ม็อบถอยทัพ-'ประยุทธ์'กระแสตก 'พรรคการเมือง'รอวัดผลเลือกตั้งซ่อม

ผ่านเข้า “ปีเสือ” ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันและกระจายไปทั่วประเทศ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขเร่งออกมาตรการสกัดกั้นเพื่อชะลอการระบาด ลดภาระเตียงที่อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เป็นปัญหาที่ต้องเร่งบริหารจัดการ เพื่อลดผลกระทบในช่วง 2-3 เดือนนี้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง การประกอบอาชีพของประชาชนทุกภาคส่วน ที่เจอโควิดมาหลายระลอกจนสภาพ “บักโกรก” และหวังจะหายใจได้บ้างในช่วงปลายปีที่รัฐให้ธุรกิจต่างๆ เปิดทำกิจกรรมเกือบเป็นปกติ

ซึ่งเชื่อว่าแผนงานของรัฐบาลที่เตรียมไว้จะรับมือสถานการณ์ในครั้งนี้ได้ เนื่องจากมีประสบการณ์และบทเรียนจากระลอกที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยที่ไม่สูญเสียมากนัก จึงนับว่าโชคดีที่ “โอมิครอน” ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตมนุษย์เหมือนโควิดสายพันธุ์อื่น ทำให้รัฐบาลก็โล่งใจในข้อมูลทางวิชาการ

อีกทั้งปัญหาการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน จากการเรียกร้องของกลุ่มม็อบ 3 นิ้ว และเครือข่าย ต่างก็ชะลอการจัดกิจกรรมไว้เพื่อดูสถานการณ์ หลังจากแกนนำคนสำคัญยังถูกจำคุก ไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่พันธมิตรม็อบต่างถอยทัพกลับที่ตั้ง พร้อมกระแสข่าวว่าแกนนำม็อบหลายคนที่ยังรอดพ้นคดีเตรียมแต่งตัวเลือกเส้นทางใหม่ ด้วยการสมัครเข้าพรรคการเมืองลง รอการเลือกตั้งที่จะมาถึง

จะเรียกว่าเป็นความโชคดีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่เหตุการณ์ ปัจจัยแวดล้อมเป็นใจให้บริหารประเทศในช่วงนี้ต่อเนื่องไปก่อน

แม้จะต้องรับมือกับปัญหาขยะใต้พรม จนส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์หมูแพง น้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคา สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ด ส่งผลทางจิตวิทยาที่กระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นส่วนงานพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลต้องรับไปเต็มๆ ในส่วนภาพรวมรัฐบาลก็ออกหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดกระแสความไม่พอใจต่อสังคมให้ได้โดยเร็วเท่านั้น

ไม่เถียงว่าที่ผ่านมามาตรการรัฐในการช่วยเหลือประชาชน เยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้รับคำชมจากประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาลมักนำไปพูดได้เต็มปากว่า “ได้รับความนิยม”

แต่ไม่ได้หมายความว่ามาตรการเฉพาะหน้าในการบรรเทาความเดือดร้อนนั้น จะส่งผลต่อทัศนคติหรือพฤติกรรมของคนในสังคมที่จะชอบหรือนิยมรัฐบาล จะลงคะแนนเลือกพรรคพลังประชารัฐ หรือนายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง

นั่นทำให้สัญญาณการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีนี้ยิ่งแผ่วเบาลง เนื่องจากนัยจากผลสำรวจของหลาย “โพล” สะท้อนถึงความต้องการลอง “ของใหม่” เข้ามาแก้ไขปัญหา อีกทั้งความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเอง ความเป็นศัตรูในมิตรของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้มีปัจจัยเอื้อให้พรรคฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบหากต้องลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งในช่วงเร็วๆ นี้

ช่วงนี้การทำงานรัฐบาลของพรรคร่วมจึงมุ่งเน้นไปที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายและผลงานของกระทรวงที่พรรคของตัวเองรับผิดชอบ และรอวัดกระแสจากการเลือกตั้งซ่อม การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะมาถึง

สนามประลองกำลังในการเลือกตั้งเขต 9 กทม. เขตหลักสี่ ถือว่าสำคัญกับพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย และอยู่ในสภาวะแพ้ไม่ได้เช่นกัน เพราะคะแนนที่ออกมาอาจบอกได้ว่า ความรู้สึกของคนกรุงที่มีต่อบิ๊กตู่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กับวันนี้ยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ 

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นถือเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรี แต่ถึงแม้จะคว้าเก้าอี้ ส.ส.ไม่ได้ก็ไม่เสียหาย เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วงปลายเทอมรัฐบาลแล้ว อาจได้เข้าสภาไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

ด้านพรรคก้าวไกล ต้องการชัยชนะในเชิงของสัญลักษณ์ทางการเมือง หวังใช้คะแนนของ “โหวตเตอร์” รุ่นใหม่ตบหน้ารัฐบาล และยืนยันในแนวทางของพรรคที่ประชาชนในพื้นที่เลือก

ขณะที่ซีกพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะยากในสนามนี้ แต่ก็ต้องสู้ เพราะเป็นการอุ่นเครื่องก่อนศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่หมายมั่นปั้นมือจะทวงคืนความยิ่งใหญ่ หลังส่ง “ดร.เอ้”-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีคนดัง เข้าชิงตำแหน่ง อีกทั้งคะแนนที่ได้อาจเป็นนัยสำคัญกับปฏิกิริยาตอบรับที่มีต่อ “ดร.เอ้” ด้วยว่าเป็นอย่างไร

ทางด้านการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 2 เขต คือ เขต 6 จ.สงขลา และเขต 1 จ.ชุมพร ในวันที่ 16 ม.ค.2565 นับได้ว่าดุเดือดเลือดพล่าน เพราะเป็นการขับเคี่ยวกันเองของพรรคร่วมรัฐบาล เลยไปถึงการแบ่งขั้วเลือกพื้นที่ในการสู้กันเองของพลังประชารัฐ จากการแตกตัวของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยเกาะเกี่ยวกับแกนนำระดับพรรคพวกที่อยู่ในแวดวงผู้กว้างขวาง จนเลือกที่จะใช้ “เกียร์ว่าง” หรือเอาใจช่วยผู้สมัครต่างพรรคในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปล่อยให้แกนนำก๊วนตรงข้ามรับผิดชอบในนามพรรคไปเป็นเต็มๆ

มนตร์ขลัง “รักความสงบ จบที่ลุงตู่” ที่ “คนใต้” เลือกพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วน่าจะเสื่อมคลายไปไม่น้อย เมื่อประกอบกับปัญหาความตะขิดตะขวงใจระหว่าง 3 ป. จากกรณีของการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมี ร.อ.ธรรมนัสเป็นลิ่มในการทิ่มไปตรงกลางระหว่าง 3 ลุง คงไม่น่าทำให้ “บิ๊กตู่” คุมสภาพภายในต่อไปได้

ยิ่งปัญหาการส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ของพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคฯ สะท้อนว่ายังไร้ตัวเลือกที่สูสีกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หรือ “ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ยังไม่นับผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลที่ยังไม่เปิดไพ่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเหนือกว่า 2 คนที่เป็นแคนดิเดตข้างต้นหรือไม่ ทำให้พรรคพลังประชารัฐตกอยู่ในสภาพละล้าละลัง

เมื่อองค์ประกอบทั้งหมดยังไม่เอื้อ ทั้งปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ และกระแสความนิยมรัฐบาลที่ตกลง พล.อ.ประยุทธ์คงไม่เสี่ยงล้างไพ่ยุบสภาไปสู่การเลือกตั้งในตอนนี้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งเครื่องทางการเมืองในการตัดสินใจใดๆ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งใหญ่ได้ในเวลาอันใกล้

การรอดูผลการเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลมาประเมิน วิเคราะห์การเมืองในภาพใหญ่ แล้วนำไปวางแผนเพื่อในการสู้ศึกเลือกตั้ง พร้อมๆ กับการงัดผลงานและนโยบายออกมาโฆษณาหาเสียงกับประชาชน นับลมหายใจไปยาวๆ จึงน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์กว่า

      เป็นช่วงของพรรคการเมืองเข้าสู่โหมดการเตรียมสรรพกำลัง วางยุทธศาสตร์ วางคน เพื่อแข่งขันในสนามการเมืองในระบบ เว้นระยะการเมืองบนถนนที่เคยหวังยกระดับความรุนแรงเพื่อการเปลี่ยนแปลงออกไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท