'ประยุทธ์' ผู้ชี้ชะตา

จบแต่ไม่จบ

ครับ...ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๖ ต่อ ๓ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อ

ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ  พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ 

วาระ ๘ ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๕  เมษายน ๒๕๖๘

ใจความสำคัญในคำวินิจฉัยหลักๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์  เป็นนายกรัฐมนตรี จากรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับ

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเอาไว้

ส่วนรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ กำหนดว่าห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปี

รัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับมีลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีที่แตกต่างกัน

บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ที่บัญญัติให้ คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

มาตรานี้ไม่อาจนำมานับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ เพราะบัญญัติเพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเท่านั้น

ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ไม่มีบทบัญญัติให้ย้อนหลังไปบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ

ต่างจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค  ๑๑๑ คน ที่ทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง และมีบทบัญญัติให้เอาผิดย้อนหลังเอาไว้

ในแง่ของคำวินิจฉัยหลักๆ ก็แค่นี้ครับ 

แต่ที่เกินมาคือความไม่พอใจ

ก็ตามที่เกริ่นไว้ จบ แต่ ไม่จบ

ตุลาคมนี้ น่าจะเป็นอีก ๑ เดือนที่ ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องฟังแถลงข่าวของตำรวจ เพราะจะมีการชุมนุมถี่ยิบ ไล่รัฐบาลประยุทธ์ให้พ้นไปให้ได้

เพราะขู่กันไว้แบบนั้น

เรื่องที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ  ทุกฝ่ายเข้าใจกันดีอยู่แล้ว และให้ลืมไปเสียก่อน

เนื่องจากไม่ผูกพันกับม็อบ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง

คนสมหวังคงไม่ต้องไปพูดถึง แต่สำหรับคนผิดหวัง  หลังจากนี้จะสร้างความยากลำบากในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์อยู่พอประมาณ

ฉะนั้นตุลาคม เดือนแห่งการชุมนุม ต้องจับตาว่าม็อบจะขับเคลื่อนโดยใคร

หากพรรคการเมืองเข้าผสมโรง ก็น่าเป็นห่วงว่าก่อนการเลือกตั้งจะดุเดือด ชนิดเกิดม็อบชนม็อบกันเป็นระยะๆ           เพราะทุกพรรคจัดม็อบได้ทั้งนั้น

แต่หากเคลื่อนโดย "จตุพร-นกเขา" ไม่มีอะไรต้องห่วงมากนัก เพราะศักยภาพในการรวบรวมคนไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

คนเก่าแคลงใจ คนใหม่ไม่กล้าเข้า

ภาพที่ปรากฏจึงเท่าที่เห็น หลักร้อยได้แน่ หลักพันต้องลุ้นกันหน่อย

ส่วนหลักหมื่นยังนึกภาพไม่ออก

สำหรับแกนนำม็อบ ๓ นิ้ว ต้องคิดเยอะกว่าใครเพื่อน  เพราะทุกคนล้วนอยู่ระหว่างการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขที่ศาลวางไว้ เป็นครื่องเตือนสติอยู่

ทำผิดเงื่อนไขโอกาสกลับเข้าคุกมีสูง

ที่น่ากังวลสุด จึงเป็นม็อบทะลุแก๊ส

ดินแดงจะกลายเป็นสมรภูมิรบย่อมๆ อีกครั้ง แต่จะไม่ยืดเยื้อ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจับทางได้เกือบหมดแล้ว

ผ่านเดือนตุลาคม ไปเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยจะอยู่ในบรรยากาศต้องต้อนรับแขกต่างประเทศ ผู้นำชาติเอเปกจะมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ

ม็อบมาแน่ครับ เพราะเป็นของคู่กับการประชุมเอเปก  แต่ไม่มีอะไรน่าห่วง เนื่องจากเป็นม็อบตามอีเวนต์ การประชุมระดับโลกมีที่ไหน ม็อบกลุ่มนี้จะไปที่นั่น

ข้อเรียกร้องเป็นเรื่องระดับโลก เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ม็อบไล่ประยุทธ์โดยตรง

จบเอเปกไปแล้วก็เข้าสู่การเมืองอีกโหมดที่ต่างออกไป

ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ครับว่า จะเดินบนเส้นทางการเมืองต่อหรือไม่อย่างไร

จะอยู่ครบวาระจนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖ ก็ได้

จากนั้นรักษาการต่อจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ นับคร่าวๆ ก็น่าจะเป็นปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน ปีหน้า

หรือจะยุบสภาก่อน เพื่อลดบรรยากาศความร้อนแรงทางการเมืองลง

การเมืองหลังจากนี้น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

การที่วาระการดำรงตำแหน่ง ๘ ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๘ พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกลับไปคิดกันเยอะพอควรว่าเลือกตั้งครั้งหน้า จะยังเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่

หากยึดเอาตามไทม์ไลน์ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดวันเลือกตั้งไว้วันที่ ๗ พฤษภาคม  ๒๕๖๖ วาระในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเหลือไม่ถึง ๒ ปีเต็ม 

 หากพรรคพลังประชารัฐยังคงยืนยันเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต่อไป ก็ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่

เสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ มากกว่า ๑ ชื่อ เพื่อสำรองไว้หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ อีกสมัย และต้องพ้นตำแหน่งในปี ๒๕๖๘

เมื่อเลือกนายกฯ กันใหม่ พรรคพลังประชารัฐยังมีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เหลืออยู่ ไม่ต้องไปอาศัยนายกฯ ก๊อกสองจากคนนอกบัญชีพรรคการเมือง

อย่าลืมนะครับ ๒๕๐ ส.ว. ยังมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีอยู่

แนวทางนี้จะได้ผลหรือไม่ สังคมจะตอบรับหรือเปล่า  พรรคพลังประชารัฐต้องไปประเมินกัน

แต่ที่แน่ๆ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้  กลายเป็นเงื่อนไขใหม่ให้ทุกพรรคการเมืองต้องไปประเมินสถานการณ์กันใหม่ทั้งหมด

ตัวละครอาจเปลี่ยน พรรคการเมืองใหญ่จึงต้องรักษาฐานเดิมและเพิ่มฐานใหม่ให้ได้มากที่สุด

และแน่นอนครับ การยุบพรรคการเมืองหนึ่งไปรวมกับอีกพรรคการเมืองหนึ่งจะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายพรรคหลังจากนี้

ถ้าหวยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์วางมือ หลายพรรคกระเทือน โดยเฉพาะพรรคเล็ก พรรคใหม่ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

แต่พรรคใหญ่บางพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะจะไม่มีอีกแล้วยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ว่า เลือกพลังประชารัฐเพราะอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ    

ปูเสื่อรอเลยครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ