สยามเมืองยิ้มในมุม'ไพร่หมื่นล้าน'เพราะคนไทยไม่มีจุดยืนอะไรเลยได้แต่ยิ้มอย่างเดียว


เพิ่มเพื่อน    

ภาพGM

16 มี.ค.61-   เอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  เซเลบการเมือง ผู้ร่วมก่อตั้งพรรรอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ นิตยสาร GM ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนประกาศตัวเป็นนักการเมือง พบว่ามีมุมมองเกี่ยวกับสังคม การเมือง และศาสนา ที่น่าสนใจไม่น้อย  อ่านจากที่คัดลอกมาบางส่วนแล้ว จะเข้าใจความเป็น "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ชัดเจนขึ้น

GM : ดูจากหนังสือที่ยกตัวอย่างมา ถือว่าผิดคาดพอสมควร เข้าใจว่าคุณน่าจะพูดถึงหนังสือทางด้านสังคมศาสตร์หรืออะไรประมาณนี้มากกว่า

ธนาธร : พวกนั้นก็อ่านนะครับ แต่พวกนั้นมันจะเป็นหนังสือหนักๆ มากกว่าที่จะเป็นนวนิยาย จริงๆ หนังสือหนักๆ ก็อ่าน แต่ว่าต้องเรียนตามตรงว่า เวลามันมี 24 ชั่วโมง ซึ่งจำกัดมาก นอกจากให้งาน ครอบครัว เพื่อนฝูงแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ออกไปข้างนอกเยอะขึ้น ช่วง 2-3 ปีหลัง ก็อ่านหนังสือน้อยลงไปเยอะ อย่างเล่มล่าสุด ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าผมจะอ่านจบเมื่อไหร่ แต่เล่มต่อไปที่จะอ่านเลยก็คือรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้ คือผมอ่านมาตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 อ่านจบทั้งเล่ม ฉบับ พ.ศ. 2560 ยังไม่ได้อ่าน แต่ว่าอยู่ในแพลน...
 
ผมคิดว่าโครงสร้างที่มีอยู่ในสังคมไทยโดยภาพรวม ไม่เอื้อให้เกิดจินตนาการ หรือการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่จะเท่าทัน เศรษฐกิจแบบดิจิทัล ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณลองไปซื้อนิทานที่เขียนโดยคนไทย กับนิทานที่เขียนโดยฝรั่ง สุ่มหยิบมาอย่างละสิบเล่มแล้วเทียบกัน คุณจะพบว่า สิบเล่มของนิทานภาษาไทย จะสอนเรื่อง คุณธรรม ซื่อสัตย์ เคารพผู้ใหญ่ อ่อนน้อม นี่คือค่านิยมที่จะอยู่ในนิทานสิบเล่มของไทย ร้อยทั้งร้อยจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าไปอ่านนิทานสำหรับเด็กของต่างประเทศ เขาจะเน้นไปที่จินตนาการ ความสนุกสนานของเด็ก จะเห็นว่านิทานของไทยกับต่างประเทศแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน 
 
"นิทานที่คนไทยอ่านคือนิทานที่ปลูกฝังค่านิยมที่ไม่เหมาะสมต่อการพาประเทศไปสู่อนาคต" ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่สะท้อนความสิ้นหวังของอนาคตของสังคมไทย เพราะจริงๆ แล้ว จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิพากษ์ เป็นสิ่งที่เราควรปลูกฝังให้กับเด็กๆ แต่สิ่งที่ประเทศไทยสอนให้กับเยาวชนของเรา คือกรอบ คุณสอบกรอบทุกอย่าง ตั้งแต่ทรงผม ชุดนักเรียน การเกณฑ์ทหาร การอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่ หรือการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ทุกอย่างคือกรอบทั้งหมด ซึ่งถ้าบอกว่าเรากำลังพูดถึง Thailand 4.0 เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยที่ไม่ได้พูดถึงวัฒนธรรมที่มันฝังรากอยู่ในสังคมไทย การพูดเรื่องเหล่านั้น มันก็ไม่มีความหมาย 
 
GM : โดยตัวคุณเองมีบุคลิกลักษณะที่สุดขอบสุดขั้ว แต่คุณก็ยังเป็นผลผลิตของสังคมไทย แล้วคุณคิดนอกกรอบได้อย่างไร มีความขบถได้อย่างไร หรือมาจากประสบการณ์ในต่างแดน

ธนาธร : ผมว่าการที่มีลักษณะขบถ มันมีมาตั้งแต่ตอนก่อนไปศึกษาต่างประเทศ และผมส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีลักษณะขบถด้วยนะ ถ้าถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมก็อธิบายตัวเองไม่ได้ แต่ผมคิดว่ามันสามารถทำได้ อย่างเช่น คุณสามารถที่จะแพ็คกระเป๋าโดยไม่มีจุดหมายไปถึงหัวลำโพง ขึ้นรถไฟขบวนไหนก็ได้ที่อยู่ชานชาลาเบอร์ 4 แล้วไปให้สุดทาง เดินทางโดยไม่ต้องมีจุดหมายเพื่อไปดูโลก ถ้าสมมุติมีทางให้เลือก มีทางที่ยากกับง่าย ทางเป็นปูนซีเมนต์กับทางที่เป็นป่าเขา แต่ไปถึงจุดหมายเดียวกัน ก็เลือกทางป่าเขา เลือกทางที่ยาก คือถ้าเราอยากจะสร้างจิตสำนึกแบบนี้ เราก็ต้องสร้างมัน
 
GM : เราพูดถึงเรื่องหนังสือเยาวชนที่สังคมไทยมุ่งสอนเรื่องคุณธรรมมากกว่าจินตนาการ แล้วส่วนตัวคุณเชื่อในศาสนาไหม

ธนาธร : ผมคิดว่าทุกคนมีพระเจ้าของตัวเอง แล้วคุณก็คุยกับพระเจ้าของคุณเองได้โดยไม่ต้องผ่านวัด โบสถ์ หรือมัสยิด คุณคุยกับพระเจ้าของตัวคุณได้ แม้กระทั่งระหว่างการวิ่ง คุณก็คุยกับพระเจ้าได้ คุณไม่ต้องไปตักบาตร ไปมิสซา หรือละหมาดเพื่อจะคุยกับพระเจ้า สิ่งที่ผมเชื่อก็คือศรัทธาทางศาสนาควรจะเป็นศรัทธาที่เปิดกว้าง และไม่ควรมีวัดหรือศาสนา หรือองค์กรใดมาบังคับหรือเชิดชูความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มากกว่าความเชื่ออื่นๆ เช่น รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนที่เท่าเทียมกันกับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรจะถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย ที่นี่คุณจะนับถือยูดาย คุณจะนับถือเต๋า นับถือเซนก็ได้ เหมือนอย่างธรรมกาย ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับธรรมกาย รัฐก็ไม่ควรไปยุ่ง ปัญหาคือถ้ารัฐไปยุ่ง มันก็จะซับซ้อนวุ่นวายไปหมด 
 
GM : จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปในสถานที่ต่างๆ มากมาย คุณมองความน่าอยู่ของเมืองไทยอย่างไร
ธนาธร : ผมเพิ่งคิดเรื่องนี้เมื่อวานนี้เอง เจออะไรไม่รู้ทำให้ผมคิดเรื่องนี้ เมืองไทยนี่มันเป็น Land of Smile ใช่ไหม ผมมานั่งคิดว่าทำไมเราถึงยิ้ม แล้วคำตอบที่ได้ อาจจะไม่ถูกใจคนไทยหลายๆ คน แต่ "เหตุผลที่ผมคิดว่า ทำไมคนไทยถึงยิ้ม ก็เพราะคนไทยไม่มีจุดยืนเรื่องอะไรเลย" เมื่อโดนถามเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แล้วเราตอบไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือยิ้ม ไม่มีจุดยืน แม้แต่ในเรื่องที่สากลเขายอมรับกัน อย่างเช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน คือเราอาจจะมีบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกันกับคนในสังคม แต่มันอธิบายกับคนในระดับสากลไม่ได้ 
 
ดังนั้น ถ้าถามว่าความน่าอยู่ของสังคมไทยคืออะไร ผมคิดว่าความน่าอยู่ในสังคมไทยมีอยู่อย่างเดียว คือคุณต้องเป็นคนแบบผม คุณต้องเป็นคนที่มีเงินและมีอำนาจ ประเทศไทยถึงจะน่าอยู่ เห็นจากหลายกรณี เมื่อคนที่มีอำนาจและมีเงินถูกขึ้นศาล ทำผิดกฎหมายแล้วไม่ถูกลงโทษ ในขณะที่ถ้าเป็นประชาชนธรรมดาไม่มีชื่อเสียง คุณก็จะถูกกระทำโดยกฎหมาย สังคมไทยน่าอยู่ก็ต่อเมื่อคุณมีเงินและมีอำนาจเท่านั้นเอง สำหรับผมถ้ามีเรื่องอะไรอย่างหนึ่งที่จะต้องพูดให้ชัดเจนเพื่อสร้างสังคมไทยในวันข้างหน้าก็คือเรื่องนี้แหละ การบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันกับทุกคน ไม่ว่าคุณจะนามสกุลอะไร 
 
อีกอย่างคือ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองไทยก็แย่มาก สงกรานต์เพิ่งตายไปไม่รู้เท่าไหร่ ประมาณ 300 กว่าคน ลองนึกดูว่าคนที่ตายไปอายุเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คุณคิดว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสร้างคนอายุ 20 ปีขึ้นมา 1 คนนี่คือเท่าไหร่ ผมคิดว่าต้องมีล้าน 2 ล้านแน่นอน หรืออาจจะเกินกว่านั้นด้วย นี่คือความสูญเสียมหาศาล ยังไม่นับผลกระทบทางด้านจิตใจของคนรอบตัวเขาอีก นี่มันเป็นเรื่องอะไรที่เหลือเชื่อมาก โครงสร้างพื้นฐานก็แย่ การบังคับใช้กฎหมายก็แย่ ค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในสังคมก็แย่ สมมุติคิดว่าอยากจะเปลี่ยนชนชั้นในชั่วชีวิตคุณ คุณทำได้ไหม จากชนชั้นกลางเป็นชนชั้นกลางระดับบน หรือชนชั้นล่างเป็นชนชั้นกลางในชั่วชีวิตเดียว

GM : ยุคสมัยหนึ่ง คนจีนโพ้นทะเลที่มาแบบเสื่อผืนหมอนใบอาจจะทำได้

ธนาธร : กี่คน และที่สำคัญคนที่ทำได้เกือบทั้งหมด มีสักกี่คนที่ไม่ผูกขาดสัมปทาน เอาเปรียบประชาชนกับรัฐ หรือโกงกินภาษีประชาชน นี่คือข้อเท็จจริง อย่างก่อนหน้านี้ เราพูดกันเรื่องอัสดงของอุตสาหกรรมสื่อ แต่ก่อนอัสดงของอุตสาหกรรมสื่อ มีผู้เล่นในอุตสาหกรรมสื่อกี่เจ้าครับ สื่อวิทยุ เจ้าของก็คือทหาร โทรทัศน์ก็ผูกขาด ไม่มีการประมูลกันมาเป็น 20-30 ปีแล้ว เพราะฉะนั้น ระบบการผูกขาดที่หยั่งรากในสังคม ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในสังคมไทย แล้วทำให้คนในสังคมไทยไม่มีการเลื่อนฐานะทางสังคม ซึ่งหมายความว่า คุณไม่สามารถเปลี่ยนชนชั้นในชีวิตคุณ น้อยมาก คนที่จะทำได้มีอยู่ 2 อย่าง คือไปเลียแข้งขานักการเมือง ไม่ก็ไปหากินกับสัมปทานของรัฐ คุณไม่สามารถมี มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในสังคมไทยได้ เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม ทั้งในด้านกายภาพที่จะทำให้เกิดการเลื่อนฐานะทางสังคมเลย

GM : ชีวิตผจญภัยย่อมไม่รู้จุดหมายปลายทาง ตัวคุณเองมองชีวิตนับจากนี้ต่อไปอย่างไร

ธนาธร : ถ้าทุกคนใช้ชีวิตเหมือนผม โลกนี้ไม่ต้องมีนิยาย คือมันผ่านเรื่องราวมากมาย แต่ถ้าถามผม ผมยังไม่อิ่ม ผมยังรักชีวิตผม ผมยังไม่อยากตาย ผมยังอยากใช้ชีวิต ถ้าย้อนกลับไปอายุ 18 ได้อีกครั้ง ผมจะใช้ชีวิตหนักกว่านี้อีก ผมจะกินเหล้าอีกเป็นเท่าตัว ผมจะปีนเขาให้เร็วกว่านี้อีก 10 ปี แต่ถ้าถามถึงการเดินทางไปข้างหน้าของชีวิต ยังมีสิ่งที่ผมอยากทำ ยังมีสิ่งที่ผมอยากเห็นอีกเยอะ อันนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเดินทางในเชิงผจญภัยตามสถานที่นะ แต่พูดถึงการเดินทางของชีวิต ผมยังไม่อยากตาย ผมยังอยากคุยกับผู้คน อยากเห็นสิ่งต่างๆ ในโลก ยังอยากเห็นอะไรอีกเยอะมาก 
 
เคยบวช  : บวชที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ทั้งวัดมีพระอยู่ 5-6 รูป ตอนนั้นผมอยากลอง แล้วก็คิดว่าถ้าทำแล้ว คุณแม่น่าจะมีความสุข จริงๆ ตอนไปบวช ผมก็มีความสุขกับช่วงเวลานั้น แต่ไม่ใช่ความสุขด้านศาสนานะ "การไปบวชไม่ใช่บันไดไปสู่นิพพานของผม บันไดไปสู่นิพพานของผมมีอีกหลายบันได ไม่ใช่การไปบวชแน่นอน”
อ่านรายละเอียด

ขอบคุณ https://gmlive.com/


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"