เส้นทางการเมือง-คดีความ ธนาธร-อนาคตใหม่ ตุลาคมนี้ถึงจุดไคลแมกซ์


เพิ่มเพื่อน    

 

          เส้นทางอนาคตการเมืองของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พรรคอนาคตใหม่ จะเดินไปได้ไกลขนาดไหน บนเป้าหมายที่ ธนาธร-อนาคตใหม่ ประกาศว่าต้องการปักธงความคิด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการเมืองทุกระดับ ทั้งระดับชาติ ที่ผ่านพ้นไปแล้ว กับการเลือกตั้งที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังมุ่งที่ไปจุดหมายใหม่ที่กำลังค่อยๆ ขยับ นั่นก็คือ การเมืองท้องถิ่น และการเล่นบทหัวหอกหลักในการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ ถึงที่สุดแล้ว เวลาจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ธนาธร-พรรคอนาคตใหม่ จะเป็นของจริงทางการเมืองหรือไม่       กระนั้นถึงเวลานี้สถานการณ์เฉพาะหน้าของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ก็คือการต่อสู้ในคดีการเมือง ที่ตอนจบฉาก The End หากเขาและพรรคอนาคตใหม่พลาด สู้ไม่ชนะ ก็หมายถึงเส้นทางการเมืองที่วาดหวังไว้อาจไม่ใช่แค่สะดุดหรือพักยก แต่อาจต้องพักยาวและต้องเปลี่ยนกระดานใหม่

                เพราะจากคำร้องต่างๆ ที่มีกลุ่มประชาชนหลายกลุ่มไปยื่นคำร้องเอาผิดกับแกนนำพรรคอนาคตใหม่และตัวพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะการยื่นกับ กกต.ที่มีจำนวนมาก แต่คดีสำคัญๆ จริงของธนาธรกับพรรคอนาคตใหม่

          เมื่อตรวจแฟ้ม พลิกสำนวนกันแล้ว พบว่ามีเดิมพันครั้งสำคัญอยู่ 3 คดีการเมืองที่รอลุ้นผลอยู่ ประกอบด้วย

1.คดีถือครองในธุรกิจสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของธนาธร ก่อนลงเลือกตั้ง

2.คดียุบพรรคอนาคตใหม่

ที่ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่าธนาธรและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ มีพฤติการณ์หลายกรรมหลายวาระ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ด้วยมติเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ล่าสุดมีรายงานว่า พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ขณะที่ผู้ร้อง ณฐพร เพิ่งเดินทางไปยื่นเอกสารโต้แย้งคำชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคอนาคตใหม่และยื่นคำแถลงปิดคดีในฐานะผู้ร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมานี้เอง

มีการวิเคราะห์กันไว้ว่า หลังศาล รธน.ได้รับคำแถลงปิดคดีจากทั้งผู้ร้อง ณฐพร และฝ่ายพรรคอนาคตใหม่แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าในสัปดาห์หน้านี้หรือสัปดาห์ถัดไป ศาล รธน.ก็น่าจะนัดอ่านคำวินิจฉัยได้ว่า สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมตุลาการศาล รธน.จะให้ ยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือ ไม่ให้ยุบ-ยกคำร้อง

          ซึ่งคำร้องคดียุบพรรคอนาคตใหม่ดังกล่าว พบว่าเป็นคดีที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ ไม่ค่อยหนักใจเท่าใดนัก โดยมีความเชื่อมั่นว่าน่าจะยกคำร้อง เนื่องจากคำร้องที่มีการยกพฤติการณ์ต่างๆ มากล่าวหา หลายกรณีตามคำร้อง เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน ธนาธร-ปิยบุตร จะมาเล่นการเมือง-ตั้งพรรคอนาคตใหม่

แกนนำพรรคจึงมองว่า หากศาล รธน.คล้อยไปในทางนั้น โดยไม่มีเหตุผลมาอธิบาย หากเกิดกรณีมติเสียงข้างมากมีคำสั่งให้ยุบพรรค แกนนำพรรคอนาคตใหม่ก็เชื่อว่าจะเกิดกระแสสวิงกลับไปยังศาล รธน.ในระดับเกินกว่าที่คาดคิด

จึงทำให้ที่ผ่านมา แกนนำพรรคอนาคตใหม่ไม่ค่อยหนักใจกับคำร้องคดีนี้มากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับประมาทในการรับมือ

3.สำนวนคดีเงินกู้ยืมระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับธนาธรก่อนเลือกตั้ง ประมาณ 192 ล้านบาท ตามที่ธนาธรแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสำนักงาน ป.ป.ช.

ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นการพิจารณาของระดับอนุกรรมการของ กกต. ยังไม่ถูกส่งเข้าที่ประชุมใหญ่ กกต.ให้พิจารณาแต่อย่างใด

เรื่องนี้หาก กกต.มีมติยกคำร้อง เรื่องก็จบ แต่หาก กกต.มีความเห็นว่า การกู้ยืมเงินดังกล่าว กฎหมายพรรคการเมืองไม่เปิดช่องให้ทำได้ เช่น กกต.ตีความว่า เงินกู้เป็นรายได้ ไม่ใช่หนี้สินหรือรายจ่าย และกฎหมายไม่เปิดช่องให้พรรคการเมืองนำเงินรายได้ เงินบริจาคที่พรรคได้จากแหล่งต่างๆ ไปใช้หนี้เงินกู้ สิ่งที่ธนาธรกับพรรคอนาคตใหม่ทำก่อนเลือกตั้ง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ก็จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เป็นหนังยาวต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการมองกันว่า ศาล รธน.อาจจะนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ในสำนวนล้มล้างการปกครองก่อน แต่ก็อย่างที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้นว่า คำร้องดังกล่าว แกนนำพรรคอนาคตใหม่ไม่ค่อยหนักใจเท่าใดนัก แต่ที่หนักใจและต้องเตรียมรับมือมากกว่าก็คือ คดีธนาธรถือหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่ หากธนาธรไม่รอด นั่นหมายถึง ธนาธรที่ว่ากันตามจริงแล้วเขาก็คือ เจ้าของพรรค อันเห็นได้จาก เงินกู้ 192 ล้านบาท ที่ให้พรรคกู้ยืมในช่วงเลือกตั้ง ที่เป็นนิติกรรมการเมืองที่ยืนยันความเป็นเจ้าของพรรคอนาคตใหม่ได้แบบไม่ต้องมีคำอธิบาย

          ดังนั้นหากธนาธรไม่รอด โดนศาล รธน.ลงมติว่ามีความผิด ถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้ง นั่นหมายถึงจะต้องถูกเว้นวรรคการเมืองร่วม 20 ปี และอาจจะมีผลพวงตามมาอีกหลายขยัก บานปลายกลายเป็นสำนวนคดีเอาผิดกับพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ได้อีก ซึ่งถ้าสถานการณ์ไปถึงจุดนั้น พรรคอนาคตใหม่มีอาการแกว่งแน่นอน หากเกิดอะไรขึ้นกับธนาธร

          โดยคดีถือหุ้นสื่อนั้นมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายที่ประเมินว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวในช่วงไม่เกินเดือนตุลาคมนี้

อันเป็นการคาดการณ์บนหลักที่ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนจะนัดลงมติและวินิจฉัยหลังศาลไต่สวนพยานบุคคลของศาล จำนวน 10 ปาก ในวันที่ 18 ตุลาคมเสร็จสิ้นลง

เพราะส่วนใหญ่มาตรฐานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน หลังเปิดห้องไต่สวนคำร้อง-พยานบุคคลเสร็จสิ้นลง ส่วนใหญ่ก็จะนัดฟังมติและคำวินิจฉัยภายในไม่เกิน 7-15 วัน โดยบางคดีก็นัดอ่านวันรุ่งขึ้นเลย เช่น คดียิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พอศาลไต่สวนพยานคดีย้ายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช. โดยมิชอบฯ เสร็จในวันที่ 6 พ.ค. ศาล รธน.ก็อ่านคำวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากการเป็นนายกฯ ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 7 พ.ค.ทันที

ต้องไม่ลืมว่า คดีของธนาธรเข้าไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนานมากแล้ว หากนับไปถึงวันที่ 18 ต.ค.ที่จะมีการไต่สวนพยาน ก็เท่ากับศาล รธน.ใช้เวลาพิจารณาสำนวนคำร้องคดีของธนาธรนานร่วม 5 เดือน หลังจากศาลรับคำร้อง เมื่อ 23 พ.ค. ซึ่งถือว่าใช้เวลาการพิจารณาคดีค่อนข้างนานพอสมควร

ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายประเมินว่า คดีถือหุ้นสื่อเป็นเรื่อง ข้อเท็จจริงทางเอกสาร ในเรื่องการโอนหุ้นของธนาธรก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งเพียงแค่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.มาพิจารณา ควบคู่ไปกับเอกสาร สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ธนาธรและบริษัท วีลัคฯ ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็สามารถตัดสินคดีได้ แต่การที่ศาลเปิดห้องพิจารณาไต่สวน และให้เรียกพยานเบิกความถึงสิบปาก แสดงให้เห็นว่า คดีธนาธรคงมีรายละเอียดสลับซับซ้อนหลายปมที่ทำให้ขนาดวงประชุมตุลาการศาล รธน. ซึ่งตุลาการบางคนที่เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกามาหลายสิบปี มีความเชี่ยวชาญเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนสุดท้ายต้องมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี

คดีถือหุ้นสื่อของธนาธรจึงน่าจะมีอะไรสลับซับซ้อน ชนิดที่หลายคน ซึ่งเป็นคนนอก ยังเข้าไม่ถึง และจำเป็นต้องนำพยานมาเบิกความ ในปมที่ตุลาการฯ ยังสงสัยข้องใจ และต้องการฟังจากปากพยานกลางห้องพิจารณาคดี ตามระบบการพิจารณาแบบไต่สวน ที่ให้ตุลาการสามารถค้นหาข้อเท็จจริงก่อนมีคำวินิจฉัยได้

ด้วยเหตุนี้การเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี ในวันที่ 18 ตุลาคม มองดูแล้วเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งกับฝ่ายธนาธรและฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำให้การ การเบิกความของพยาน จะปรากฏต่อสาธารณชน ที่ทำให้หลายคนได้รู้ข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งจะเป็นการทำให้เมื่อมติของศาลรัฐธรรมนูญออกมา จะได้เคลียร์กันให้ชัดๆ ว่า ทำไมธนาธรรอด หรือไม่รอด เพราะเหตุผลใด

เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จึงเป็นเดือนที่น่าจะรู้ผลกันแล้วว่า สุดท้ายธนาธรจะได้กลับเข้าห้องประชุมสภาฯ ในฐานะ ส.ส.หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็คือ ศาล รธน.ยกคำร้องทั้งคดียุบพรรคอนาคตใหม่และคดีถือหุ้นสื่อ หรือว่าสุดท้ายแล้ว ธนาธรจะแค่ได้เคยเข้าห้องประชุมสภาฯ ในฐานะ ส.ส.ได้แค่เพียงครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย เมื่อตอนประชุมสภาฯ นัดแรก 24 พ.ค. ที่มีการโหวตเลือกประธานสภาฯ แต่เขาอยู่ในห้องประชุมได้แค่ไม่กี่นาทีก็ถูกเชิญออกจากห้องประชุมไป

อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏว่าระหว่างนี้ก็มาเกิดกรณีการเผยแพร่เอกสารการว่าจ้างระหว่างธนาธรกับบริษัท APCO Worldwide LLC ซึ่งเป็นบริษัทล็อบบี้ยิสต์ชื่อดังของสหรัฐ โดยมีการเผยแพร่ออกมาในช่วงที่พลเอกประยุทธ์ นายกฯ และคณะอยู่ระหว่างการเดินทางปฏิบัติภารกิจที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีกลุ่มผู้ประท้วงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ ประมาณ 25-30 คน ออกมาถือป้ายประท้วงพลเอกประยุทธ์

ท่ามกลางข้อสงสัยถึงกระบวนการจัดตั้งของกลุ่มผู้ประท้วง ที่น่าจะมีการว่าจ้าง และใครคือผู้จ้าง หลังก่อนหน้านี้ธนาธรเคยเดินทางไปสหรัฐในช่วงเดือน ก.ค.

ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ได้ชี้แจงเรื่องเอกสารการว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ดังกล่าว โดยย้ำตอนหนึ่งว่า

“กิจกรรมและการเดินทางไปต่างประเทศของธนาธรไม่ได้ทำให้ประโยชน์ของประเทศชาติเสียหาย รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์อื่นๆ อย่างที่บางแหล่งข่าวกล่าวหา”

เมื่อทุกการขยับของธนาธร-พรรคอนาคตใหม่ถูกจับจ้องทุกฝีก้าวเช่นนี้ จึงต้องดูต่อไปว่า สุดท้ายแล้วธนาธร-พรรคอนาคตใหม่จะได้ไปต่อทางการเมืองหรือไม่ หลังคดีความต่างๆ ใกล้งวดมาทุกขณะ.

      ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"