แอมเนสตี้ฝักใฝ่การเมือง

จู่ๆ ความจริงก็ถูกขยายความ

คงเป็นความชาญฉลาดหาตัวจับยากของ "iLaw" ที่อุตส่าห์ไปรวบรวมสถิติแกนนำถูกดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒ มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ตามมาดูครับ      

....ปลายปี ๒๕๖๓ ต่อปี ๒๕๖๔ สถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒  อย่างน้อย ๑๕๖ คน ใน ๑๖๒ คดี

จากจำนวนคดีทั้งหมดนี้ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ได้ประกันตัว หรือได้ปล่อยตัวชั่วคราว

แต่ก็มีบางส่วนที่ถูกคุมขังระหว่างการดำเนินคดี

นับถึงวันครบรอบหนึ่งปีของการนำมาตรา ๑๑๒ กลับมาใช้ มีคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีอย่างน้อย ๖ คน คือ อานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร์, เพนกวิน พริษฐ์,  รุ้ง ปนัสยา, ไมค์ ภาณุพงศ์​ และเบนจา อะปัญ

นอกจากจำนวนคดี และคนที่ถูกดำเนินคดีจะพุ่งสูงขึ้นมาก ยังปรากฏว่า มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนถูกดำเนินคดีหลายคดีไปพร้อมๆ กัน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากสถิติคนที่ถูกดำเนินคดีสูงสุด ๑๑ คนแรก มีดังนี้

เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ ๒๒ คดี

อานนท์ นำภา ๑๔ คดี

ไมค์ - ภาณุพงศ์ จาดนอก ๙ คดี

รุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ๙ คดี

พลอย - เบนจา อะปัญ ๖ คดี

แอมป์ - ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ๔ คดี

ฟ้า - พรหมศร วีระธรรมจารี ๔ คดี

ไบรท์ - ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ๔ คดี

จัสติน - ชูเกียรติ แสงวงค์ ๔ คดี

ตี้ - วรรณวลี ธรรมสัตยา ๔ คดี

มายด์ - ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ๓ คดี...

ต้องขอบคุณอย่างแรง

ที่จริง "iLaw" จะสื่อว่า มีการใช้ ม.๑๑๒ เพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง

มีการนำมาใช้เพื่อปิดปาก ประชาชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง....ประมาณนั้นครับ

แต่มองมุมกลับ เห็นถึงความ "ซ้ำซาก"

เกือบทุกคน ถูกจับ แล้วปล่อย มากี่รอบแล้ว ก็ยังไปทำความผิดในฐานความผิดเดิมซ้ำอีก

คนทำผิดคดีเดียวกัน ๒๒ ครั้ง "iLaw" ควรจะฉุกคิดบ้างว่า สมเหตุสมผลแล้วหรือยังที่ศาลท่าน ไม่ให้ประกันตัว

หรือถ้าคิดว่าต้องให้ประกันตัวทุกครั้ง จะให้ศาลใช้กฎหมายอะไร มาตรฐานอะไร

ขโมยเงินครั้งละ ๑ บาท ๒๒ ครั้ง ถือเป็นการทำความผิดซ้ำซากเหมือนกัน ศาลก็สามารถใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัวได้

คนมีสันดานแบบนั้น ก็ต้องว่าไปตามกฎหมายบ้านเมือง

กรณีการยื่นประกันตัวสำหรับผู้ที่เคยได้กระทำความผิดซ้ำนั้น ในการยื่นขอประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีใดๆ ศาลก็จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา ๑๐๘ ที่บัญญัติว่าในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต้องพิจารณาประกอบ

 (๑) ความหนักเบาของข้อหา

 (๒) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

 (๓) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

 (๔) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

 (๕) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

 (๖) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่

 (๗) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล

กรณีแกนนำ ๓ นิ้ว มันก็เข้าเกณฑ์นี้ครับ พฤติการณ์แห่งคดี วนอยู่กับเรื่องดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

ฉะนั้นจะบอกว่าศาลไม่คำนึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่สนใจปกป้องบุคคลที่ถูกละเมิดโดยรัฐ คำถามคือแล้วจะให้ศาลใช้กฎหมายอะไรมาอธิบายว่า เชิญ เพนกวิน ทำผิด ม.๑๑๒  ครั้งที่ ๑๐๐ เถอะ ศาลจะปล่อยตัวทุกครั้ง

มันเป็นไปไม่ได้

ทำไมคิดว่า เพนกวิน และพวกต้องได้รับการปกป้องจากการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงจะถูกหลักสิทธิมนุษยชน

พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ว่าจะไม่เขียนแล้วเชียว สุดท้ายต้องทุบกันหน่อย

ว่ากันตามหลักการ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน มีความสำคัญมากในโลกยุคใหม่

เพราะอย่างน้อยหากการเมืองในประเทศมันเลวทราม ไร้ทางเยียวยา ก็ได้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนี่แหละครับ เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน

แต่ในทางกลับกัน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฝักใฝ่การเมือง มีส่วนร่วมล้มล้างระบอบการปกครอง ก็จะกลายเป็นองค์กรสิทธิมนุษยโจรไป

เห็นไล่ "แอมเนสตี้" กันโครมๆ ก็ไม่ใช่ไทยที่แรกครับ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง เพิ่งจะเก็บผ้าเก็บผ่อนกลับบ้าน ยุติการดำเนินงานที่ฮ่องกงไปเมื่อเดือนตุลาคม

อ้างว่าเป็นผลมาจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ซึ่งทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงแทบไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระ

และทำงานด้วยความหวาดกลัวที่จะถูกตอบโต้อย่างร้ายแรงจากรัฐบาล

แต่คนฮ่องกงวิจารณ์กันขรม เพราะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง อยู่เบื้องหลังเด็กๆ ฮ่องกงประท้วงเผาเมือง

สุดท้ายแพ้ กลัวถูกเช็กบิล

ที่ไทยคงไม่กระมังครับ ยังมีเด็กๆ พร้อมจะติดคุกแทนอีกหลายคน

ปกติ "แอมเนสตี้" ถูกด่าแล้วเฉย คราวนี้ชี้แจงตอบโต้เป็นฉากๆ

ร่ายมาตั้งแต่ แอมเนสตี้เข้ามามีบทบาทในไทยจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙

จดหมายนับแสนฉบับที่ถูกส่งมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการประท้วง ซึ่งจดหมายเหล่านั้นมาจากผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลก

เรื่องเงินสนับสนุนว่ามาจากการบริจาคของประชาชน

เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง หรือลัทธิใดๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น

ทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคลที่ถูกละเมิด เพราะมีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม ไม่ควรมีใครถูกกดให้ต่ำลง

ก็เอาแค่คร่าวๆ

เรื่องเงินทุนช่างมันเถอะ ตราบที่ไม่เอาบัญชีมากางให้เห็น ใครๆ ก็สีข้างถลอกได้

แต่เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ข้ามไปไม่ได้เลย

แอมเนสตี้ ยืนยันว่าตัวเองเป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง แต่พฤติกรรมกลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง

เอาง่ายๆ ครับ ลองถามกูเกิลดู

แอมเนสตี้ กปปส.

แอมเนสตี้ เสื้อแดง

แอมเนสตี้ สามนิ้ว

เสิร์ชข้อมูลเลยครับเห็นข่าวอะไรมากกว่ากัน

แอมเนสตี้ กปปส. แทบจะหาไม่เจอ เพราะขณะ กปปส.  ชุมนุม เป็นที่รู้กันว่า แอมเนสตี้ กลายเป็นคนขี้เกียจ เอาแต่นอนหลับ

ถ้ายังไม่ชัด ลองไปอ่านรายงานประจำปี ๒๕๕๖ และ  ๒๕๕๗ ของ แอมเนสตี้ สิครับว่า เขียนอะไรเอาไว้บ้าง 

เฉพาะที่เกี่ยวกับการชุมนุม ปี ๒๕๕๖ แอมเนสตี้ รายงานว่า

"ในเดือนมกราคม รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี ๒๕๕๓ ในเดือนพฤษภาคม มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในปี ๒๕๕๓ แต่กระบวนการพิจารณาร่างได้ชะงักลงเมื่อเดือนกรกฎาคม หลังจากศาลระบุว่าฝ่ายความมั่นคงมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ผู้ประท้วง นปช.ที่ถูกสังหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ได้มีการแจ้งข้อหาฆ่าคนตายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม นับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรายแรก ๆ ที่ถูกตั้งข้อหาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี  ๒๕๕๓ นอกจากนี้ การไต่สวนคดีก่อการร้ายต่อแกนนำ นปช. ๒๔ คน ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม"         

ที่เหลือคือ พูดถึง ม.๑๑๒ เหมือนที่พูดอยู่ในวันนี้          

ปี ๒๕๕๗ รายงานว่า

...ให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก ทางหน่วยงานเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากพวกเขาถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการประท้วงอย่างสงบ ทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และควรตั้งข้อหาและฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัยโดยใช้ฐานความผิดทางอาญาตามกฎหมาย และให้ดำเนินการผ่านศาลพลเรือน และดูแลให้กระบวนการยุติธรรมสอดคล้องกับมาตรฐานว่าด้วยความเป็นธรรมระหว่างประเทศ...

ที่ยกปี ๒๕๕๖ และ ๒๕๕๗ ก็เพราะเป็นปีที่ กปปส.ชุมนุม และมีคนตายไปหลายคน

ปี ๒๕๕๖ แอมเนสตี้ ถอยไปรายงานเรื่องเสื้อแดงชุมนุมเลยครับ ๒๕๕๗ แล้วใหญ่ พูดถึงเหตุการณ์หลังรัฐประหารทั้งหมด

แล้วในสายตาของ แอมเนสตี้ การชุมนุมของ กปปส.คืออะไร? ไหนบอกว่าเชื่อมั่น มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม

นี่หรือไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง