'ประสบการณ์-หลักการ'

ดูคลิป "วิโรจน์-สกลธี" ดีเบตวันก่อน

อดจินตนาการไม่ได้ว่า คนใด-คนหนึ่ง ใน ๒ คนนี้ สมมุติได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.

ภายใต้การบริหารระหว่างวิโรจน์กับสกลธี

"กรุงเทพมหานคร" จะมีสภาพแบบไหน?

กับผู้ว่าฯ คนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความดุดัน เกรี้ยวกราด ต่อบ้านเมือง อันมี "สถาบันพระมหากษัตริย์" เป็นหลักชาติ

จะทวงคืน "สนามหลวง" เอาไปทำเป็น "สนามราษฎร์"

จะตัดชื่อเต็มของ.........

"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

อันเป็นนามที่ "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" พระราชทานไว้ให้ ณ วันทรงสถาปนาราชธานีใหม่ เมื่อ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕

เหลือคำว่า "กรุงเทพ" คำเดียว!

ตามนโยบายที่นายวิโรจน์แห่งพรรคก้าวไกลชูเป็นนโยบายหาเสียง

ที่จะ "เปลี่ยนกรุงเทพมหาคร ให้เป็นเมืองที่คนเท่ากันด้วย สิทธิเสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ"

กับอีกคนหนึ่ง.........

พูดจามีสัมมาคารวะ นุ่มนวล แต่หนักแน่นด้วยประสบการณ์และเหตุผล อีกทั้งกิริยามรรยาทบ่งบอกความเป็นผู้มีสกุล รู้ชาติ รู้บ้าน รู้เมือง

กับมหานครที่เป็นหน้า-เป็นตาประเทศ กับมหานครอันเป็นเมืองด่านหน้าที่ต้อนรับ "แขกบ้าน-แขกเมือง" ทุกระดับชน

การมีผู้ว่าฯ กทม. "สมวุฒิ-สมวัย" เป็นผู้ใหญ่ด้วยกิริยามารยาททางสังคม รู้การใดควร-การใดไม่ควร

คนเช่นนี้ นับว่า "เหมาะสม" ยิ่งนัก!

และคนที่มีบุคลิกดังว่านี้่ คือ "นายสกลธี ภัททิยกุล" ผู้มีนโยบายในการหาเสียงว่า "กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้" นั่นเอง

นี่เป็น "มุมมองเปรียบเทียบ" ด้านบุคลิกภาพ และการวางตัวในการแสดงออกต่อสังคมสาธารณะของคนที่จะมาเป็นผู้นำ ในความหมายว่า "รู้กรอบ-รู้หน้าที่" ในทัศนะผม

การพูดเก่ง พูดคล่อง นั่นเป็นจุดเด่นของนักโต้วาทีอาชีพหรือนักการเมืองอาชีพ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี

ตรงกันข้าม มันดี ดีถึงขั้น ต่อแข้ง-ต่อขาให้มีตำแหน่งใหญ่โตได้ โดยเฉพาะ "ทางการเมือง"

อย่างหาเสียงเป็นประธานาธิบดีบดีสหรัฐฯ คนอเมริกันไม่สน ใครทำงานดี-ทำงานเก่ง-ทำงานได้งาน

แต่เขาจะสน จะเลือก จะศรัทธา คนที่สรรคำมาพูดบนเวทีได้มัน สะใจ ประทับใจเป็นหลัก นี่คือสไตล์อเมริกันนิยม

แต่ส่วนมากก็แบบนี้ ไม่ว่าประเทศไหน นักการเมืองที่ปากเป็นเอก คนจะชอบ ส่วนงาน เป็นโท เป็นตรี ไม่สน

กรณีนายวิโรจน์กับนายสกลธีดีเบตนั้น.....

เรื่องพูดเก่ง พูดเอามัน ต้องยกให้วิโรจน์ ดูดีเบต เหมือนดูคนที่โกรธเขามาพันปี

เจอหน้าก็กระชากโซ่จะเข้าฟัด จนไม่แน่ใจว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. "ห้องทำงานจะต้องติดลูกกรงหรือเปล่า?"

แต่เรื่อง พูดเอาเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์แบบ "หลุด" ไม่พูดแบบสำราก แต่พูดแบบคนมีวุฒิภาวะ-มีประสบการณ์ บนฐานสังคมเป็นจริง

นี่ต้องยกให้สกลธี!

คลิปที่เขานำมาลงเฟซ เขาบอกไว้อย่างนี้........

รายการ THE CANDIDATE BATTLE  พลิกโฉมดีเบต ศึกดวลความคิด พิชิตโหวต ช่วงที่ 3  ‘THE BATTLE FOR THE BETTER’

เป็นการแบตเทิลกันระหว่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 กับ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3

ในประเด็นที่ว่า "หากเกิดรัฐประหารในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.จะแสดงภาวะความเป็นผู้นำต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร?"

ว่ากันที่จริงๆ คำถามนี้ ไม่แน่ใจ ผู้จัดรายการทราบหรือไม่ว่า กทม.เป็นแค่การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเท่านั้น?

มีอำนาจหน้าที่จำกัด แค่จัดการเรื่องสาธารณูปโภค  ควบคุมอาคารสิ่งปลูกสร้าง การวางผังเมือง การรักษาพยาบาล การเก็บขยะ กวาดถนน เป็นต้น

ถ้าเกิดรัฐประหาร แค่ผู้ว่าฯ กทม.มีน้ำยาอะไรไปแสดงภาวะความเป็นผู้นำกับคณะรัฐประหารเขาได้ล่ะ?

การตั้งคำถาม "นอกวงแขน" คนเป็นผู้ว่าฯ กทม.ไปให้เขาดีเบต ให้เขาโม้เอามันละก็ได้ แต่จะเอาสาระเป็นจริงไม่ได้

แต่มันก็เป็นคำถาม "เข้าปาก" วิโรจน์พอดี ถือโอกาสด่าคณะรัฐประหารคราวที่แล้วซะเลย

"วิโรจน์พร้อมร่วมต่อสู้กับประชาชน จะทำให้คณะรัฐประหารกลายเป็นกบฏที่ต้องประหารชีวิต มีรัฐประหารอีกละก็ เจอวิโรจน์แน่"

เกรี้ยวกราดใส่คู่ดีเบต ยังกะคู่ดีเบตคือหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยิ่งตีนตบเกรียว วิโรจน์ยิ่งคึก

แต่เจอข้อความที่ "โบว์ ณัฏฐา" โพสต์เฟซ เบรกนิ่มๆ

วิโรจน์คง "หัวทิ่ม" หายคึก!?

Bow Nutta Mahattana

 “หลายๆ คนที่ออกมาบอกว่า จะต้านรัฐประหารหรืออำนาจเผด็จการสุดตัวนี่ ตอนรัฐประหารคราวที่แล้ว เราไม่เห็นพวกเขาเลย

ไม่ใช่แค่หลังวันรัฐประหารด้วย ตลอดห้าปีหลังจากนั้น เราก็ไม่เคยเห็นพวกเขา แต่เราได้ยินเขาพูดคำว่าเผด็จการบ่อยมากหลังการเลือกตั้ง

เราได้ยินคำว่าเผด็จการในวันนี้มากกว่าในยุค คสช.  ในวันที่เราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารกันจริงๆ วันที่สื่อทำข่าวไม่ได้ วันที่ไม่มีสภาไม่มีฝ่ายค้าน

วันที่เผด็จการแปลว่าเผด็จการจริงๆ ถึงขั้นที่มีทหารถือปืนยืนอยู่ในศาลอาญาได้ เราไม่เห็นพวกเขาเลย”

ก็บอกแล้ว พูดเอามัน เอาเสียงเฮ เสียงตีนตบ ละก็ได้  แต่จะทึกทักว่านี่คือ "พูดจริง-ทำจริง" ก็ต้องย้อนไปอ่านโพสต์ของคุณโบว์ ณัฏฐา อีกที

ส่วนนายสกลธี โต้แย้งแบบไม่ใช่มุ่งผลแพ้-ชนะ แต่โต้แย้งด้วยเหตุผลจากคนมีประสบการณ์ "สังคมเป็นจริง"

".....เราจะรู้ไงว่า สิ่งที่ประชาชนเขาต้องการจริงๆ มันเป็นยังไง มันอาจเป็นการรัฐประหารจากรัฐบาลที่ชั่วช้า ทรราช โกงกินบ้านเมือง ก็เป็นไปได้

มันอาจไม่ถูกในวิธีการที่ทำ ผมถึงบอกว่าการเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากประชาชนเนี่ย ไม่จำเป็นต้องต่อต้านอะไรทุกครั้งไป 'มันต้องดูบริบท'

อะไรจะเกิดที่เกิดขึ้นทุกครั้งไป ถ้าประชาชนที่เลือกผมมา บอกว่า...เฮ่ย...เขาทำสิ่งที่ถูก ผมก็โอเค

ผมเรียนเลยว่า การรัฐประหารอาจไม่ถูกต้องทุกครั้ง

แต่ถ้าผมมาจากพี่น้องประชาชน แล้วผมคิดว่า มีการทำรัฐประหารกับสิ่งที่ชั่วช้า เลวทรามยิ่งกว่าเนี่ย ผมก็ต้องฟังเสียงประชาชน

เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนเขาเห็นด้วย เขาไม่ต่อต้าน  เราก็ต้องยืนอยู่ข้างประชาชน....."

ตรงคำว่า "ต้องดูบริบท" นั่นแหละ คนที่พูดคำนี้ได้ แสดงว่าคนนั้น ต้องมีประสบการณ์

ไม่ใช่สักแต่พูดตามตำรา ตามทฤษฎี ที่ท่อง-ที่สอน แล้วยึดเป็นหลักการ

"หลักการ" น่ะ ใช้พูดสวยๆ ได้ แต่ใช้ยึดปฏิบัติ จะล้มเหลว

"สัญชัยปริพาชก" เคยถามพระพุทธเจ้าว่า ''ท่านสอนเรื่องอะไร หลักการของท่านคืออะไร?"

พระพุทธองค์ทรงตอบว่า........

"เมื่อไรก็ตามที่คนเรายึดมั่นในหลักการชีวิตของเขา  เมื่อนั้นแล้ว เขาจะสูญเสียอิสรภาพ เขาจะกลายเป็นคนที่ยึดติด เขาจะคิดว่า หลักการของเขานั้นถูกต้องทุกอย่าง  และความเชื่อของตัวเองนั้นถูก ส่วนที่เหลือ ไม่ใช่เรื่องจริง

และเมื่อเราเสียอิสระทางความคิด.....

เราจะยึดติดทางความคิดเดียว มนุษย์เราก็จะยิ่งทุรนทุราย เป็นจุดเริ่มต้นของการดิ้นรนและความขัดแย้ง

ความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถึงจะเชื่อว่าไม่เชื่อ ก็ทำให้คนยึดติด ความคิดมีพลังมหาศาลและมันจับเราไว้ จับไว้อย่างแน่นหนา

การยึดติดกับความคิดคือ อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของการเติบโตจิตวิญญาณ หากเราติดอยู่ในนั้น ประตูแห่งความรู้อันนิรันดร์ ก็จะไม่เปิดออก"

"แล้วคนที่ทำตามคำสอนท่านจะไม่ติดกับงั้นหรือ?" สัญชัยปริพาชกแย้ง พระพุทธองค์ตรัสว่า

"ข้าพูดถึงประสบการณ์ของตัวเอง หนทางของข้าไม่ใช่หลักการและก็ไม่ใช่ปรัชญา

มันคือประสบการณ์ล้วนๆ ประสบการณ์ของความจริงนิรันดร์"

นี่ยกมาให้เห็นว่า "ประสบการณ์ตัวเอง" เหนือกว่า "หลักการและปรัชญาใดๆ ทั้งปวง"

ที่นายสกลธีโต้เรื่องประชาธิปไตย-เผด็จการ ไหนจะดี-จะเลวกว่ากัน ด้วยการใช้คำว่า "ต้องดูบริบท" นั่นคือการตอบด้วยประสบการณ์

สรุปก็คือ.......

คนมีประสบการณ์ ทั้งประสบการณ์ประชาธิปไตย  ประสบการณ์เผด็จการ ทั้งประสบการณ์บริหาร กทม.ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน

ผมเอา "สกลธี" คนนี้ละ เป็นผู้ว่าฯ กทม.!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง