"พานาโซนิค" ชี้ผู้บริโภคหันใช้สายชาร์ตแบตเตอรี่แทนถ่านไฟฉาย จับมือ ซีพี ออลล์ เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน

28 มี.ค. 2566 – นายทาคุยะ ทานิโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถ่านไฟฉายในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้คนได้เปลี่ยนไปเนื่องจากเทคโนโลยี  โดยเปลี่ยนไปใช้งานสายชาร์ตแบตเตอรี่แทน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพบว่าตลาดถ่านไฟฉายยังสามารถเติบโตได้ปีละ 1% จากปัจจุบันมีมูลค่าที่ 5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในถ่านไฟฉายก้อนเล็กขนาด 2เอ , 3เอ ,ถ่านลิเธียม และถ่านก้อนกระดุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก ที่ยังมีการเติบโตอยู่ ส่วนขนาดใหญ่ยอดขายลดลง เช่นเดียวกับถ่านไฟฉายพานาโซนิคที่คาดว่าปีงบประมาณ 2565 (1 เม.ย. 2565-31 มี.ค. 2566) ยังสามารถเติบโตได้และปิดยอดขายที่ 5,800 ล้านบาท

สำหรับยอดขายโดยหลักจะมาจากการขายในไทยและส่งออกในญี่ปุ่น อาเซียน และอเมริกาเหนือ โดยประเทศไทยยังถือเป็นฐานการผลิตหลัก และเป็นตลาดใหญ่ของพานาโซนิกในเอเชียที่เน้นผลิตถ่านอัลคาไลน์ ส่วนโรงงานในอิโดนีเซียจะเน้นผลิตแมงกานีส โดยเริ่มดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีผู้เล่นแบรนด์หลักจากต่างประเทศเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นแบรนด์จากประเทศจีน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทมุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง  เพื่อสร้างสรรค์ความสุขให้กับผู้บริโภคและสังคมไทยควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2565 พานาโซนิค เอเนอร์จี เป็นบริษัทแรกของกลุ่มพานาโซนิคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality

ขณะเดียวกันยังร่วมมือกับ ซีพี ออลล์ เพื่อดำเนินการในมิติด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2563  โดยดำเนินการออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ถ่านไฟฉายรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยลดการใช้พลาสติกในการผลิต ลดปัญหาขยะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกได้มากถึง 13.5 ตัน ภายในระยะเวลา 3 ปี 

นอกจากนี้ เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม พานาโซนิค เอเนอร์จี และ ซีพี ออลล์ ได้ตระหนักถึงปัญหาของจำนวนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจำนวนมากที่มักถูกทิ้งหรือทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ในการฝังกลบนอกจากจะไม่เพียงพอแล้ว การกระทำดังกล่าวยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย ทั้ง 2 บริษัทจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “จุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว (Battery Collection) เพื่อรีไซเคิล ผ่าน เซเว่น อีเลฟเว่น”  โดยเป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งมีเป้าหมายในการรับคืนถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค และนำถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีทั้งยังนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้มีการนำร่องจัดตั้งจุดบริการบริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 31 แห่ง ในพื้นที่เขตมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน  2565 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี พานาโซนิค เอเนอร์จี และซีพี ออลล์ วางแผนที่จะติดตั้งจุดบริการรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว (Battery Collection) เพื่อรีไซเคิล ผ่าน เซเว่น อีเลฟเว่น ให้ครบ 50 แห่งภายในปี 2566 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ พบนักธุรกิจตะวันออกกลาง-จีน นำเทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างตึกสูงที่สุดในโลก ในไทย

นายกฯ พบ นักธุรกิจตะวันออกกลาง-จีน เตรียมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างตึกสูงที่สุดในโลกในประเทศไทย รองรับห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์กลางทางการเงิน โรงแรม และศูนย์บันเทิงครบวงจร