สนิมเนื้่อในรัฐบาล

สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน

 ถ้ารัฐบาลจะพัง ก็พังเพราะตัวรัฐบาลเอง

เป็นจริงตามนี้แหละครับ เพราะฝ่ายค้านไม่มีน้ำยา รัฐบาลไม่ลงรอยกันเอง จุดจบก็อาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลล่มเพราะตัวเอง

การเมืองยุคใหม่ค่อนข้างซับซ้อนครับ การต่อรองทางการเมืองไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองเหมือนเช่นในอดีต

ปัจจุบันต้องใส่สแควร์รูต ถอดราก ยกกำลังสิบ

ชวนให้ปวดหัวจริงๆ

สาเหตุเพราะ มีฝ่ายค้านในรัฐบาล

เท่านั้นไม่พอ ยังมีฝ่ายแค้นในพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่างหาก

ล้างแค้นกันในพรรค สางแค้นกันข้ามพรรค 

แค้นเก่าแค้นใหม่ ใครถูกใครผิดก็อีกเรื่องนะครับ แต่มีแค้นกันบ่อยๆ กระเทือนถึงเสถียรภาพรัฐบาลอย่างแน่นอน

วันนี้มีการส่งสัญญาณบ่งบอกอยู่เหมือนกัน

เห็นข่าวแล้วเสียวแทน "อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์" ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ชี้เป้าให้ฝ่ายค้านจับ "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขึ้นเขียงเพิ่มไปอีก ๑ รายชื่อรัฐมนตรีที่ต้องถูกซักฟอก

สาเหตุก็ฟังได้อยู่เหมือนกัน เป็นเพราะประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าจากวิกฤตพลังงาน เป็นปัญหาเชิงประจักษ์

"การจะมาคำนึงถึงมารยาททางการเมือง จึงไม่ใช่การทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่ดี"

นึกถึง ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานรัฐสภา ขึ้นมาทันทีครับ....

"อย่างนี้ยุ่งตายห่า"

อย่างแรกไม่รู้ว่า "อัครเดช" รู้ที่มาของ "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" หรือเปล่าว่า การเข้ามาแทนที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ในตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น เป็นเก้าอี้สายตรงนายกฯ ประยุทธ์

ไม่ใช่โควตาพลังประชารัฐ

ประการถัดมา ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องพลังงานจริงครับ ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูด ต่อลิตรแพงพอๆ กับ ๒ ลิตรร้อยในยุคยิ่งลักษณ์

แต่ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่เจอกับวิกฤตพลังงาน มันเป็นวิกฤตของโลก 

ไม่มีประเทศไหนรอดพ้น ยกเว้นประเทศผู้ส่งออกที่ใช้นโยบายประชานิยมอุดหนุนราคาน้ำมัน

ฉะนั้นการที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ยุให้ฝ่ายค้านซักฟอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือการดิสเคตดิตรัฐบาลโดยตรง

ประเด็นนี้ก้ำกึ่งกับการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่ดีครับ

คำให้สัมภาษณ์ของ "อัครเดช" ที่บอกว่า

"มีข้อมูลของนายสุพัฒนพงษ์พร้อม เพราะได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานกว่า ๑๐ รอบ และสามารถชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของนายสุพัฒนพงษ์ได้อย่างชัดเจน

และสามารถน็อกกลางสภาได้ มีข้อมูลพร้อมเสนอให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน"

"ผมจึงอยากเสนอตัวขอเวลาฝ่ายค้านร่วมอภิปรายนายสุพัฒนพงษ์ด้วย"

หากมองในมุมที่ว่า "สุพัฒนพงษ์" ล้มเหลวจริง ถึงขั้นที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลประสงค์จะขอร่วมซักฟอกด้วย เรื่องนี้ควรจะเป็นท่าทีที่เป็นทางการจากพรรคประชาธิปัตย์

เพราะการบริหารด้านพลังงานล้มเหลว ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก กระทบกับประชาชนทั้งประเทศในแทบทุกมิติ

ดูลาวเป็นตัวอย่าง เงินกีบแทบจะเป็นขยะ น้ำมันไม่มีให้เติม ข้าวของทุกอย่างแพงขึ้นเท่าตัว เข้าใกล้ล่มสลายเข้าไปทุกที

ฉะนั้นหากมีหลักฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้จริง พรรคประชาธิปัตย์ควรจะถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลครับ

บีบให้นายกฯ ยุบสภา-ลาออก หลังซักฟอก เพื่อหารัฐบาลใหม่มาแก้ปัญหาด้านพลังงานแทน

ก็ไม่แน่น้ำมันอาจจะลดเหลือลิตรละ ๒๐ บาท เพราะเห็นโม้กันไว้เยอะ

ส.ส.ที่ดีต้องมีข้อมูลที่เที่ยงตรงในการตัดสินใจ และต้องตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง

เป็นปัญหาที่ท้าทายแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ยุคที่เกิดความแตกแยกภายในมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรค

กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงเกรดเอครับ 

ไม่แปลกที่ "ธรรมนัส พรหมเผ่า" เข้ามาผสมโรงด้วย

"...วันนี้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครับ ผมนั่งฟังท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้ถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานถึงการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง

ผมไม่ใช่กูรูในเรื่องนี้ แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงพลังงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงไม่ออกมาชี้แจงประเด็นโครงสร้างราคาน้ำมันให้มันชัดเจนไปเลยว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำมันราคาแพงเพราะอะไร โรงกลั่นเอาเปรียบเกินไปไหม หรือมีปัจจัยอื่นๆ อีก

พี่น้องประชาชนจะได้เข้าใจและทำใจกลับไปใช้เตาอั้งโล่มหาเศรษฐี ตามนโยบายประหยัดพลังงานของกระทรวงพลังงานครับ..."

คนที่จะเล่นงานรัฐมนตรีโควตานายกฯ ไม่น้อยเลยครับ

นี่คือการส่งสัญญาณเบื้องต้นว่า สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน รัฐบาลจะพังพาบด้วยฝีมือคนในรัฐบาลเอง

ไฟมันมีเชื้ออยู่ครับ

ในมุมรัฐบาลเองก็ต้องระวังตัวให้ ผิดมาก ผิดบ่อยไม่ดีแน่นอน

ประชุมสภาวานนี้ (๒๓ มิถุนายน) รถทัวร์แทบจะตกเหว!

ฝ่ายค้านยื่นกระทู้ถามนายกฯ เรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน

ถามนายกฯ ปรากฏว่านายกฯ ติดภารกิจ มอบหมายให้รัฐมนตรีคลังตอบกระทู้แทน แต่รัฐมนตรีคลังแจ้งว่าติดภารกิจ จึงมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยคลังตอบสภาแทน แต่รัฐมนตรีช่วยคลังแจ้งสภาว่าติดภารกิจเช่นกัน สรุปไม่มีใครอยู่ตอบกระทู้ในสภา

ไฮไลต์ของเรื่องอยู่ที่รองประธานสภาฯ "สุชาติ ตันเจริญ"           "...แม้ว่าสภาจะไม่สามารถบังคับรัฐบาลได้ แต่เป็นเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงอยากฝากรัฐมนตรีไปยังนายกฯ ให้เตือนท่านนายกฯ ในที่ประชุม ครม. ว่าสภามีข้อบังคับการประชุมข้อที่ ๑๕๑ ท่านควรมาตอบเอง ให้เกียรติสภาหน่อย

ถ้าติดภารกิจควรต้องมอบหมายบุคคลที่มาตอบได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ได้หรือไม่ หรือใครที่มีความรู้ที่จะมาตอบได้ ก็ขอฝากตรงนี้ด้วย

ขอกำชับว่าการมอบหมายอย่าสั่งเหมือนทหาร คือสั่งไปแล้วถือว่าจบกัน แบบนั้นไม่ใช่ แต่ขอให้สั่งเหมือนนักการเมือง ต้องสอบถามกันหน่อยว่าว่างหรือไม่ ตอบได้หรือไม่ แบบนี้ไม่เรียกว่ามอบหมาย เพราะมอบหมายแล้วไม่มาตอบ ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ

ขอฝากท่านนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ไปเรียนท่านนายกฯ ด้วย...”

"รองสุชาติ" ก็พูดถูกนะครับ ตามข้อบังคับการประชุมสภา รัฐบาลมีหน้าที่ต้องไปตอบคำถามผู้แทนราษฎร

แต่ที่แถมมาอันนี้น่าห่วง

ตีแสกหน้า "ลุงตู่" โดยตรง

มันทำให้ตีความได้ว่า รัฐบาลนี้ บริหาร หรือสั่งการกันแบบทหาร ก็เข้าทางฝ่ายค้านครับ หากจะเอาเรื่องนี้ไปซัด "ลุงตู่" ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีน้ำหนัก เพราะคนพูดเป็นรองประธานสภาฯ จากพรรคภูมิใจไทย

ก็นี่แหละครับการเมืองในไทยปัจจุบัน ต้องใส่สแควร์รูต ถอดราก ยกกำลังสิบ แล้วค่อยๆ แย้มออกมาจึงเห็นคำตอบ

เริ่มเห็นสนิมเนื้อใน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง