลาดใจกับคำสั่งเรียก "บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก" ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี