เห็นรัฐบาลหน้ารำไร

ยังไม่ตกครับ

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังมีอายุถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม

แต่หากสมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ ตกลงปลงใจแล้วว่า ทำแท้งไปซะ ก่อนถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ก็ไม่ต้องเรียกประชุมรัฐสภาอีก

ปล่อยให้มันตกไปอย่างถาวร แล้วกลับไปใช้ร่างกฎหมายเดิม

เท่าที่สดับตรับฟังสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่บอกว่ากลับไปใช้ร่างของรัฐบาล ตามข้อเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

คือสูตรหาร ๑๐๐

ก็ว่ากันไปครับ

มาถึงประเด็นที่ว่า ใครได้ประโยชน์จากกติกาเลือกตั้งนี้

อย่างที่เขียนถึงไปหลายครั้ง หาร ๑๐๐ พรรคเล็ก พรรคน้อย พรรคเกิดใหม่ มีโอกาสสูญพันธุ์

ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ จะได้จำนวน ส.ส.มากขึ้น

ทำให้พอมองเห็นโฉมหน้ารัฐบาลถัดไปอยู่รำไรว่าใครจะได้อำนาจบริหารประเทศไปครอบครอง

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการต่อสู้ของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และขนาดกลาง

สำหรับพรรคที่ไม่มี ส.ส.เขต แต่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เตรียมตัวเซ้งที่ทำการพรรคได้เลย

ถ้านึกภาพไม่ออกว่า หาร ๑๐๐ ผลการเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน ให้นึกภาพว่า นี่คือการเพิ่มโอกาสให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

ที่จริงจะไปว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ ทุกพรรคใช้กติกาเดียวกัน แต่เมื่อคนเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่า ก็ต้องยอมรับตามนั้น

สูตรหาร ๑๐๐ คำนวณไม่ยาก

เอาร้อยไปหารคะแนนรวมที่คนไปใช้สิทธิ์ เช่น ๓๕  ล้านคน

เท่ากับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑ คนต่อสัดส่วน ประชากร ๓.๕  แสนคน

ถ้าใช้เกณฑ์จากการเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๒

พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต  ๘,๔๔๑,๒๗๔ เสียง

พรรคเพื่อไทยได้ ๗,๘๘๑,๐๐๖ เสียง

พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๒๔ คน

พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๒๒ คน

ขณะที่ระบบเลือกตั้งเดิม พลังประชารัฐได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพียง ๑๘ ที่นั่ง

ส่วนพรรคเพื่อไทย เป็น ๐ เพราะ ส.ส.พึงมีเต็มเพดาน

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ แกนนำพรรคพลังประชารัฐมองเห็นว่า หาร ๑๐๐ เป็นคุณกับพรรคมากกว่า หาร ๕๐๐ 

ในการเลือกตั้งแต่ละพรรคต้องมั่นใจในฐานเสียงของตนเอง แต่หากมีการแต่งตัวเลขเพื่อเอาใจนาย โอกาสแพ้ในสนามรบมีสูงมาก

พูดถึงกระแสทางการเมือง ไม่ง่ายที่พรรคพลังประชารัฐ จะได้คะแนนเลือกพรรคสูงเท่าการเลือกตั้ง ปี ๒๕๖๒

เพราะบัตรเลือกตั้ง ๑ ใบ กับบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ จะทำให้พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของประชาชนแตกต่างออกไป

บัตร ๑ ใบ จำใจต้องเลือกทั้งคนทั้งพรรค

บัตร ๒ ใบ เลือกคนใบ พรรคใบ

คนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี ๒๕๖๒ จำนวนหนึ่งจะถอยกลับไปเลือกพรรคเดิมที่เคยเลือก

ส่วนหนึ่งจะเลือกพรรคที่แตกออกไปจากพลังประชารัฐ

อีกทั้งกลุ่มการเมืองในพลังประชารัฐบางกลุ่ม เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่า อาจไม่ไปต่อ แต่จะกลับรังเดิม

ต่างกับเพื่อไทย ที่พยายามรวบรวมความเป็นหนึ่งเดียวไว้

แม้จะมีแตกออกไปบ้าง เช่นพรรคไทยสร้างไทย แต่เป็นการแตกที่ไม่มีนัยสำคัญ เพราะฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ

เพื่อไทยมิได้ต้องการแลนด์สไลด์ในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ แต่ต้องการชนะขาดในภาคเหนือ และอีสาน จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยนำโดย หัวหน้าครอบครัว "อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร" ทุ่มไปยังพื้นที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่

พรรคพลังประชารัฐพยายามอยู่เช่นกัน แต่ดูเหมือนว่ายังตามหลังพรรคเพื่อไทยอยู่หลายก้าว

หากจบที่สูตรหาร ๑๐๐ จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้พรรคเพื่อไทย

เราอาจได้เห็นพรรคเพื่อไทยกลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง

และจะได้นายกรัฐมนตรีหญิงเป็นคนที่ ๒ แต่สนามสกุลเดิม จากตระกูล "ชินวัตร"

ครับ...นั่้นคือภาพคร่าวๆ ที่จะเกิดขึ้น หลังการเลือกตั้งครั้งถัดไป

สำหรับ "ลุงตู่" โอกาสจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ราวกับต้องเข็นครกขึ้นภูเขา แล้วกลับลงไปงมเข็มในมหาสมุทร

ต้องยอมรับว่าโชคไม่ดีครับ รัฐบาลลุงตู่ ต้องบริหารประเทศภายใต้แรงกดดันมากมาย ทั้งจากโรคระบาด และสงคราม เศรษฐกิจตกต่ำเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ยาวนานเข้าสู่ปีที่ ๓ แล้ว

แม้ผลงานจะมีมากมาย โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีการปฏิรูปขนานใหญ่ ชนิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยคิดจะทำ หรือทำไม่ได้

แต่ก็เป็นธรรมดาที่ประชาชนจะไม่พอใจรัฐบาล และต้องการคนใหม่เข้ามาแทน

มันไม่มีหลักประกันอะไรครับว่า คนใหม่เข้ามาแล้วจะทำได้ดีกว่าเดิม

ดูรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นตัวอย่าง

บริหารประเทศไม่ได้แถมยังสร้างปัญหาเพิ่ม

กติกาเลือกตั้งเป็นเพียงการคัดกรองคน ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของประชาธิปไตย

แต่การคัดกรองที่ผิดพลาด สามารถนำไปสู่หายนะได้

ประเทศไทยอาจวนกลับไปสู่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ อีกครั้ง เพราะกติกาเลือกตั้งมีความใกล้เคียงกัน

การชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ของพรรคการเมือง ไม่ว่าเป็นพรรคไหน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย หรือพลังประชารัฐ  อาจนำไปสู่เผด็จการรัฐสภาอีกครั้ง

เพราะสิ่งที่เราเปลี่ยนคือกติกาเลือกตั้งเท่านั้น

แต่เราไม่เคยเปลี่ยนความคิดนักการเมือง

นักการเมืองวันนี้ยังเล่นเกมทำสภาล่มกันอยู่ แล้วอ้างว่านั่นคือสิทธิที่ทำได้ เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในรัฐสภา เพื่อยับยั้งกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม

มุมหนึ่งก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนครับ เพราะมันคือกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. คนออกกฎหมายมีส่วนได้เสียโดยตรง   แต่แทนที่จะพิจารณากฎหมายกันอย่างสง่างาม กลับใช้วิธีให้สภาล่มเพื่อให้กฎหมายตกไป

เป็นแท็กติกที่ทำได้ครับ เรื่องจริยธรรมไปว่ากันอีกที

แต่ในแง่สปิริตทางการเมือง นี่จะเป็นบรรทัดฐานการทำงานตามใบสั่ง

โอกาสหน้าจะไม่แปลกหากประสบพบเจอกับกรณีใกล้เคียงกันนี้

วันหนึ่งอาจมีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่นักการเมืองเพิ่งนึกได้ว่าตัวเองเสียประโยชน์ การเขี่ยกฎหมายทิ้งตามใบสั่งก็อาจเกิดขึ้นได้อีก

เพราะมันมีบรรทัดฐานให้เห็นแล้ว

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกฎหมายสำคัญ มีศักดิ์เหนือว่า ร่าง พ.ร.บ.ธรรมดา

แต่กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐสภาตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระที่สาม ทำราวกับร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นแบบฝึกหัดชั้นอนุบาล

เปลี่ยน ขีด ฆ่า ฉีกทิ้ง กันง่ายๆ

ที่จริงจะหาร ๑๐๐ หรือหาร ๕๐๐ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด เพราะอย่างไรเสียคนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งคือประชาชน ประชาชนเลือกใครมากที่สุดก็ต้องให้คนนั้นได้สิทธิ์ตั้งรัฐบาลก่อน

แต่โครงสร้างการเมืองไทยยังเหมือนเดิม

ฝั่งหนึ่งมีระบอบทักษิณ ยืนระยะโกงมาตั้งแต่รัฐบาลพี่ชายยันรัฐบาลน้องสาว และกำลังถูกจับตามองว่าสืบทอดโดยลูกสาวหรือไม่

อีกฝั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ ต้องการสืบทอดอำนาจ

จะหาร ๑๐๐ หาร ๕๐๐ ยังต้องอยู่กันแบบนี้ไปอีกหลายปีครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หนีล้มเจ้า' ปะ 'โกงคุก'

น่าจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันเยอะพอควร ไม่ชอบ "ระบอบทักษิณ" แต่ไม่ไว้ใจ "ขบวนการล้มเจ้า" กัดฟันยอมเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล

ผิด 'ทักษิณ' ที่ล้างไม่หมด

มันเหลือเชื่อมั้ยล่ะครับ.... เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี่เอง "ประยุทธ เพชรคุณ" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นั่งแถลงข่าวพูดถึงอาการของ "นักโทษชายทักษิณ" ว่าป่วยขั้นวิกฤต

๑ ประเทศ ๒ นายกฯ

มีคนสงสัยว่า "นักโทษชายทักษิณ" ออกนอกบ้านจันทร์ส่องหล้าได้หรือ

ปรากฏการณ์ทักษิณ

หวังว่าคงอยู่สุขสบายดีนะครับ ไม่ได้หมายถึง "นักโทษชายทักษิณ" แต่เป็น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับ หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ

ยุบพรรค-ล้มล้าง

คำพูดสะท้อนแนวคิด วานนี้ (๑๓ มีนาคม) "ชัยธวัช ตุลาธน" เผยตัวตนที่แท้จริง ว่ามีแนวความคิดอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ซีรีส์ยุบก้าวไกล

ถึงบางอ้อสิครับ... วานนี้ (๑๒ มีนาคม) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์