เอเปค-นายกฯ๘ปี

เรตติ้งดี....

ยังวนกับเรื่อง นายกฯ ๘ ปี ครับ เพราะมีประเด็นต่อเนื่องทุกวัน

เอาที่ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมา ตั้งแต่วันที่ ๒๔  สิงหาคม ๒๕๕๗   นี่คือข้อเท็จจริง  ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

และเช่นกัน จะครบ ๘ ปี ในวันที่ ๒๓ สิงหาคมนี้  นี่ก็คือข้อเท็จจริงเช่นกัน

แต่ที่เห็นต่างกันคือวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๘ ปี ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ นั้น  ต้องเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้ำกันอีกทีที่วิจารณ์กันอยู่มี ๓ แนวทาง

 ๑. เริ่มนับจากวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ จะสิ้นสุดในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕

๒. นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ จะครบ ๘ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๘

และ ๓. นับจากหลังการเลือกตั้ง ๒๕๖๒ ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา คือวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ระยะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๗๐

แนวทางแรกคือแนวทางที่พรรคฝ่ายค้านฟันธงว่าเป็นแบบนั้น ในการยื่นคำร้องกับประธานรัฐสภา แนบคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย และคดี สิระ เจนจาคะ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ

๒ คดีนี้พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐาน การวินิจฉัย กรณีนายกฯ ๘ ปี เพราะเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้มีผลย้อนหลัง

เอามาฝากครับ

คดียุบพรรคไทยรักไทย ขณะนั้นมีการคำถามเช่นกันว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ๑๑๑ คนมีผลย้อนหลังหรือไม่

เนื่องจากการกระทำของพรรคไทยรักไทยที่เป็นเหตุแห่งการให้ยุบพรรคเกิดขึ้นเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙  อันเป็นวันที่ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓  ซึ่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับต่อไป

จึงมีปัญหาว่า ประกาศ คปค. ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับย้อนหลังแก่การกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคซึ่งเกิดขึ้นเสร็จสมบูรณ์ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ หรือไม่

ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ๖ เสียง  เห็นว่า มีผลใช้บังคับย้อนหลังได้

พร้อมกับยกเหตุผล ๓ ข้อ คือ

๑.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑

๒.เพื่อมิให้กรรมการบริการพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

๓.แม้สิทธิเลือกตั้งจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ ก็ย่อมมีได้

ส่วนคดี สิระ เจนจาคะ  ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๗ ต่อ ๒ ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของนายสิระสิ้นสุดลง นับแต่วันทีเลือกตั้ง คือย้อนหลังไปวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ 

เหตุที่ต้องย้อนหลังเพราะ "สิระ เจนจาคะ"  ไม่มีคุณสมบัติสมัครส.ส.ตั้งแต่แรก

เข้าใจว่าพรรคฝ่ายค้านต้องการนำกรณีนี้เป็นบรรทัดฐานในกรณีการดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เหมือนหรือต่าง กรณี นายกฯ ๘ ปี

"สิระ เจนจาคะ"   ถูกวินิจฉัยให้สิ้นสภาพส.ส. จากดคีฉ้อโกง ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๘

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘  บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

 (๑๐)  เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

ฉะนั้นฉ้อโกงตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ก็ไม่รอดครับ

ประเด็นนี้คลายข้อสงสัยเรื่องรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมปราบโกงจริงหรือไม่ ได้เช่นกัน เพราะมีคนบางพวกเอารัฐธรรมนูญไปด้อยค่า ด่าสารพัด

ในทางกฎหมาย บรรทัดฐาน เป็นแบบแผนสำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องที่เหมือนกัน เช่น ในกรณีศาลในอดีตได้เคยพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งไว้แล้ว

ต่อมาปรากฏมีคดีความที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกันขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอีก ศาลก็จะพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังนั้นโดยยึดคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นบรรทัดฐาน

เช่นเดียกับกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นในทางกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้แล้ว

หากมีการหารือปัญหาข้อกฎหมายนั้นขึ้นใหม่ในภายหลัง โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกันกับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบข้อหารือไว้แล้ว 

คณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะยึดความเห็นทางกฎหมายที่เคยให้ไว้แล้วเป็นบรรทัดฐาน

ฉะนั้นคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย กับคดี สิระ เจนจาคะ   เป็นบรรทัดฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยคดี นายกฯ ๘ ปี หรือไม่ วิญญูชนย่อมรู้ดี

เริ่มมีการจี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้เร่งพิจารณาคดี

อย่าดองเรื่องช่วย "ลุงตู่"

ลองเทียบคดียุบพรรคอนาคตใหม่ครับ

วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ "ศรีสุวรรณ จรรยา"  ยื่น กกต.ให้ตรวจสอบสัญยาการกู้เงินระหว่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพรรคอนาคตใหม่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า การกู้ยืมเงินจากนายธนาธรของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา ๗๒ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

วันที่ ๒๑ กุมพาพันธุ์ ๒๕๖๓  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

ใช้เวลาพอควร

ตัดไทม์ไลน์ ศรีสุวรรณ ออกไป ให้เหลือกกต.กับศาลรัฐธรรนูญ จะเห็นว่าใช้เวลาร่วม ๒ เดือน

คดีนายกฯ ๘ ปี   วันนี้คำร้องยังอยู่ที่ประธานรัฐสภา  อาจจะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวันที่ ๒๓ สิงหาคม เพราะถือเป็นวันที่เกิดปัญหาสงสัยต้องตีความรัฐธรรมนูญแล้ว

หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา ๒ เดือน โดยมีคำวินิจฉัยช่วงปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน จะเกิดอะไรขึ้น

เกิดแน่ครับ เพราะไทยต้องเป็น มีการประชุมผู้นำเอเปค ในวันที่ ๑๔-๑๙ พฤศจิกายน

มันก็อลเวงพอควร

ที่่ปล่อยข่าวยุบสภายิ่งแล้วใหญ่

หากนายกฯจะชิงยุบสภา ไม่ใช่ก่อนวันที่ ๒๓ สิงหาคมแน่นอน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรรองรับเลย

หรือหากจะยุบสภาก่อนมีคำวินิจฉัย ก็อีกเป็นเดือนครับ

เป็นไปไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้

อย่างเร็วสุดอาจเป็นปลายเดือนกันยายน

กรณียุบสภาต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน ๔๕-๖๐ วัน

หรือเราจะเลือกตั้งกันช่วงประชุมเอเปค

ครับ...ไทม์ไลน์สิ้นปีดูจะยุ่งเหยิงพอควร 

แต่ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี นายกฯ ๘ ปี หลังการประชุมเอเปคผ่านพ้นไป

แต่ก็ไม่แน่อีกนั่นแหละครับ ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเร็วกว่าคดีอื่นๆ

เพื่อให้การประชุมเอเปคผ่านไปอย่างราบอื่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง