บันทึก 'เพื่อชาติ' ไทย-ซาอุฯ

ทั้งโลก เขาชื่นชม-ยินดี ที่ "ซาอุฯ-ไทย" คืนสัมพันธ์

มีแต่พวกเรากันเองนี่แหละ

อิจฉา...

กลัวนายกฯ ประยุทธ์จะ "ดี-เด่นดัง" กลัวบ้านเมืองตัวเองจะมั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน ก็ปั้นประเด็น "ดิสเครดิต" นายกฯ จนน่าเกลียด

ไว้คุยวันหลัง วันนี้ ขอบันทึก "วันประวัติศาสตร์" ไว้ก่อน เพื่อกาลข้างหน้า จะได้มี "ข้อมูลตรง" สำหรับศึกษา-ค้นคว้า

นายกฯ กลับถึงไทยเช้าแก่ๆ วันที่ ๒๖ มกรา ๖๕ ท่านก็โพสต์ "รายงานประชาชน" ไว้ ดังนี้

"ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha"

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

วันนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะขอแจ้งข่าวดีต่อปวงชนชาวไทย รวมทั้งชาวซาอุดีอาระเบีย เกี่ยวกับความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ใน “ระดับปกติ” อย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้สืบไป

ภายใต้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน

และเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความร่วมมือ สร้างสรรค์ และพัฒนา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติระหว่างสองประเทศ

ภารกิจการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของผมในครั้งนี้ เป็นไปตามคำเชิญของ "เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด" มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ซึ่งนับว่า ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในเบื้องต้น ทั้งสองฝ่าย ได้เห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้งสองประเทศ

จาก "อุปทูต" ให้กลับมาเป็นระดับ "เอกอัครราชทูต" ดังเดิม       

รวมทั้งจะพิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคี เพื่อผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เจริญงอกงามสืบต่อไป

และในโอกาสการพบหารือครั้งนี้

ผมได้กราบบังคมทูลเชิญ "มกุฎราชกุมารฯ แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย" ให้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ในวันนี้ด้วย

ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งกับ “โอกาสอันมากมายมหาศาล” ที่ประเมินว่า ทั้งสองประเทศจะได้รับ จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ได้แก่

1.ด้านท่องเที่ยว : เป็นโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประชาชนที่จะมีพลวัตมากขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมนี้อย่างรอบด้าน

เบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่า การเดินทางไปมาหาสู่ที่สะดวกยิ่งขึ้น ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบีย จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่าประมาณ 5,000  ล้านบาทต่อปี

2.ด้านพลังงาน : เกิดการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน      

ซึ่งเป็น "เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติ" ของทั้งสองประเทศ โดยซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศผู้ค้าและมีแหล่งสำรองน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก ตลอดจนมีวิทยาการด้านพลังงานที่ทันสมัย

ส่วนไทยก็มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่พร้อมรองรับการวิจัย พัฒนา และการลงทุนแห่งอนาคต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย BCG Economy

สอดรับกับข้อริเริ่ม Saudi Green Initiative และ Middle  East Green Initative ของซาอุดีอาระเบีย

3.ด้านแรงงาน : ไทยมีแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่มีศักยภาพจำนวนมาก ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่างๆ จำนวนมากเช่นกัน

โดยช่วงปี 2530 ไทยเคยส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบียมากถึง 300,000 คน สร้างรายได้ส่งกลับประเทศมากกว่า  9,000 ล้านบาทต่อปี

บัดนี้ ความร่วมมือและโอกาสนั้น จะกลับมาอีกครั้ง โดยแรงงานจากประเทศไทย จะมีส่วนช่วยเติมเต็ม “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ.2030” (Saudi Vision 2030) ผ่านโครงการก่อสร้างที่คาดว่า จะมีขึ้นเป็นจำนวนมาก

4.ด้านอาหาร : ประเทศไทยนั้นถือเป็น “ครัวโลก” อุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ผัก ผลไม้ และประมง อีกทั้งมีอาหารที่ทั่วโลกต่างหลงมนตร์เสน่ห์

รวมถึงอาหาร “ฮาลาล” ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกให้แก่ซาอุดีอาระเบีย

รวมถึงผ่านซาอุดีอาระเบียไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

นำมาซึ่งโอกาสอย่างมหาศาล สำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย

5.ด้านสุขภาพ : ด้วยความแข็งแกร่งด้านระบบสาธารณสุขของไทย และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก

รวมถึงการให้บริการที่ทุกคนประทับใจ ทำให้ไทยกลายเป็น "ศูนย์กลางทางการแพทย์" (Medical Hub) ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็น "นักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม" นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย

โดยผู้ป่วยมักจะเดินทางมาพร้อมกับครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มักจะซื้อแพ็กเกจที่รวมการรักษาพยาบาล ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยว

จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น

6.ด้านความมั่นคง : ซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศอิสลามสายกลาง ที่มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC)

สามารถมีบทบาทช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ "สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" อย่างยั่งยืน ตามแนวทางสันติสุข

นอกจากนั้น ยังสามารถมีความร่วมมือกันด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง และการต่อต้านการก่อการร้ายอีกด้วย

7.ด้านการศึกษาและศาสนา : ที่ผ่านมานั้น ซาอุดีอาระเบีย ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการศึกษาด้านศาสนา

นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบีย ยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน สุขภาพ การวิจัยทางทะเล  การก่อสร้าง เทคโนโลยีป้องกันประเทศ

และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันอีกมาก

8.ด้านการค้าและการลงทุน : เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการกลับมาสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติ จะสร้างโอกาส

และเปิดประตูทางการค้าให้แก่นักลงทุนและ SME ไทย  ในการแสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจและการแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นทั้งในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าตกแต่งภายใน และเฟอร์นิเจอร์

ในขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ก็ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" ในด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

ซึ่งไทยนั้น มีความพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ สถานศึกษา และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ อย่าง  EEC พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ

และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมไปถึงการสร้างเมืองอัจฉริยะในจังหวัดต่างๆ ด้วย

9.ด้านการกีฬา : จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศ ที่มีความสนใจในการแข่งขันและการกีฬาต่างๆ ร่วมกัน

เช่น ฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถ รวมถึง e-sport  และอื่นๆ และเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริม "มวยไทย" ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

ในวันนี้ ทั้งสองประเทศ สามารถก้าวผ่านพ้นอดีต กลับมาสู่อนาคตที่สดใส โดยประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า นี่คือ “ชัยชนะ” สำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ

ที่รัฐบาลของทั้งคู่ได้ใช้ความพยายามและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จนสำเร็จลุล่วงได้ในที่สุด และพร้อมก้าวย่างต่อไปอย่างมั่นคง

ขยายจากความร่วมมือทวิภาคี "ไทย-ซาอุดีอาระเบีย" ไปสู่พหุภาคี "อาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ” (Gulf Cooperation Council: GCC)

โดยต่อจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินงานอย่างไม่ลดละ ที่จะนำเอาความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ แปลงไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอีกมากมาย

ผมจะเร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อสร้างโอกาสให้พี่น้องประชาชน และการฟื้นฟูประเทศหลังโควิดโดยเร็วที่สุด

ซึ่งผมจะได้นำมาเรียนแจ้งพี่น้องในทันทีที่มีความคืบหน้าครับ

...........................

เอาล่ะ นี่คือความสำเร็จเพื่อชาติและประชาชนของทั้ง ๒  ประเทศ บนความเพียรพยายามทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง ของผู้นำรัฐบาลที่ชื่อ "พลเอกประยุทธ์"

ก็มาดูบทบาทการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง มุ่งหวัง "โค่นล้ม-ขับไล่นายกฯ" อย่างเดียวของฝ่ายค้านอันมี "ชลน่าน  ศรีแก้ว" เป็นผู้นำดูบ้าง

ว่าระดับหัวหน้าพรรคใต้ตีนทักษิณ และผู้นำฝ่ายค้านระบบรัฐสภา จะแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์ต่อความสำเร็จ "เพื่อชาติ" ครั้งนี้อย่างไร?

นี้คือ ความตอนหนึ่งจากการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวานของท่านผู้นำชลน่าน ศรีแก้ว

"......ซึ่งขณะนี้รัฐบาลถังแตกไม่มีเงิน เพราะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เลย

ต่างประเทศไม่ยอมรับ ไม่มีความเชื่อมั่น แล้วใครจะคบค้าสมาคมกับประเทศไทย ไปซาอุฯ โชว์ว่าเป็นผลงาน

แต่ความจริงคือ ซาอุฯ ต้องการเปิดประเทศ เพราะเขาเห็นช่องทาง ว่าปิดประเทศแบบนี้เดินต่อไม่ได้

ขนาดซาอุฯ ยังคิดเป็น คนขี่อูฐยังคิดเป็น แต่คนขี่ควายคิดไม่เป็น ไม่รู้เอาสมองควายมาใส่หรือเปล่า ผมไม่เข้าใจ”

.......................

ยินดีด้วยกับเพื่อไทย ยินดีด้วยกับชาวน่าน และยินดีด้วย กับทุกท่านที่ร่วมชาติตระกูลกับ "ท่านชลน่าน ศรีแก้ว"

ขออนุญาตงดเรียก "นพ." ในการเอ่ยชื่อท่านนะครับ

ไม่ใช่อะไร.......

เพื่อสงวนเกียรติคำว่า "นพ." ไว้

"นพ." ทั่วไป จะได้ไม่รู้สึกขยะแขยงและอับอาย จนไม่อยากใช้ "นพ." นำหน้าชื่ออีกต่อไป เพราะท่าน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง