‘จตุพร’ ปลุกปฏิวัติ เปลี่ยนทั้งระบบ!

โฆษกรัฐบาลชี้ "ผู้ว่าฯ กทม." ออกประกาศต่อยอด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ปี 58 เป็นเรื่องดี แนะบูรณาการ สตช. ดำเนินการเพื่อความสงบเรียบร้อย วอนผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น "จตุพร" ปลุกต้องสังคายนาปฏิรูปหรือปฏิวัติเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งระบบ เพราะรัฐธรรมนูญที่มาจากปลายกระบอกปืนไม่เอื้อต่อการจะเปลี่ยนแปลงนี้

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกประกาศเรื่องจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ กทม.ออกกฎกติกาเพื่อดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย  ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการต่อยอดจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเห็นถึงความสำคัญ จึงได้เสนอและตรากฎหมายเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การชุมนุมให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น กำหนดพื้นที่ชุมนุมและขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ พร้อมทั้งย้ำมาเสมอว่าการจัดการชุมนุมถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ต้องไม่ละเมิดผู้อื่นจนเกิดความเดือดร้อน  สิ่งนี้ถือเป็นหลักสากลเหมือนกันทุกประเทศ

“หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการปฏิบัติตามกฎหมาย หากผู้ชุมนุมเคารพกฎหมายและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระดับชาติหรือท้องถิ่น ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่จากเหตุการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา มักมีการฝ่าฝืนกฎหมายและใช้ความรุนแรงก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อบังคับใช้กฎหมายระงับยับยั้งไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม"

นายธนกรกล่าวว่า ประกาศของ กทม. ดังกล่าว เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการอำนวยความสะดวกและจัดพื้นที่การชุมนุมให้เหมาะสม จึงขอความร่วมมือผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมในพื้นที่ กทม. ปฏิบัติตามประกาศนี้อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำเนินการในเรื่องนี้ก็ดีแล้ว และขอให้ กทม.บูรณาการทำงานร่วมกับ สตช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การชุมนุมแต่ละครั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนา “ถอดรหัสผู้ว่าฯ กทม. สู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ” นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย กล่าวว่า เรายังไม่เคยได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง เราได้ครึ่งใบบ้าง เศษเสี้ยวบ้าง เมื่อเราส่งอำนาจให้นักการเมือง นักการเมืองก็เข้าสู่กลไกราชการ ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ประเทศนี้แค่ปฏิรูปยังไม่พอ มันคือคำหลอกลวงเอาไว้ต้มคน กล้าที่จะเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคต้องเลิก เหลือเฉพาะส่วนกลางและท้องถิ่น ไม่กล้าให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง

"ถ้าเราคิดเปลี่ยน ต้องยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค อย่ากลัวให้อำนาจประชาชน ถ้าเรากล้าประชาชนจะเลือกเอง ถ้ากลัวไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็ต้องทำให้บริสุทธิ์ยุติธรรม สิ่งสำคัญผู้ว่าฯ จากส่วนกลางจะไม่ผูกพันกับประชาชน เพราะเดี๋ยวผู้ว่าฯ คนใหม่ก็จะมา ผมได้ยินมานานแล้วเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราต้องการเปลี่ยนแปลง กล้าออกแบบ ผมหวังว่าจะเดินไปสู่ความสำเร็จ อย่าดูถูกประชาชนว่าไม่รู้ ถ้าให้ก็อย่าให้เพียงบางจังหวัด แต่ควรเกิดขึ้นทุกจังหวัด"

นายจตุพรกล่าวต่อว่า กรณีนายชัชชาติชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนให้เห็นว่าคน กทม.เลือกผู้ว่าฯ ได้เอง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงอย่างรวดเร็ว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเข้ามาแล้วทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือประชาชน เพราะผู้ว่าฯ ที่มาจากประชาชนทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด แตกต่างจากผู้ปกครองที่มาจากกลไกราชการ แม้กระทั่งตัวนายกฯ ก็ยึดถืออำนาจการทำงานแบบราชการ 1 เดือนทำงาน 15 วัน ขณะที่ปัญหาประชาชนไม่เคยมีวันหยุด ประเทศที่มีผู้นำมีวันหยุดประเทศนั้นจะหาความเจริญได้ยาก เพราะการพัฒนาความเจริญก้าวหน้ามาแซงกันในช่วงวันหยุด

"เราต้องสังคายนาปฏิรูปหรือปฏิวัติเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งระบบ เพราะรัฐธรรมนูญที่มาจากปลายกระบอกปืนไม่เอื้อต่อการจะเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะได้วางกลไกและกับดักต่างๆ มากมาย หากไม่เปลี่ยนแปลงใหญ่ การผลักดันให้สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งประเทศก็ไม่มีวันเกิดขึ้น เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้" นายจตุพรกล่าว

ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดอื่นๆ ควรจะเป็นวาระอย่างไม่เป็นทางการ ไม่จำเป็นต้องมีเอกสารหนาๆ แต่ควรเป็นวาระที่ให้ประชาชน ผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของเมืองนั้นๆ เห็นปัญหา เข้าอกเข้าใจปัญหาภายในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันโดยไม่ต้องมาร่างเอกสารเป็นทางการ

"ระบบราชการรวมศูนย์เป็นปัญหาหลัก เพราะส่วนกลางไม่ไว้ใจประชาชน ต่อให้จัดให้มีการเลือกตั้งก็เหมือนการปาหี่ สุดท้ายก็ส่งผู้มีอิทธิพลลงไปควบคุม ซึ่งความแตกต่างของผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง เมื่อเข้าไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนมักจะถูกมองว่าเป็นบุญคุณ แต่เมื่อมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกมองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องแก้ปัญหาและทำงานเพื่อประชาชน หากทำไม่ได้ก็ต้องคืนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเป็นระบอบที่ยุติธรรม เพราะประชาชนเลือกคนแบบไหนก็จะได้การบริหารแบบนั้น และคนที่ไม่ถูกเลือกก็ทำหน้าที่ในการตรวจสอบแทน" นายวิโรจน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของกิจกรรม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายปกรณ์ อารีกุล ผู้แทนคณะก้าวหน้า กล่าวให้กำลังใจเครือข่าย และรับมอบ 5,000 รายชื่อสนับสนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ “ปลดล็อกท้องถิ่น” จากนายสมโชติ มีชนะ เครือข่ายใต้มูฟออน และนายนันทพงศ์ ปานมาศ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย.

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง