หลากมิติที่หลักสี่

คิดเล่นๆ

ถ้า "ลุงตู่" อยู่ครบเทอม เดือนมีนาคม ๒๕๖๖

"ลุงตู่" ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คนที่ครบ ๔ ปี ตามวาระของสภาผู้แทนราษฎร

คนที่อยู่ครบเทอมก่อนหน้านี้มี "พระยาพหลพลพยุหเสนา" สภาครบวาระและจัดเลือกตั้งทั่วไปวันที่ ๒๑  ธันวาคม ๒๔๘๐

สมัย "จอมพล แปลก พิบูลสงคราม" สภาครบวาระและจัดการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๐

และ "ทักษิณ ชินวัตร" ระหว่างปี ๒๕๔๔-๒๕๔๘

"ทักษิณ" หมายมั่นปั้นมือว่าจะอยู่ครบ ๔ ปีทั้งสองเทอม

แต่เทอมสอง กลายเป็นทรราช เผด็จการรัฐสภา อยู่ได้แค่ปีเศษ ก็ถูกรัฐประหารด้วยข้อหา สร้างความขัดแย้ง คอร์รัปชัน โคตรโกง โกงทั้งโคตร 

สำหรับ "ลุงตู่" กำลังทำหลายสถิติในเวลาเดียวกัน

จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกคนที่อยู่ครบวาระ ๔ ปี

ทำสถิตินายกรัฐมนตรีครบ ๔ ปี สองสมัยติด

และทำสถิติเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดเป็นลำดับสองรองจาก "จอมพล ป."

จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี ๒ ช่วงเวลา

ช่วงแรกตั้งแต่ปี ๒๔๘๑-๒๔๘๗

ช่วงที่สองปี ๒๔๙๑-๒๕๐๐

รวมแล้วเกือบ ๑๕ ปี

แนวทางทำสถิติในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "ลุงตู่" มีทั้งหมด ๓ แนวทาง โดยมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรค คือกรณีห้ามดำรงตำแหน่งเกิน ๘ ปี หรือเกิน ๒  สมัยติดต่อกัน

๑.นับจากการได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร คือ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ เท่ากับจะครบ ๘ ปี ในสิงหาคม ๒๕๖๕ 

ถ้านับแบบนี้ "ลุงตู่" อดทำทุกสถิติ

๒.นับจากวันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ คือเดือนเมษายน  ๒๕๖๐ ก็เท่ากับจะครบ ๘ ปี ในเดือนเมษายน ๒๕๖๘

นับแบบนี้ สามารถทำได้ ๒ สถิติคือ อยู่ครบ ๑ เทอม  และจะทำสถิติใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกอยู่ครบเทอมสองสมัย  

๓.นับจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ แล้วได้เป็นนายกฯ  ในมิถุนายน ๒๕๖๒ เท่ากับจะเป็นนายกฯ ได้จนถึงมิถุนายน  ๒๕๗๐ บวกกับเป็นนายกฯ มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗

รวม ๑๓ ปี

ทิ้ง "จอมพลถนอม กิตติขจร" ที่เป็นนายกฯ เกือบๆ ๙ ปี   และ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ๘ ปีครึ่ง ไปโขทีเดียว

คิดเล่นๆ ในทางทฤษฎีมีความเป็นไปได้

แต่ในทางปฏิบัติ...ไม่ง่าย

เรียกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาน่าจะเหมาะกว่า เพราะสภาพของพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่มีความชัดเจนพอว่า จะสามารถยืนระยะเป็นพรรคขนาดใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปได้หรือไม่

ถ้า "ลุงตู่" อยู่ครบเทอม การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖

เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๒ บัญญัติว่า

"เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ"

สภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระเดือนมีนาคม ๒๕๖๖

มีความจำเป็นที่ "ลุงตู่" ต้องอยู่ครบเทอมแรกนี้หรือไม่?

การเป็นเจ้าภาพประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี ๒๕๖๕ ช่วงปลายปีนี้ จะเป็นปัจจัยหลักต่อการยุบสภา-ลาออก

ดูเหมือนฝ่ายค้านเองก็รู้ว่า จะไม่มีการ ยุบสภา-ลาออก  รัฐบาลจะยื้อไปจนกว่าจะผ่านพ้นการประชุมเอเปกไปแล้ว

และรัฐบาลเอง ต้องการผลงานชิ้นโบแดงจากการประชุมเอเปก   

อย่างที่เขียนถึงไปหลายครั้งหาก "ลุงตู่" พ้นวิกฤตเดือนสิงหาคม กรณีนายกฯ ๘ ปีไปได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นับหนึ่ง ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๐ 

ปี ๒๕๖๖ คือปีที่ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป

อย่านำกรณี "๒๑ ส.ส.กลุ่มธรรมนัส" มากำหนดเป็นปัจจัยหลักว่า จะส่งผลให้รัฐบาลต้องยุบสภา-ลาออก แน่นอน

เพราะเบื้องลึกเบื้องหลังเรื่องนี้ยังมีอีกมาก แต่ "๒๑ ส.ส.กลุ่มธรรมนัส" เป็นเพียง "ผู้เดินตาม" เท่านั้น ไม่ใช่ "ผู้ต่อรอง"

การขับพ้นพรรคคือการให้โอกาส      

ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องเล็ก

แต่เรื่องใหญ่คือเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่

เลือกตั้งเขตนี้มีหลากหลายมิติ

คะแนนที่ออกมาจะดูแบบฉาบฉวยไม่ได้

ต้องลงลึกถึงเนื้อแท้ว่า ผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคนได้คะแนนจากไหน เพราะอะไร

เพื่อไทยชนะไม่มีเซอร์ไพรส์ เพราะการเลือกตั้ง ๒๔  มีนาคม ๒๕๖๒ “สุรชาติ เทียนทอง” ได้ ๓๒,๑๑๕ คะแนน  ครั้งนี้ก็แค่รักษาฐานเดิมไว้ได้

และทำได้ที่ ๒๔,๑๓๑ คะแนน

แต่ที่น่าประหลาดใจคือ พรรคก้าวไกล ได้คะแนนจาก หน่วยเลือกตั้งเขตทหาร

ที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ก้าวไกล นำลิ่ว

สะท้อนว่า เขตทหาร หมดยุคซ้ายหันขวาหันแล้ว อีกทั้งโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ผู้ใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่

นี่แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เขาเลือกอนาคตของเขาแล้ว

ไม่ยึดโยงกับอดีต!

สำหรับ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” จากพรรคกล้า การลงคะแนนของชาวเขตหลักสี่ จะคล้ายๆ กับการเลือกตั้งใหญ่  ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒

เขาเลือกพรรคกล้า เพราะเลือกรัฐบาล

 “อรรถวิชช์” มีฐานเดิมอยู่ในพื้นที่จตุจักร เป็นฐานเสียงสมัยอยู่ประชาธิปัตย์

เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัคร ตัวเลือกสำหรับแฟนคลับประชาธิปัตย์ จึงเป็น “อรรถวิชช์” 

ส่วนพรรคไทยภักดี ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า

สุดท้ายพลังประชารัฐ เมื่อประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่าคือ “อรรถวิชช์”  ประชาชนก็ไม่ลังเลที่จะสั่งสอนให้พลังประชารัฐได้รู้ว่า...

ประชาชนมีทางเลือกเสมอ

และพลังประชารัฐสร้างสถิติใหม่ เป็นสถิติที่ไม่พึงประสงค์เอาเลย

ในรอบ ๑ เดือน แพ้เลือกตั้งซ่อม ๓ สนามติด

คราวนี้ไม่ต้องคิดเล่นๆ เอาของจริง

"ลุงตู่" ที่ยังต้องยืมจมูกพรรคพลังประชารัฐหายใจ ต้องทำการบ้านหนักกว่าเดิม

แม้เลือกตั้งเขตเดียวไม่สามารถตัดสินโฉมหน้ารัฐบาลได้

แต่หากเกิดอุบัติเหตุเดือนสิงหาคม

พลังประชารัฐอาจจบเช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง