ข่าวดีและข่าวร้าย

มีข่าวดีมาบอก....

วานนี้ (๑๐ มิถุนายน) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เสวนาความก้าวหน้าของวัคซีน ChulaCov19 ภายในงาน MDCU’s  Next Step in Research & Innovation  ครบรอบวาระ ๗๕ ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ตามนี้ครับ....

"...ความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov19 ผลิตเสร็จเรียบร้อยในฐานการผลิตที่ประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) คู่ขนานกับการเปิดรับอาสาสมัครจำนวน ๓๖ คน อายุประมาณ ๑๘-๖๐  ปี ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากในการหาอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนที่ผลิตในไทย

จึงได้มีการวางแผนหาข้อตกลงในการทดสอบในอาสาสมัครต่างประเทศด้วย เพื่อให้วัคซีนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

และคาดว่าวัคซีนจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในสิ้นปี  ๒๕๖๕ ไม่เกินต้นปี ๒๕๖๖ ที่คนไทยจะได้รับวัคซีน ChulaCov19

แนวโน้มทั่วโลกจะมีการผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ รุ่นที่ ๒  ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ ๒ แล้ว และหากมีการประกาศเตรียมขึ้นทะเบียนภายในต้นปีหน้า ทางจุฬาฯ ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมต้นแบบสำหรับวัคซีน ChulaCov19 (รุ่นที่ ๒)  เพื่อผลิตและทดสอบในอาสมัครได้ทันที

สำหรับการเตรียมประกาศให้โควิด-๑๙ เป็นโรคประจำถิ่นนั้น การฉีดวัคซีนก็ยังคงจำเป็นเหมือนกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่จะมีการเข้ารับวัคซีนทุก ๑-๒ ปี...."

บางคนอาจคิดว่าตลาดวายแล้ว วัคซีนสัญชาติไทย เพิ่งจะมา ไม่จริงหรอกครับ เรายังอยู่กับโควิดไปอีกสักพักใหญ่

เพราะจากนี้ไปมันคือโรคประจำถิ่น

ความสำคัญของ วัคซีน ChulaCov19 ที่คนไทยมองข้ามไปไม่ได้นั่นคือ ไทยเรามีวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นของตัวเองแล้ว

ถึงจะช้าหน่อย แต่ในวันข้างหน้านี่คือพื้นฐานของการผลิตวัคซีนเวอร์ชันถัดๆ ไป

มีไม่กี่ประเทศครับที่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ด้วยตัวเอง และส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้งนั้น

ฉะนั้นความสำเร็จของไทย จะส่งผลดีในระยะยาว

อย่างแรก ลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ลดดุลการค้าที่้ต้องเสียไป

ถัดมา ไทยสามารถต่อยอดวัคซีนให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวเอง เพราะเรามีองค์ความรู้แล้ว การพัฒนาหลังจากนี้จึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

ฉะนั้นเตรียมตัวครับ คราวนี้เต็มแขนอย่างเต็มภาคภูมิ

ไทยทำไทยใช้ไทยเจริญของจริง

นี่คือหนึ่งในตัวอย่าง ที่ภาครัฐและประชาชนต้องให้การสนับสนุน ประเทศจะพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่รอรายได้จากการท่องเที่ยวครับ

ต้องเป็นเจ้าของนวัตกรรมให้ได้

การเป็นเจ้าของนวัตกรรมต้องมีงานวิจัยเป็นเบื้องต้น

ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรครับ มีการพูดกันมานานพอควรแล้วว่า งบประมาณเกี่ยวกับงานวิจัยนั้นรัฐต้องทุ่มให้มาก

ในทางการเมืองงบประมาณส่วนนี้เอาไปหาเสียงไม่ได้ครับ ฉะนั้นเราไม่ค่อยเห็นว่ามีพรรคการเมืองไหนให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ

ผิดกับการพูดถึงงบสวัสดิการ ลด แลก แจก แถม ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากกว่า

ประเทศที่ไม่มีงานวิจัย ไม่มีทางเป็นเจ้าของนวัตกรรมได้

ประเทศที่มีงานวิจัยขยะไร้คุณภาพเยอะ ก็เป็นเจ้าของนวัตกรรมไม่ได้เช่นกัน

ขณะที่ประเทศไทยรู้ตัวเองดีอยู่แล้วว่าอยู่ในระดับไหนของแผนที่โลก

ฉะนั้นหากอยากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อยากให้ประชาชนกินดีอยู่ดี เราต้องส่งออกสิ่งที่เรียกว่า "นวัตกรรม"  ให้ได้มากที่สุด

ข่าวดีไปแล้ว ข่าวร้ายก็ตามมา

นักการเมือง ผู้ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายของประเทศยังคงวนในอ่าง ยังคิดแค่เรื่องอำนาจ

ทำอย่างไรให้ได้อำนาจมา

แต่การใช้อำนาจเพื่้อใครก็ยังเป็นคำถามที่ลอยมาเรื่อยๆ

พูดถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ภายใต้ยุทธการ "เด็ดหัว  สอยนั่งร้าน" มีการโหมโรงฉายหนังตัวอย่างว่าคราวนี้เด็ดหัว  "ลุงตู่" ได้แน่

ส่วนนั่งร้านจะถูกรื้อจนไม่มีที่เหลือให้พรรคร่วมรัฐบาลยืน ก็โม้กันไปครับ เพราะทุกครั้งที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เกทับ บลัฟแหลก กันอย่างนี้

มีอยู่เรื่อง ไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้ดี ก็คือ การซักฟอกเพื่อล้มรัฐบาลในครั้งนี้ ฝ่ายค้านหวังยืมจมูกคนอื่นหายใจ

ฝ่ายค้านคงประเมินว่าครั้งนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะล้มรัฐบาลลุงตู่

ความเป็นไปได้ที่ว่ามาจาก "ธรรมนัส พรหมเผ่า" หอบหิ้ว ๑๘ ส.ส.จากพลังประชารัฐ ไปสังกัดค่ายใหม่ พรรคเศรษฐกิจไทย

บวกกับ ส.ส.พรรคเล็ก ที่น่าจะทำให้เปลี่ยนใจไปเข้ากับฝ่ายค้านได้

หากปฏิบัติการย้ายข้างสำเร็จ ก็ล้มรัฐบาลได้

และครั้งนี้ก็อยู่แค่เอื้อมเท่านั้นเอง

อยู่ที่การเจรจาผลประโยชน์ลงตัวหรือไม่

ยิ่งได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ "ธรรมนัส พรหมเผ่า"  วานนี้ เพื่อไทยก็น่าจะจินตนาการเห็นถึงอำนาจชัดเจนขึ้น

มีประเด็นถามตอบที่น่าสนใจครับ

ถาม : ขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถนับพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่

ตอบ : ยืนยันว่าอยู่ข้างประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร

ถาม : หากมีการต่อรองหรือปรับ ครม. แล้วให้โควตาพรรคเศรษฐกิจไทยจะทำอย่างไร

ตอบ : ไม่ต้องมาพูดกัน ประเด็นนี้ตัดทิ้งได้เลย ไม่รับ

ถาม : รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐคนอื่นๆ จะลงมติอย่างไร

ตอบ : บอกตามตรงว่าทุกคนน่าเป็นห่วงหมด ยกเว้น  พล.อ.ประวิตร

ถาม : ช่วงนี้ได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร และเป็นห่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่

ตอบ : ได้คุยบ้าง ท่านบอกว่าปีสุดท้ายแล้วก็ปล่อยเสรี

ฟังแล้วมันรื่นหูสำหรับพรรคฝ่ายค้าน อย่างน้อยๆ ก็มีความหวังว่าครั้งนี้ใกล้เคียงที่สุดกับคำว่า "ล้มรัฐบาล"

การอ้างคำพูด "ลุงป้อม" ว่าปีสุดท้ายแล้วปล่อยเสรี มีความหมายทางการเมืองมาก หากการปล่อยเสรีที่ว่านี้คือการโหวตในสภา

แต่หากมีความหมายเช่นนั้นจริง มันก็จะย้อนกลับไปหา  "ลุงป้อม" เท่ากับเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของพรรคเศรษฐกิจไทย

ถูกร้องยุบพรรคได้

แต่ก็ไม่ใช่เวลาที่ฝ่ายค้านจะสนใจเรื่องนี้ หากพรรคเศรษฐกิจไทยจะทิ้งรัฐบาลจริง

รวมทั้งไม่สนใจเรื่องที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ  "ธรรมนัส พรหมเผ่า" ประเด็นยาเสพติดที่ออสเตรเลียด้วย

ครับ...การเมืองไทยมันจะเป็นอะไรประมาณนี้ เพราะลำพังเสียงฝ่ายค้านมันล้มรัฐบาลไม่ได้

แต่หากมีเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยมาช่วย มันก็มีโอกาส

นี่คือประเด็นการเมืองนะครับ ไม่ใช่ข่าวบันเทิง

หากใครมองว่า บันเทิง แสดงว่าเข้าใจการเมืองไทยได้ทะลุปรุโปร่งจริงๆ และยอมรับสภาพที่มันจะดำเนินต่อไปได้

จนกว่าจะเด็ดหัวกันหมดครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง