ม.ปทุมธานี พร้อมปั้นบัณฑิตรับธุรกิจ New S-CURVE

4 มิถุนายน 2566 – นางชนากานต์ ยืนยง อธิการบดีมหาวิทยาลัยปทุมธานี เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ถึงวันนี้ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ส่งผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลายธุรกิจกลับมาดำเนินธุรกิจเป็นปกติ สถิติการว่างงานเริ่มปรับตัวลดลง เพราะผู้ที่เคยว่างงานก่อนหน้านี้ ได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง​ สอดคล้องกับ​ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย เมื่อช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ผ่ามาพบว่า​​มีจำนวน 420,000 คน หรือมีผู้ว่างงาน 1.1% ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 

ขณะเดียวกันแม้ว่าตัวเลขการว่างงานดังกล่าวจะปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ​กลุ่มคนว่างงานระยะยาวที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีจำนวนลดลงอย่างมาก คือจากจำนวน 45,000 คนในไตรมาส 4 ปี 2565 เหลือเพียง 35,000 คนในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ทุกปีก็จะมีนักเรียนนักศึกษาจบใหม่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก โดยข้อมูลของกรมการจัดหางานได้ประเมินสถานการณ์นักเรียนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับต่าง ๆ และจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2566 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 373,488 คน โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุดถึง 165,115 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 44.21% รองลงมาเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับปวส. จำนวน 87,176 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 23.34% ส่วนที่เหลือเป็นนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย 12,063 คน สัดส่วน 3.23% และจำนวน 48,453 คน สัดส่วน 12.97% ตามลำดับ ​​

จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่าแม้จำนวนผู้ว่างงานจะลดลง แต่บัณฑิตจบใหม่ก็ยังมีค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ยังคงต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้เข้าทำงานในสายวิชาชีพที่ตนเองต้องการ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลตลาดแรงงานในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจ พบว่า แรงงานในภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้นมาก จากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลให้ชาวจีนเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เพราะเป็นหมุดหมายสำคัญอันดับต้น ที่ชาวจีนชื่นชอบและนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว ​ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงกลับมาเติบโตและเกิดการจ้างเพิ่มมากขึ้นด้วย

 สำหรับมหาวิทยาลัยปทุมธานี เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจหลักของไทยในปัจจุบัน ที่มีอัตราการขยายตัวสูงและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัย​ปทุมธานีจึงได้เปิดการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ เพื่อรองรับนักศึกษาไทยและต่างชาติในหลายสาขาวิชา รวมถึงมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ที่มี 5 สาขา คือ สาขาวิชาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน รวมถึง สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ซึ่งเป็นสาขาที่ตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-CURVE

ซึ่งเปิดการเรียนการสอนทั้งแบบปกติและเทียบโอนประสบการณ์ รวมไปถึงหลักสูตรฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพเรือสำราญและการโรงแรม มหาวิทยาลัยปทุมธานี (P-Cruise) ซึ่งสาขาวิชาเหล่านี้ ได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการในธุรกิจเรือสำราญ และโรงแรมต่าง ๆ จำนวนมาก นักศึกษาเหล่านี้จะถูกจองตัวให้เข้าทำงานก่อนที่จะเรียนจบการศึกษา โดยมีนักเรียนสนใจมาสมัครเรียนจนเต็มจำนวนทุกปีการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนขึ้น

ทั้งนี้ นักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบและต้องการมีงานทำ นอกจากจะเลือกเรียนในสาขาที่ตนเองมีความชื่นชอบและมีความถนัดแล้ว ควรเลือกเรียนในสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปแล้วมีงานทำ 100% ซึ่งมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการเรียนการสอน ด้วยการนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง มีการสอนด้วยกรณีศึกษา การจัดทำโครงการ การวิจัย หรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพควบคู่ไปด้วย มากกว่าการเรียนเฉพาะในตำราเท่านั้น เพราะการเรียนด้วยวิธีดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถจริงทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมออกไปทำงานได้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาล ฟุ้ง 6 เดือนการลงทุนพุ่ง ลุยจัดงานมหกรรมดนตรี และเทศกาลนานาชาติ

รัฐบาล กระตุ้นส่งเสริมการลงทุนจัดงานมหกรรมดนตรี และเทศกาลนานาชาติ จุดประกายให้ไทยเป็นเป้าหมายการจัดงานระดับโลก หลังแถลงย้ำผลสำเร็จการลงทุน 6 เดือน ขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วกว่า 8.5 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 9 ปี