ตัวเลือกผู้นำประเทศไทย เซลล์การเมืองรอจังหวะจับขั้ว

คลื่นลมปั่นป่วนในพรรคพลังประชารัฐ ในศึกแยกขั้ว 3 ป. สงบลงชั่วครู่ เป็นช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างกลืนเลือดกลับไปลงพื้นที่หาเสียงหวังคะแนนนิยมจากประชาชน เพราะตอนนี้ยังไม่มีสูตรใดที่ดีไปกว่ากอดคอหลวมๆ ใส่หน้ากากอนามัยเข้าหากัน ทำงานในหมวกของรัฐบาล และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำใจยอมรับชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อนายกฯ ปิดประตูตายไม่มีการยุบสภา ประกาศอยู่ยาวไปครบเทอมจนถึงต้น 2566 เพื่อไปลุ้นสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ขั้วการเมืองต้องเร่งเครื่องทำคะแนนให้มากที่สุด

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลจะมีเวลาแค่ 1 ปีกว่าๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลพวงวิกฤตต่างๆ ให้จบ ทั้งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ การปูพรมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการฟื้นฟูประเทศ หลังจากถูกโควิด-19 แช่แข็งมาร่วม 2 ปี พร้อมอัดฉีดโครงการโดนใจประชาชน เช่น คนละครึ่ง เราชนะ ฯลฯ

เดินหน้ามาตรการเปิดประเทศ ผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศหวังดึงเม็ดเงินเข้า ให้คนไทยได้กลับไปทำมาหากิน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ลดเวลาเคอร์ฟิว ผ่อนคลายมาตรการในช่วงคาบเกี่ยวปลายปีถึงต้นปี อย่างที่ ศบค.เห็นชอบไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภายใต้ข่าวบวกจากการประเมินของแบงก์ชาติ ที่วิเคราะห์ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจดี แต่ยังต้องเฝ้าระวังผลต่อเนื่องที่กระทบต่อแรงงานที่ยังเปราะบาง ซึ่งประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3.4 ล้านคน ซึ่งเป็นระเบิดเวลาอีกลูกที่รัฐบาลต้องติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจต้อง “คิดใหญ่” มองไปถึงภาพของอนาคต โยนไพ่กำหนดทิศทางประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ต่างจากแนวทางที่ขั้วตรงข้ามกำลังโฆษณาตัวเอง

เพื่อชี้ให้เห็นว่าประเทศมีความหวังภายใต้การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ท้าทายทุกคำวิจารณ์ที่ด้อยค่าด้วยคำว่า ผู้นำรัฐราชการ ปลัดประเทศ เพราะไม่มีตัวเลือกอื่น

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คงต้องทำหน้าที่แม่ทัพอาวุโสทิ้งทวนก่อนกลับบ้าน สร้างฐานที่มั่นเพื่อเป็นแรงส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์เดินไปสู่เป้าหมาย ด้วยการใช้คุณลักษณะความเป็น “บิ๊กป้อม” ประสานสิบทิศ สร้างพันธมิตรทางการเมือง ฝ่ากระแสของขั้วตรงข้าม เข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างได้เปรียบ

แม้จะมีตัวละครใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในพรรคพลังประชารัฐ เช่น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ เป็นกลุ่มการเมืองที่แตกตัวจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาถ่วงดุลสายของผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า จัดสมการ “สามก๊ก” ไม่ให้เกิดการรวมศูนย์ แต่ในที่สุดก็คงยังไม่ถึงเวลาของ “พีระพันธุ์" ที่จะถูกชูขึ้นมาเป็นนายกฯ

เพราะมีการมองว่า การเมืองต่อจากนี้จะมีแกนหลักเป็นพรรคการเมืองแค่ 3 พรรคคือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และก้าวไกลเท่านั้น ทำให้ “ลุงตู่” ยังเป็นป้ายตราสัญลักษณ์ของพลังประชารัฐที่ยังพอไปขายได้กับลูกค้าเก่า

แม้จะมีความพยายามชักใยให้พลังประชารัฐไปจับมือกับเพื่อไทย ผลัก “ก้าวไกล” เป็นศัตรูตัวใหม่ แต่ทั้งหมดนั้นไม่อาจนำมา "ฟันธง" ได้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นไปตามนั้น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ถูกมองว่าจะเป็น “ตัวแปร” สำคัญที่อาจจะถูกจีบมาจับขั้วกับพรรคที่ชูธง “ปฏิรูปสถาบัน” อย่างก้าวไกล

หากดูเนื้อในของเพื่อไทยในวันนี้ แม้กระแสความนิยมของ “ทักษิณ ชินวัตร” ยังพอมีอยู่ เมื่อบวกรวมกับฐานเสียงและ ฐานของพรรค ก็มีภาษีว่าจะยังคงยึดคุมพื้นที่ได้อยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็กังวลไม่น้อยกับกระแสของพรรคก้าวไกล และโหวตเตอร์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้พฤติกรรมการออกเสียงเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป

คู่แข่งของเพื่อไทย ในอีสานที่น่ากลัวคือ “ก้าวไกล” ที่กำลังรุกคืบในการเลือกตั้งท้องถิ่น และคะแนนนิยมดีขึ้น จนกลายเป็นคำถามที่ว่า จากสภาพการณ์ตลอด 10 ปีที่ชีวิตยังไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรต่างจากเดิม กระแสตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ง่ายขึ้น ประชาชนคนเดิมจะเปลี่ยนใจและต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ กลายเป็นข้อกังวลของ “บ้านใหญ่-เจ้าที่” ที่เริ่มสงสัย “ดีเอ็นเอของทักษิณ” อาจไม่ขลังในภาคอีสานเหมือนเดิม

แน่นอนว่าผู้บริหาร รวมไปถึงนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย คงไม่อยากเป็นพันธมิตรหรือจับขั้วทางการเมืองกับ “ก้าวไกล” ที่ถูกมองว่าเป็น “เด็กเมื่อวานซืน” แต่ในที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “ทักษิณ” ที่กำลังออกอาการฟาดงวงฟาดงา ย้อนอดีตฟื้นฝอยเรื่องราวในอดีตกับกับ “น้องตู่”

หลังปฏิบัติการแอบแทงหลัง “ประยุทธ์” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาล้มเหลว จนทำให้ “ขั้วที่ใฝ่ฝัน” ในการจับมือผลัก "ก้าวไกล" ให้โดดเดี่ยวนั้นคงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว

ด้วย “มายด์เซต” ของอดีตนายกฯ ผู้มั่นใจในตัวเองในการเดินเกม-ยุทธศาสตร์การเมืองด้วยความเก่งกล้าสามารถ แต่ถูกหลอกครั้งแล้วครั้งเล่า ให้คนอื่นบริหารก็ไม่ได้ดั่งใจ แถม “ไม่ได้ครบดีล” ตามที่สั่ง

ในที่สุดอาจต้องกลับมาใช้คนในตระกูลเข้าไปบริหารพรรค ส่งผลให้ชื่อของ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ลูกเขยโปรไฟล์ดีเป็นชื่อแรกถูกเลือกเข้ามานำพรรค แต่ยังต้องเคลียร์ปัญหาในครอบครัว จากข้อเสนอของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมคุมพรรคเช่นกัน โดยชู “เศรษฐา ทวีสิน” กับ “พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง” เป็นตัวเลือก

กลับไปอยู่ในสภาพเป็นพรรคเถ้าแก่ บริหารจัดการในรูปบริษัท สร้างเป็นกิจการของครอบครัว เลี้ยงดูนักการเมืองเฉกเช่นพนักงานและลูกจ้าง โดยมีลูกเขยเจ้าของพรรคจ่อเป็นแคนดิเดตผู้นำ

ขณะที่พรรคก้าวไกลยังมีตัวเลือกเดียวคือ "ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่มีคณะก้าวหน้าอย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” รวมถึงม็อบสามนิ้วและเครือข่ายเป็นแรงหนุน โดยมีแนวคิด "ปฏิรูป” ในการขายให้คนรุ่นใหม่

จากการเมืองที่ถูกมองว่าแบ่งเป็น 2 ขั้ว 3 พรรคใหญ่ ยังมีตัวแปรที่เป็นพรรคขนาดกลางและกลุ่มย่อยที่แตกตัวจัดกลุ่มทำพื้นที่กันเป็นเซลล์ โดยมีตัวเลือก 2 แบบคือ ย้ายพรรค หรือใช้พรรคสำรอง แล้วนั่งรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เพื่อกำหนดเป็นนโยบายหาเสียงเกาะไปกับขั้วที่ตัวเองเลือก

“เวลาทอง” ของประเทศนับจากนี้จึงไม่ใช่แค่การฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเป็นปกติเท่านั้น หากแต่เป็นห้วงเวลาที่ 3 พรรคใหญ่ รวมไปถึงผู้ที่ถูกชูเป็นนายกฯ คงต้องคิดค้น “กลยุทธ์” เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเองด้วยการนำเสนอสิ่งใหม่และแตกต่างให้ประชาชน พร้อมทั้งใช้เกมบนดิน-ใต้ดิน ในการรวบรวมเซลล์การเมืองให้มาอยู่กับตัวเองมากที่สุด

แสดงศักยภาพให้ผู้สนับสนุนทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลังให้เห็นว่ามีราคาพอที่จะพาขั้วของตัวเองเข้าสู่อำนาจ!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' งดออกเสียงญัตติส่งศาลวินิจฉัยอำนาจรัฐสภา 'ชัยธวัช' ด่าศาลรธน.

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้

ลากไส้องค์กร'สีกากี'ยิ่งแฉยิ่งเละ ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจกู้ภาพลักษณ์

เละ! ตายตามกันไปข้าง ศึกภายในรั้ว “กรมปทุมวัน” ถึงแม้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.จะถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ศึก “นอมินี” แทงฟันกันเลือดสาดไม่มีใครยอมใคร อย่างที่ ทีมทนาย “รองฯ โจ๊ก” เตือนก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน “ไม่ยอมตายเดี่ยว”

กกต.ป้ายแดง ไม่กดดันพิจารณาคดีร้อนยุบพรรค

นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งกกต. ว่า ก่อนหน้านี้กกต.ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่ากกต.ทำอะไรกันอยู่ กกต.ทำอะไรถึงไหนแล้ว พอตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถ

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567