ประชานิยมซ่อนรูป

จะพัฒนาประเทศยังต้องทำอีกหลายสิ่งครับ

เรื่องขจัดนักกินเมือง คงจะยากครับ เพราะเงื่อนไขยังไม่สุกงอมพอ

ปฏิรูปการเมือง ก็ยังแค่ฝัน

ปฏิรูปตำรวจยิ่งแล้วใหญ่

คงต้องรอกันอีกนาน

วานนี้ (๒๙ พฤศจิกายน) พูดเรื่องปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้รากเหง้าของตัวเองไปแล้ว 

เท่านั้นคงยังไม่พอ มีเรื่องรอให้แก้ไขอีกบานตะไท

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปีหน้านี้ สิ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรคต้องตกผลึกในการสร้างนโยบายคือ ปัญหาที่รออยู่

เพลาๆ นโยบายประชานิยม แล้วไปเริ่มต้นกับปัญหาที่ต้องแก้

อย่างที่รู้กัน ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

ไทยจะเผชิญวิกฤตหนัก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าเจอแน่ๆ

บางพรรคการเมืองพยายามเข็นนโยบายรัฐสวัสดิการ  แต่ที่น่ากังวลคือ รัฐมีรายได้เพียงพอที่จะเอามาบริหารจัดการหรือไม่

พรรคก้าวไกลบอกว่าสบายมาก แค่ตัดงบกลาโหม งบเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอื่นๆ ก็เพียงพอที่จะ แจกตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา ถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เข้าไปดูเนื้อใน เงินผู้สูงวัยเดือนละ ๓ พันบาท ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ ๔๕๐ บาท ค่าทำศพ ฯลฯ

พูดจริงๆ นะครับ มันไม่ใช่รัฐสวิสดิการ แต่มันคือประชานิยมซ่อนรูป ลดแลกแจกแถมมากกว่าที่หลายๆ พรรคนำเสนอก่อนหน้านี้

นี่คือประชานิยมซ่อนรูปมาในคราบ รัฐสวัสดิการ เม็ดเงินจากการแก้แค้นเอาคืนกองทัพ และสถาบันพระมหากษัตริย์

ฉะนั้นพรรคก้าวไกลยังคงอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง และพยายามซื้อประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม

หากจะใช้นโยบายรัฐสวัสดิการจริงๆ ที่มาของงบประมาณต้องมีความเป็นสากลด้วย

คือการเก็บภาษีในอัตราที่สูง สมน้ำสมเนื้อกับการที่รัฐต้องจ่ายเพื่อดูแลประชาชน

เงินคนแก่เดือนละ ๓,๐๐๐ มันใช้ดำรงชีวิตจริงๆ ไม่ได้ครับ

ต้องหลักหมื่น

๒-๓ หมื่นต่อเดือน แบบนี้ถึงจะเรียกว่ารัฐสวัสดิการ

ทำแบบนี้ได้ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ๑๐% ขึ้นไป

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเกิน ๕๐%

ไปดูประเทศรัฐสวัสดิการเขาเสียภาษีเงินได้กันเท่าไหร่

ฟินแลนด์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๔๗%

เดนมาร์ก เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๕๖%

ญี่ปุ่น เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๕๖%

ไทย เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๓๕%

นิวซีแลนด์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๓๓%

สิงคโปร์ เสียภาษีเงินได้สูงสุด ๒๒%

เห็นไทยจ่ายภาษีเยอะกว่านิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อย่าด่วนสรุปว่าเรารวยกว่า

เห็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าแต่รายได้ต่ำกว่า

สัดส่วนผู้เสียภาษีในไทยอยู่ที่ ๑๗% หรือประมาณ  ๑๑ ล้านคนเท่านั้น

เก็บภาษีได้ ๓ แสนล้านบาทเท่านั้น 

ไม่ใช่ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนประเทศรัฐสวัสดิการ

ฉะนั้นพรรคการเมืองต้องหัดพูดความจริงเสียบ้าง

ก็รู้อยู่มันงูกินหาง

ประชาชนไม่อยากจ่ายภาษีแพง อ้างว่านักการเมืองโกงงบประมาณแผ่นดิน

ส่วนนักการเมือง ไม่เคยปลอดคอร์รัปชัน แต่ก็อยากได้งบประมาณ

ทีนี้มาดูว่า ทศวรรษหน้าต้องเจออะไรบ้าง

วันก่อน "ดร.อรรถพล สังขวาสี" ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พูดถึง ๕ ปัญหารุมเร้า ที่ต้องแก้เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ขณะที่ผลิตภาพแรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงระดับติดลบ  

ประการแรก ในอีก ๑๑ ปีข้างหน้าผู้สูงอายุของไทยจะสูงขึ้นเป็น ๒๘% หรือมากกว่าปัจจุบันราว ๑๐% ซึ่งในทางวิชาการจะใช้ศัพท์ที่เรียกว่าสังคมสูงอายุระดับสุดยอด  และปัจจุบันมีผู้สูงอายุ ๑๙.๒% อาศัยรายได้จากเบี้ยยังชีพจากราชการ ที่อัตราเพียงเดือนละ ๖๐๐-๑,๐๐๐ บาทต่อคนเท่านั้น

ประการที่ ๒ ผลิตภาพแรงงาน (Labour  Productivity) เป็นการวัดสัดส่วนผลผลิตต่อหน่วยของแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจระยะยาว และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากข้อมูลองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  (International Labour Organization:  ILO) พบว่า ผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงของไทยมีทิศทางลดลงและปรับเป็นระดับหดตัวในปี ๒๕๖๓ ในอัตราร้อยละ -๑.๘๙ และจากการจัดอันดับโดย Institute  for Management Development (IMD) ปี ๒๕๖๔ ผลิตภาพแรงงานของไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๐ จาก ๖๔ ประเทศ

 ประการที่ ๓ ในปี ๒๕๖๒ ไทยมีกลุ่มเยาวชนว่างงานและนอกระบบการศึกษา (NEET) เยาวชนอายุ  ๑๕-๒๔ ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม มากถึง ๑.๓ ล้านคน (๑๔% ของเยาวชนไทย)  และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ ๑%

ประการที่ ๔ ในปี ๒๕๖๔ ไทยมีแรงงานฝีมือเพียง  ๑๔.๔% และมีแรงงานนอกระบบมากถึง ๕๒% ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสวัสดิการ เมื่อเกษียณอายุแล้วย่อมส่งผลกับการดำรงชีวิต ในระยะยาวจะกระทบต่อรัฐในการจัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านสุขภาพ

และประการที่ ๕ ดัชนีทุนมนุษย์ (Human  Capital Index) ที่คำนวณโดยธนาคารโลก (World Bank) ในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ ๐.๖๑ หมายความว่าเด็กที่เกิดในประเทศไทยเมื่อเติบโตขึ้นจะมีศักยภาพในระดับร้อยละ ๖๑ ของผลิตภาพที่เป็นไปได้ของตัวเอง (Potential Productivity)

หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามภาวะปกติ ในทศวรรษหน้าเราจะเผชิญปัญหาหนัก และปัญหานี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงภาคการศึกษา (Education Sector)  เท่านั้น

จะส่งผลกระทบกับภาคอื่น ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

แต่...เราสามารถเข้าไปพัฒนา คือการเตรียมพัฒนากำลังคนให้ทำงานได้เต็มตามศักยภาพ

ครับ...นโยบายพัฒนาคน เอามาหาเสียงยากครับ นักการเมืองจึงไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ สู้แจกเงินไม่ได้

ฉะนั้นพรรคการเมืองไหนนำเสนอนโยบายมองไปในอนาคตทศวรรษหน้า ได้โปรดช่วยกันเลือกครับ

พวกประชานิยมซ่อนรูป อย่าไปสนับสนุนเด็ดขาด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หนีล้มเจ้า' ปะ 'โกงคุก'

น่าจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันเยอะพอควร ไม่ชอบ "ระบอบทักษิณ" แต่ไม่ไว้ใจ "ขบวนการล้มเจ้า" กัดฟันยอมเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล

ผิด 'ทักษิณ' ที่ล้างไม่หมด

มันเหลือเชื่อมั้ยล่ะครับ.... เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี่เอง "ประยุทธ เพชรคุณ" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นั่งแถลงข่าวพูดถึงอาการของ "นักโทษชายทักษิณ" ว่าป่วยขั้นวิกฤต

๑ ประเทศ ๒ นายกฯ

มีคนสงสัยว่า "นักโทษชายทักษิณ" ออกนอกบ้านจันทร์ส่องหล้าได้หรือ

ปรากฏการณ์ทักษิณ

หวังว่าคงอยู่สุขสบายดีนะครับ ไม่ได้หมายถึง "นักโทษชายทักษิณ" แต่เป็น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับ หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ

ยุบพรรค-ล้มล้าง

คำพูดสะท้อนแนวคิด วานนี้ (๑๓ มีนาคม) "ชัยธวัช ตุลาธน" เผยตัวตนที่แท้จริง ว่ามีแนวความคิดอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ซีรีส์ยุบก้าวไกล

ถึงบางอ้อสิครับ... วานนี้ (๑๒ มีนาคม) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์