สนทนา 'สภากาแฟ'

เชื่อแล้วล่ะว่า "นายกฯ ประยุทธ์" นี่

"หัวดี"

ตอนเป็นเด็กนักเรียน สอบแต่ละครั้ง คะแนนเฉลี่ยไม่เคยต่ำกว่า ๘๐%

เพราะอย่างนี้นี่เอง ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลา "ส่งคำชี้แจง" ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันรับคำร้องเมื่อ ๒๔ ส.ค.๖๕ ประเด็น "นายกฯ ๘ ปี"

ท่านใช้เวลาทำข้อสอบแค่ ๗ วัน ก็เสร็จ ส่งครูเรียบร้อย ตั้งแต่ ๑ กันยา

จะบอกว่าเด็กชายตู่ "หัวดี" หรือ "ข้อสอบง่าย" หรือประกอบกันทั้ง ๒ อย่าง ก็ไม่รู้สินะ

แต่ที่รู้แน่ๆ รายการนี้ ไม่มีข้อสอบรั่ว ไม่มีติดสินบนครู  ไม่มีบกพร่องโดยสุจริต เหมือนใครบางคน ในคดี "ซุกหุ้น"!

อย่างนี้ หมายความว่า ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยได้เร็วใช่หรือไม่?

มาตรฐานยุติธรรมนั้น

"การลัดคิว" นั่นก็ "ไม่ยุติธรรม" แล้ว!

ดังนั้น ศาลฯ ท่านก็พิจารณาไปตามลำดับเรื่องที่รับไว้และตามเทอมเวลาแต่ละเรื่องที่มีกฎหมายเป็นข้อบ่งกำหนด

อย่างเรื่องนายกฯ ๘ ปี ตามเทอมเวลากฎหมายชี้บ่ง ยังไงก็ต้องรู้ผลภายใน ๔๕ วัน

คือจะเร็ว-ช้า ไม่เกินจากนี้แน่!          

เพราะเท่าที่ผมฟังรองนายกฯ วิษณุพูดเมื่อวาน (๒ ก.ย.) ท่านบอกว่า

ศาลรัฐธรรมนูญให้ "นายมีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๖๐​ และ "นายปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาธิการกฤษฎีกา และอดีตเลขานุการ กรธ.

ยื่นคำให้การด้วยเช่นกัน "ภายใน ๑๕ วัน"!

ก็ไม่ทราบว่าอาจารย์มีชัยกับคุณปกรณ์จะเป็นนักเรียนหัวดีเหมือนท่านนายกฯ หรือเปล่า?

แต่ที่แน่ๆ ทั้งสองท่าน ละเอียด รอบคอบ สุขุม จะคิด-จะทำอะไร ก็คิดและทำเป็นกระบวนการเชื่อมโยง

ถ้าเป็นช่างตัดเสื้อนอก ก็ต้องบอกว่า....

"เข้าตะเข็บได้เนี้ยบ" ชนิดช่างอิตาลีมองค้อน!

ฉะนั้น ท่านอาจใช้เวลา ๗ วัน หรือประณีตศิลป์ ถึงนาทีสุดท้ายของเวลา ๑๕ วันก็ได้ ดังนั้น ตั้งนาฬิกาใจ เผื่อไว้ที่ ๓๐ กันยาจะได้ไม่ต้องคอยชะเง้อทุกวัน

อีกอย่าง ด้วยระบบไต่สวน ศาลท่านอาจมีคำถามหรืออยากได้เอกสารอะไรเพิ่มเติมอีกก็ได้

เรื่องนี้ เท่าที่ผมสังเกต แทนที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง คือนายกฯ จะเดือดร้อน กลับชิลๆ นุ่งขาก๊วย อวดน่องอยู่บ้าน สบายอารมณ์

ตรงข้ามกับเพื่อไทย-ผู้ร้อง.......

ดูจะหื่นกระหาย กระหืดกระหอบ ไม่ทันใจ ถึงขั้นไล่ให้ลาออกไปเองซะเลย

บ่งบอกอาการ ปากโจรว่าจะแลนด์สไลด์ แต่ใจกลัวทหาร จนขี้ขึ้นสมอง!

เนี่ย.....

เราๆ ก็พูดกันไป นายกฯ ๘ ปี...นายกฯ ๘ ปี ก็หมุนซ้าย-หมุนขวาไปตามคนโน้นพูด-คนนี้พูด....ตัวเองไม่มีแก่นยึด

เหมือนนักเรียนตอนสอบ...

ถ้าอ่านโจทย์หรือตีโจทย์ไม่แตก ก็ทำข้อสอบไม่ได้ หรือได้ อาจผิดมากกว่าถูก

กรณีนี้เช่นกัน เรามาดูโจทย์ คือประเด็นที่เพื่อไทยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่อง "๘ ปี ของนายกฯ ประยุทธ์" ชัดๆ กันก่อน

โจทย์ที่ฝ่ายค้านส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ประมาณว่า

"ให้ตีความว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา  ๑๗๐ วรรคสาม และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ 

โดยเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ ๘ ปี ในวันที่ ๒๓ ส.ค.๖๕ นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรก เมื่อ ๒๔ ส.ค.๕๗"

ทีนี้ มาดู ๒ มาตรา ในรัฐธรรมนูญ ๖๐ ที่ฝ่ายค้านอ้าง

มาตรา ๑๗๐ มีความว่า.....

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

 (1) ตาย

 (2) ลาออก

 (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ

 (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187

 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171

นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย

ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย

มาตรา ๑๕๘ มีความว่า.........

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

ก็เป็นเรื่อง "ข้อกฎหมาย" ล้วนๆ ที่ต้องตีความ มาตรา  ๑๗๐ และมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐ โดยเฉพาะ

นี่คือโจทย์ของฝ่ายค้าน

ก็จะเห็นว่าฝ่ายค้านตัดต่อสายพันธุ์เอา "นายกฯ เผด็จการ" ตามรัฐธรรมนูญ ๕๗ โยงสายสิญจน์ มาเป็นนายกฯ เลือกตั้ง ในระบบรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๖๐ ด้วย

เพื่อจะได้เข้าเงื่อนไข ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐!?

กรอบของโจทย์ที่ศาลฯ ต้องตีความ ตามที่ฝ่ายค้านร้องขอ ก็เฉพาะที่มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม และมาตรา ๑๕๘  วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐

นั่นก็คือ ถ้านายกฯ ยังคง "หัวดี" เหมือนตอนเป็นนักเรียนก็น่าจะตีโจทย์ได้ตรงประเด็น จึงทำข้อสอบส่งครูได้เร็ว  เหลือเวลาไปซื้อไอติมแท่งแทะเล่นเย็นๆ เหงือก อีกตั้ง ๗  วัน

อาจารย์มีชัยในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๖๐ และคุณปกรณ์ ในฐานะเลขาฯ กรธ.

ไม่ต้องไปห่วงหรอกว่าท่าน "เข้าใจโจทย์" ขนาดไหน?

ไปคลิกเว็บอ่าน "คำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐"

เปิดที่คำอธิบายประกอบมาตรา ๑๕๘ และมาตรา ๑๗๐  ก็เข้าใจเจตนารมณ์ผู้ร่างแล้ว ว่า

๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ เชื่อมโยงกับมาตรา  ๑๗๐ นั้น     

เจตนารมณ์ เขาให้นับเวลา ๘ ปี ตามรัฐธรรมนูญฉบับไหน?

อันรัฐธรรมนูญนั้่น จะอ่านเฉพาะวรรค เฉพาะมาตราแล้วทึกทักเอาไม่ได้

ต้องอ่านทุกวรรค-ทุกคำ เพราะในความเชื่อมโยงถึงกันของแต่ละมาตรานั้น จะบ่งบอกให้รู้ถึงเจตนาของจุดประสงค์ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างมาตรา ๑๕๘ ที่ชอบยกวรรคสี่ เฉพาะตรง "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้" มาพูดกันนั้น

ควรต้องรู้ว่า ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ตามวรรคสี่นี้ หมายถึงผู้มีคุณสมบัติผ่านมาตามขั้นตอน วรรคหนึ่ง..วรรคสอง...วรรคสาม ตามลำดับ ถึงจะเข้าองค์ประกอบนายกฯ ตามความในวรรคสี่

โดยมี มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง เชื่อมโยงรองรับกันอยู่ในความเป็นนายกฯ ตามมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐

อ่านคำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของมาตรา ๑๕๘ ซักหน่อยเป็นไร

คำอธิบายประกอบ มาตรา ๑๕๘....ฯลฯ.......

 (๒) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๖๐ ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๕๙

โดยกำหนดหลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า

จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่า

บุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าตนเลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา

กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม

แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

.............................

เห็นแล้วใช่มั้ย นายกฯ ๘ ปี ตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ ต้องมาตามขั้นตอนอย่างนี้

๔ ปีแรกของพลเอกประยุทธ์ เหมือน "บวชนอกโบสถ์"

จะมานับพรรษาต่อ ตอนมีพระอุปัชฌาย์ "บวชให้ใหม่" ในโบสถ์ ไม่ได้หรอก...โยม!

วันเสาร์ที่ปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พรพระ-พรนักโทษ'

หมู่นี้..... "คนห่มเหลือง" ประพฤติผิดพระวินัยสงฆ์ ต้อง "อาบัติปาราชิก" ข้อ "เสพเมถุน" ถี่มาก!

เศรษฐา "นายกฯ ฮูดินี"

"ชีวิตที่มีหมานำ" ก็อย่างนี้แหละครับ "หัวหน้าคอก" เมื่อพักคุก ก็ไปขลุกเชียงใหม่

'เมษา....พระมาเตือน'

เรา...."ประเทศไทย"! "ชาติ-พระศาสนา-พระมหากษัตริย์" เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม