เบื้องหลังรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ สำเร็จ

หลังความสัมพันธ์ไทยและซาอุดีอาระเบียกลับมาอยู่ในระดับปกติอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 ในการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่ประสบความสำเร็จ สามารถฟื้นสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศได้อีกครั้งในรอบ 32 ปี

ทั้งนี้ ก่อนจะถึงวันแห่งประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ ที่ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดในสายชาวโลกนั้น ทุกอย่างได้มีการเตรียมการมานานพอสมควร โดยทันทีที่มีการประสานเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนซาอุฯ ทั้งฝ่ายไทยและซาอุฯ ก็ได้เริ่มเตรียมการ เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เรื่อยมา รวมเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งในระหว่างนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนต่างๆ ไปตามสถานการณ์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

กระทั่งได้จังหวะและเวลาที่เหมาะสมในช่วงนี้ ที่สถานการณ์โควิดเริ่มทรงตัว การฟื้นประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจเดินหน้า จึงกำหนดการเยือนระหว่างกันในวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับกลไกสำคัญที่ทำให้มีการฟื้นสัมพันธ์ครั้งนี้ ซึ่งอยู่ในห้วงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการผลักดัน มีความพยายามประสานเจรจากับฝ่ายของซาอุฯ ในทุกๆ โอกาสที่ได้พบปะ ทั้งการพบหารือ 3 ฝ่าย ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และ นายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น

การพบกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บินอับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำจี 20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 28 มิถุนายน 2562

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย ยังมีการพบหารือกันเป็นระยะเกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของ เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม 2563 ซึ่งกลไกเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นประสานรอยร้าว

ทั้งนี้ สำหรับผลความสำเร็จในการเยือนซาอุฯ ของไทยที่เป็นรูปธรรม อาทิ การยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้งสองประเทศ จาก "อุปทูต" ให้กลับมาเป็นระดับ "เอกอัครราชทูต" โดยจะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำ 2 ประเทศในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ยังมีข่าวดีที่แรงงานไทยจะได้ทำงานในซาอุฯ อีกครั้ง โดยฝ่ายซาอุฯ ต้องการจัดหาแรงงานฝีมือดี ตั้งเป้าไว้ที่ 8 ล้านคน โดยให้แรงงานไทยเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่ซาอุฯ กำลังดำเนินการและขาดแคลนแรงงานในขณะนี้

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประชาชนที่เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่า การเดินทางไปมาหาสู่ที่สะดวกยิ่งขึ้นระหว่างไทยกับซาอุฯ จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่าประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งล่าสุดสายการบินซาอุเดีย (Saudia) หรือ ซาอุดีอาระเบียแอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ขานรับสัมพันธ์ไทยและซาอุฯ ทันที โดยประกาศผ่านบัญชีทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการว่าเตรียมจะเปิดเที่ยวบินตรงจากซาอุฯ ไปประเทศไทย เริ่มในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้

ส่วนด้านการค้าและการลงทุน เมื่อความสัมพันธ์กลับมาในระดับปกติ จึงเป็นการเปิดประตูให้นักลงทุนทั้งของฝ่ายไทยและซาอุฯ โดยระหว่างการเยือนซาอุฯ ทางเจ้าบ้านได้เปิดโอกาสให้ทั้งกระทรวงของซาอุฯ และกลุ่มภาคเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนกับไทยเข้ามาหารือกับรัฐมนตรีฝ่ายไทยเพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนทันที นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ ที่ขอเข้าหารือเพื่อเปิดความร่วมมือกับไทยอีกด้วย

นับว่าการเยือนซาอุฯ ครั้งนี้เป็นอีกผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในสายตาชาวโลก และคนไทย ถึงแม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โดยเฉพาะถูกฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล” ด้อยค่าว่ารัฐบาลโชว์ผลงานไปซาอุฯ แต่ที่จริงซาอุฯ ต้องการเปิดประเทศอยู่แล้วก็ตาม

แต่การด้อยค่านี้ไม่สามารถลบล้างผลงานชิ้นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ว่า ไทยกับซาอุฯ ฟื้นสัมพันธ์ขึ้นได้ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจากนี้ต้องจับตาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567

กางไทม์ไลน์‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลได้‘ไฟเขียว’แจกเงิน?

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบาย เรือธง ของพรรคเพื่อไทย โยกเยก ไร้ความชัดเจนตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ