'ทุกขลาภ' ของ 'ทักษิณ'

มาสรุปสถานการณ์การบ้านการเมืองสักหน่อยครับ

ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระไปเรียบร้อย ฉะนั้นก็เป็นอันจบ ไม่มีคำว่าญัตติเถื่อน 

ที่้เหลือคือเดินหน้ากำหนดวันอภิปราย จะวันไหนกี่วันก็ว่ากันไป ไม่ใช่สาระสำคัญสักเท่าไหร่

แต่ประเด็นใหญ่อยู่ที่ เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติฟอกนายกฯ และรัฐมนตรีรวม ๑๑ รายแล้ว ก็ต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ครบทั้ง ๑๑ คน 

หากจำกันได้อภิปรายคราวที่แล้วช่วงท้ายๆ ฝ่ายค้านปล่อยผี

รัฐมนตรีบางคนแทบไม่ได้แตะ เพราะปัญหาจากการบริหารเวลาของฝ่ายค้านเอง หรืออาจมีเหตุผลอื่นที่บอกไม่ได้ ฉะนั้นคราวนี้ไม่ควรจะเกิดซ้ำรอยอีก

ไม่เช่นนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เข้มข้นสุด อาจกลายเป็นเวทีหาผลประโยชน์ของนักการเมืองไปในที่สุด

ใครไม่อยากถูกซักฟอกก็ต่อรองมา แบบนั้นมันจะพังทั้งระบบ

ครับ...ประเด็นตกค้างจาก คำพูดของ "โทนี่ ทักษิณ  ชินวัตร" รัฐมนตรี กล่าวในรายการ CareTalk X  CareClubhouse เรื่อง เศรษฐกิจพังยับ ประยุทธ์รับมือไม่ไหว ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย เผยแพร่ไปเมื่อ วันอังคารที่ ๒๑ มิถุนายน ที่ผ่านมา

"การแก้ไขปัญหาต่อไปนี้ยากมาก เพราะเละเทะทุกจุด  ไม่มีระบบอะไรดีเลย ทั้งระบบราชการ ระบบการศึกษา  ระบบเศรษฐกิจ ไปหมดแล้ว

ดังนั้นต้องมานั่งวางแผนนั่งทำใหม่กันหมด

ดังนั้นแม้ว่ารัฐบาลใหม่ได้แลนด์สไลด์มา แต่ก็เป็นทุกขลาภ เพราะตอนนี้เละหมดแล้ว"

ฟังแล้วงงมั้ยครับ!

มันพังขนาดนั้นเลยหรือ

ลองแกะคำพูดดูนะครับ

"รัฐบาลใหม่ได้แลนด์สไลด์มา" "ทักษิณ" กำลังจะสื่อสารกับประชาชนว่า ต่อให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแลนด์สไลด์ และตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็เป็นทุกขลาภ เพราะปัญหาของประเทศอยู่ในขั้นเละเทะไปหมดทุกอย่าง

ออกตัวตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้งกันเลยหรือ?

ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแลนด์สไลด์ได้เป็นรัฐบาล แต่แก้ปัญหายากๆ ที่ "ทักษิณ" บอกว่ารัฐบาลประยุทธ์ขี้ทิ้งไว้ไม่ได้ ก็ไม่ควรอาสามาทำงานการเมืองครับ

ชนะแลนด์สไลด์ อำนาจอยู่ในมือเห็นๆ จะออกกฎหมายอะไรก็ได้ แล้วบอกเป็นทุกขลาภได้ไง

ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นนะครับ งานการเมืองเป็นงานอาสา ไม่ใช่บังคับ

เมื่ออาสาเข้ามา จะบอกเป็นทุกขลาภไม่ได้

เริ่มต้นคิดก็ผิดแล้วครับ คงเป็นเพราะการทำงานการเมืองในความหมายของ "ทักษิณ" อาจเป็นอีกความหมาย

ไม่ใช่งานอาสา แต่คือการทำธุรกิจ

แต่ประเด็นที่เชื่อว่าหลายคนคิดไม่เหมือน "ทักษิณ"  คือ ประเทศไทยผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด และวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลหน้าที่จะมาปีหน้าจะทำงานง่ายกว่ารัฐบาลปัจจุบันมาก

จากที่ทั้งโลกต้องปิดประเทศ หลายๆ เมืองต้องล็อกดาวน์กันเป็นเดือนๆ ธุรกิจพังระเนนระนาด คนตกงานจำนวนมหาศาล โควิดเล่นงานไปทั่ว ป่วย-ตาย นับล้านๆ

มาวันนี้ แข่งกันเปิดประเทศ ล็อกดาวน์แทบไม่มีให้เห็น ภาคธุรกิจเดินเครื่อง การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว การบินกลับมาแล้ว ผู้คนกลับมาทำงาน เครื่องยนต์ทุกตัวสตาร์ทและเดินหน้าแล้ว

จะมีปัญหาก็เรื่องราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อสร้างปัญหาให้บางประเทศ แต่ไม่ใช่ไทยแน่นอน

ฉะนั้นการมองว่า รัฐบาลหน้าเข้ามาก็เจอทุกขลาภนั้น  "ทักษิณ" กำลังกลัวว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีศักยภาพพอที่จะบริหารประเทศหรือเปล่า

หรือไม่เคยชินกับการบริหารประเทศในยุคที่โลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

"ทักษิณ" บอกว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ไม่มีระบบอะไรดีเลย

ทั้งระบบราชการ

ระบบการศึกษา

ระบบเศรษฐกิจ

ระบบราชการก็ระบบเดิมตั้งแต่ระบอบทักษิณอยู่ในอำนาจ

ระบบการศึกษา ก็ยังไม่เปลี่ยนตั้งแต่ระบอบทักษิณอยู่ในอำนาจ

ระบบเศรษฐกิจมีปัญหาแน่นอนจากวิกฤตโควิด แต่ก็มีปัญหากันทั้งโลก ไม่เฉพาะที่ประเทศไทย

ฉะนั้นการบอกว่าไม่มีอะไรดีเลย ดูจะเป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบอย่างน่าละอายที่สุด

หรืออาจเป็นเพราะ "ทักษิณ" ไม่เคยบริหารประเทศช่วงโลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริงๆ  

ย้อนกลับไปปี ๒๕๔๔ รัฐบาลทักษิณ เข้าบริหารประเทศในช่วงเศรษฐกิจโลกขาขึ้น เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

รัฐบาลชวน หลีกภัย เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวจากรัฐบาลก่อน พาประเทศเข้าโปรแกรม IMF ถูกด่าสาดเสียเทเสีย ว่าขายชาติ 

ออกกฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ

เมื่อรัฐบาลทักษิณเข้ามา ก็ได้อานิสงส์จากกฎหมายขายชาติที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา

ปี ๒๕๕๐ ช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ วัฏจักรวิกฤตเศรษฐกิจโลกวนมาอีกรอบ เกิด วิกฤติซับไพรม์-วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ กว่าจะกอบกู้กันได้ใช้เวลา ๔-๕ ปี

ช่างบังเอิญรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เข้ามาในช่วงเศรษฐกิจโลกขาขึ้นเช่นกัน แต่ก็ล่มสลายไปเพราะพยายามนิรโทษกรรมให้นักโทษหนีคุกคดีโกง

จะเห็นว่ารัฐบาลระบอบทักษิณ ไม่มีประสบการณ์บริหารประเทศในช่วงที่โลกเจอวิกฤตรุนแรง

ถามว่าต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ รุนแรงหรือไม่

คำตอบคือรุนแรงมาก

แต่เมื่อเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน บวกกันแล้ว ไม่ได้เศษเสี้ยวครับ

วิกฤตต้มยำกุ้ง-วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ไม่ถึงขั้นทำให้ผู้คนระดับรากล้ม

แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด กระทบไปทั่้วทั้งคนรวย คนจน โดนกันหมด

ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ

แต่เป็นเรื่องของ "ชีวิต" ด้วย

ฉะนั้นหากมองว่าปีหน้าเจอทุกขลาภ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ควรอาสาเข้ามาทำงานการเมือง 

ปีหน้าที่ต้องเจอแน่ๆ คือ ปัญหาด้านพลังงาน ราคาน้ำมันแพง แต่มันอยู่ในข่ายที่รัฐบาลบรรเทาให้ประชาชนได้

ไม่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ ปิดประเทศ เหมือนที่ผ่านมาแน่นอน

ครับ..."ทักษิณ" ต้องการดิสเครดิตรัฐบาลประยุทธ์ ด้วยการบอกว่าสร้างปัญหาต่างๆ ไว้มากมาย รัฐบาลแลนด์สไลด์ต้องเข้ามาแก้ไข แม้จะยากก็ตาม

แต่ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลหน้า ไม่ว่าใครเข้ามาก็ตาม ทำงานง่ายกว่ารัฐบาลปัจจุบันเยอะ 

และจะได้อานิสงส์จากผลงานของรัฐบาลปัจจุบัน 

เหมือนที่ "ทักษิณ" เข้ามาหลังประเทศผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งนั่นแหละครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง