ปีศาจ 'โอไมครอน'

สถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ น่าจะเปลี่ยนไปอีกแล้ว

แทบทุกประเทศทั่วโลกเร่งฉีดวัคซีนแข่งกับเวลา เพื่อสู้กับโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่ทั้งดุและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

ทำท่าจะชนะ แม้บางประเทศในยุโรปเจอเวฟ ๕ เพราะเสรีภาพในการไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่ยอมฉีดวัคซีนก็ตาม

แต่...โลกกลับต้องเผชิญปีศาจตัวใหม่

"โอไมครอน"

หลักๆ โอไมครอน มีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามมากถึง ๔๓ ตำแหน่ง

ขณะที่เดลตาซึ่งเคยสร้างความหวาดผวาไปทั่วโลก กลายพันธุ์เพียง ๑๘ ตำแหน่ง เท่านั้น

ถึงได้ตกตะลึงกัน!

โอไมครอน ถูกพบในประเทศบอตสวานา ย่านแอฟริกาใต้ เมื่อกลางเดือนมานี่เอง

และ ๒๘ พฤศจิกายน มีรายงานพบการติดเชื้อจากหลายประเทศ อาทิ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร อิสราเอล เบลเยียม ฮ่องกง เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรเลีย เป็นต้น

ที่สำคัญบางคนที่ตรวจพบเชื้อเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ ๒  เข็มแล้ว

ณ ตอนนี้ถือว่า โอไมครอน ยังใหม่มาก มนุษย์ยังรู้จักไม่หมด

แต่ที่ยืนยันแล้วคือสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลตา ที่ระบาดมากที่สุดในโลกเวลานี้  และเสี่ยงจะมาแทนเดลตา

แน่นอนครับ นำมาซึ่งความตื่นตระหนกไปทั่วโลก

นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องรีบจองเที่ยวบินออกจากประเทศย่านแอฟริกาใต้เกือบทั้งหมด

หลายประเทศในยุโรป อเมริกา เอเชีย ขวัญผวา ขึ้นบัญชีดำ                                

ไทยเราก็ขยับ ห้ามพลเมืองจาก ๘ ประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกา ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี  โมซัมบิก นามิเบีย ซิมบับเว แอฟริกาใต้ เดินทางเข้ามา

เมื่อครั้ง เดลตา ระบาด มนุษย์ตื่นตัวในระดับหนึ่ง เพราะวัคซีนที่มีอยู่สามารถจัดการได้

แต่ไม่ใช่กับ โอไมครอน      

คราวนี้บริษัทผลิตวัคซีนเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จนสะท้อนนัยสำคัญบางประการ ที่ทำให้เห็นว่าต้องจัดการกับ  โอไมครอน ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

หาไม่แล้ว หายนะแน่นอน

แม้จะมีข้อมูลด้านบวกอยู่บ้างจากแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอไมครอน พบว่าผู้ป่วย มีอาการไม่หนัก

แค่เป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว กับไอเพียงเล็กน้อย

ส่วนใหญ่กลับไปรักษาตัวที่บ้าน 

กลุ่มคนไข้ที่ว่านี้ล้วนมีสุขภาพดี หลายคนฉีดวัคซีนครบ  ๒ โดสแล้ว

แต่กับกลุ่มเสี่ยง จากโรคประจำตัว กลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีน  ยังไม่มีข้อมูล

ฟังดูแล้วก็คลายความตื่นตระหนกไปได้บ้าง แต่อย่างที่บอก เรายังรู้จัก โอไมครอน ไม่มาก

การขยับตัวของบริษัทวัคซีนมีข้อมูลที่น่าสนใจครับ

Pfizer กำลังเร่งศึกษาไวรัสตัวนี้ร่วมกับ BioNTech

ใช้เวลาส่องในแล็บ ๒ สัปดาห์ แล้วจะบอกอีกทีว่า Pfizer  สูตรเทพ ยังจะสามารถจัดการกับเจ้า โอไมครอน ได้หรือไม่

ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำสูตรใหม่

เข็นออกสู่ตลาดได้ใน ๑๐๐ วัน

ส่วน AstraZeneca ส่งทีมนักวิจัย ไปยังประเทศต้นกำเนิด โอไมครอน คือ บอตสวานา แล้ว

และแจ้งว่าหากต้องผลิตวัคซีนสูตรใหม่ ก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะรู้จักโควิด-๑๙ มาระดับหนึ่งแล้ว ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่เหมือน วัคซีนสูตรแรก

สำหรับ Johnson&Johnson อยู่ในช่วง เริ่มทำการทดสอบวัคซีนสูตรเดิมกับ โอไมครอน แล้ว

Moderna กำลังทำบูสเตอร์สูตรใหม่สำหรับ โอไมครอน  อยู่ ใช้เวลาไม่เกิน ๓ เดือน

ขณะที่ฝั่งจีน กลับมีท่าทีที่ต่างออกไป

ศาสตราจารย์จิน ตงเอี๋ยน ศาสตราจารย์ด้านชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ยืนยันกับสื่อว่าประชาชนควรตื่นตัวต่อการค้นพบไวรัสดังกล่าว เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ต้องจับตาและศึกษาวิจัยอย่างใกล้ชิด

แต่ยังไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก

ให้เหตุผลว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า โอไมครอน จะเป็นภัยคุกคามต่อโลก

และการกลายพันธุ์ที่พบถึง ๔๐ กว่าจุด แม้จะมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่

เช่นเดียวกับ "จ้วง ฉีลีเหอ" นักภูมิคุ้มกันวิทยา บอกว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คุ้นเคยอยู่แล้ว และต้องศึกษากันต่อไปว่าการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่ออัตราการแพร่เชื้อในระดับไหน เพราะในบางครั้งการกลายพันธุ์อาจทำให้ไวรัสอ่อนแอลงก็ได้

การที่ไวรัสโควิดจะกลายพันธุ์จนมีฤทธิ์รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลตาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

และเป็นเรื่องที่ยากมากถ้าจะมีไวรัสโควิดกลายพันธุ์แข็งแกร่งกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

หาก โอไมครอน มีฤทธิ์ทำให้เกิดการติดเชื้อมากตามที่หลายฝ่ายกังวลจริง ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนก็พร้อมที่จะพัฒนาวัคซีนเชื้อตายเพื่อสู้กับไวรัสนี้ได้ภายใน ๒ สัปดาห์

นั่นคือท่าทีจากมหาอำนาจฝั่งตะวันตก และตะวันออก ที่ดูๆ แล้ว ยังแตกต่างกัน

ครับ...ก็พอสรุปได้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับ โอไมครอน ยังไม่นิ่ง

แล้วไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร

จำนวนผู้เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๗  พฤศจิกายน มีทั้งสิ้น ๑๑๖,๓๒๓ ราย

พบติดเชื้อ ๑๔๙ ราย

คิดเป็น ๐.๑๓%

เฉพาะวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน เดินทางเข้ามา ๖,๑๑๕  ราย

พบผู้ติดเชื้อ ๕ ราย

ประเทศที่มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุดคือ อเมริกา  เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย  เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ยูเออี และสิงคโปร์

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอมาตรการเพิ่มเติมต่อ  ศบค.สัปดาห์นี้ คือ ห้ามหรือจำกัดการเดินทางของกลุ่มประเทศเสี่ยงเข้ามาไทย

พร้อมกับเสนอให้ปรับการตรวจคัดกรอง RT-PCR เพื่อตรวจจับเชื้อได้ดีกว่าการตรวจ ATK

ประสานหน่วยความมั่นคงสกัดกั้นการลักลอบการเดินทางเข้าไทยตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด

การเข้ามาทางอากาศ ยังไม่น่ากังวลเท่าไหร่

แต่ชายแดนดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะมีนักการเมืองชั่ว ข้าราชการเลว นายทุนหน้าเลือด อยู่ในขบวนการค้าแรงงานเถื่อน

ฉะนั้นเส้นทางการระบาดของ โอไมครอน อาจจะซ้ำรอย เดลตา ก็เป็นได้

อินเดียกับประเทศแถบแอฟริกา มีความใกล้ชิดกันค่อนข้างมาก

เมื่อไหร่ที่ โอไมครอน เข้า อินเดีย ก็ให้ระวัง เพราะ เมียนมา มีชายแดนติดกับอินเดีย ระยะทางถึง ๑,๖๔๓ กิโลเมตร

ขณะที่ชายแดนไทย-เมียนมา ยาว ๒,๒๐๒ กิโลเมตร

มีแรงงานจากเมียนมาทะลักเข้าไทยอย่างผิดกฎหมายแทบทุกวัน จากขบวนการค้าแรงงานเถื่อน

เมื่อเรามีบทเรียนจาก เดลตา ให้ถอดแล้ว

แต่ก็ยังมีปัญหาเดิมๆ

แรงงานผิดกฎหมายจากเมียนมายังสามารถเล็ดลอดเข้ามาในประเทศ และเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยจำนวนไม่น้อย

ก็ลองให้นึกภาพดู หากเดือนสองเดือนข้างหน้ามีแรงงานผิดกฎหมายพา โอไมครอน เข้ามา สถานการณ์ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

จะต้องล็อกดาวน์ในเวฟ ๕ กันอีกหรือ?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง