เพราะไม่ใช่คดีโกง

ยืดเยื้อมา ๑๐ ปี

วานนี้ (๒๐ กันยายน) จบไปแล้ว

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" กับพวกคดีประมูลสร้างโรงพักทดแทนทั่วประเทศ

สังคมถูกทำให้เชื่อว่าคดีนี้เป็นคดีโกง เมื่อศาลพิพากษาไปแล้ว คนที่ไม่พร้อมจะเชื่อก็มีอยู่เยอะ เพราะไม่ตรงที่ใจคิด

ตั้งธงมาเป็นสิบปีแล้วว่า "สุเทพ" ต้องโกง

เส้นทางคดียิ่งกว่าอ่านสามก๊ก เพราะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง มีความซับซ้อนในบทบาทขององค์กรอิสระในช่วงเวลานั้น

จุดเริ่มต้น เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติเป็นหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน) จำนวน ๓๙๖ แห่ง  วงเงิน ๖,๖๗๒ ล้านบาท

ขณะนั้น "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านความมั่นคง

โครงการเริ่มตอกเสาเข็ม เดือนมีนาคม ๒๕๕๔   แต่เมื่อใกล้สิ้นสุดสัญญาในปี ๒๕๕๖  ผู้รับเหมาพากันทิ้งงาน

โรงพักโผล่แต่เสา

มีการไปขุดคุ้ยแล้วอ้างว่าสาเหตุที่ โรงพักโผล่แต่เสาเพราะมีการฮั้่วประมูล มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจัดจ้าง จากเดิมที่ให้จัดจ้างเป็นรายภาค เปลี่ยนเป็นจัดจ้างรวมกันที่ส่วนกลางในครั้งเดียว

พร้อมกับข้อกล่าวหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ"  เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

เรื่องมันเริ่มแบบนี้

หลังรัฐบาลมีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒  ได้ให้ดําเนินการตามความเห็นของสํานักงบประมาณ ซึ่งตามหนังสือสํานักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๗๐๗/๐๘๕  ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑  มีสาระสําคัญว่า ขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ จัดลําดับความสําคัญของรายการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จ กระจายไปยังพื้นที่จะได้รวดเร็วใช้การได้

กองพลาธิการและสรรพาวุธ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ๐๐๐๙.๒๔/๑๙๙๕ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๒ เสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับแนวการจัดจ้าง

มีการเสนอเป็น ๔ แนวทาง                    

๑.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ แบบรวมการในครั้งเดียว สัญญาเดียว ๓๙๖ หลัง             

๒.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ-แบบรวมการในครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค ๑- ๙) และทําสัญญา ๙ สัญญา

๓.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรภาค

๔.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรจังหวัด

ต่อมามีการเคาะให้เป็นจัดจ้างโดยส่วนกลาง ให้จัดจ้างที่ส่วนกลาง โดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติ แบบรวมการครั้งเดียว โดยทําสัญญาเดียว ๓๙๖ หลัง อยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง นโยบายของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่มีการเมืองมาผูกโยง

ทีนี้เรื่องมาเป็นข่าวโด่งดังเอาตอนที่ พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน

ปี ๒๕๕๕ มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ  "เฉลิม อยู่บำรุง"  ตอนนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกจับเชือดในสภา

แต่กลับตาลปัตร เมื่อ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" ขณะนั้นเป็นส.ส.ในสภา สังกัดพรรครักประเทศไทย หยิบเอาประเด็นฮั้วประมูลโรงพักมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ  "เฉลิม อยู่บำรุง"

ว่ากันว่างานนี้เจตนาชงให้ "เฉลิม อยู่บำรุง" เพื่อเล่นงาน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ศัตรูการเมืองคนสำคัญตลอดกาล

เรื่องก็กลายเป็นรัฐบาลตรวจสอบฝ่ายค้านซึ่งเป็นอดีตรัฐบาล  โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยุค

"ธาริต เพ็งดิษฐ์"  ซึ่งถูกฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า ธาริตเปลี่ยนไป

ดีเอสไอสอบหนึ่งสองสามสี่ ก็ส่งสำนวนให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อ

ป.ป.ช.จึงมีคำสั่งที่ ๑๒๙/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน มี "วิชา มหาคุณ" เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา "สุเทพ เทือกสุบรรณ"  ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายต่อสตช. และทางราชการอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

ส่วน "นายกฯอภิสิทธิ์" รอดเพราะไม่พบพยานหลักฐานว่าเป็นผู้อนุมัติสั่งการ

ล่วงมาปี ๒๕๖๐  "สุเทพ เทือกสุบรรณ"  ทำหนังสือถึง "วัชรพล ประสานราชกิจ" ประธาน ป.ป.ช. ให้ปลด "วิชา มหาคุณ" ออกจากการเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน

ระบุในหนังสือว่ามี "อคติ"

มีรายละเอียดบอกว่า  ในอดีต "วิชา มหาคุณ" เคยไม่พอใจเรื่องมติ ก.ตร. ต่อกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ไม่สอดคล้องกับมติ ป.ป.ช. ซึ่งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ในคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑

งูกินหางไปหลายตลบ

ก็ได้ผล

ป.ป.ช.มีคำสั่งที่ ๖๑๕/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๐ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวน จากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง

"สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร" และ "สุภา ปิยะจิตติ" กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

มาถึงตรงนี้เริ่มเข้มข้นขึ้น

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๒  ลงมติเอกฉันท์ ๘ เสียง ชี้มูลความผิด "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

ส่วนนายตำรวจระดับสูงคนอื่นๆผิดไปคนละกระทงสองกระทง

และมีความเห็นไปยังอัยการสูงสุด ให้ดำเนินคดี

นี่จึงไม่ใช่คดีเรียกรับสินบน เพราะป.ป.ช.เองก็ไม่มีหลักฐาน

เมื่ออัยการสูงสุดรับสำนวนจาก ป.ป.ช.  ได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.และอัยการ เพื่อพิจารณาประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ กระทั่งต่อมาอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จึงฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง

และวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ศาลได้รับคำฟ้อง

แต่ระหว่างทางมีประเด็นน่าสนใจ

กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย "ธาริต เพ็งดิษฐ์"  แถลงข้อสงสัยทุจริต จนทำให้ถูกฟ้องหมิ่นประมาทจาก "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุก "ธาริต เพ็งดิษฐ์"  ๑ ปีโดยไม่รอลงอาญา

๒๐ กันยายน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง

ครับ...นั่นคือเส้นทางคร่าวๆของคดีนี้

กรณี "สุเทพ เทือกสุบรรณ" คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  จึงระบุว่า

...การที่จำเลยที่ ๑ อนุมัติการจัดจ้างก่อสร้างแบบรายภาค ๑-๙ ภาค และเปลี่ยนเป็นวิธีอิเล็กทรอนิกส์รวมกันในครั้งเดียวโดยไม่เสนอให้ค.ร.ม.อนุมัติ จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ...

จำเลยคนอื่นๆศาลจึงยกฟ้องหมอ

เรื่องมันจึงมีอยู่แค่นั้นครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ