'ไขปริศนา'หาสาเหตุ 'หมอหนุ่ม'เป็นมะเร็งปอดได้อย่างไร?

“ก๊าซเรดอนกับมะเร็งปอด เป็นเรื่องที่มีผู้ศึกษากันมากว่า 10 ปีแล้วโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยก่อนคนอเมริกาจะเลือกซื้อบ้าน หลายคนจะขอดูตัวเลขค่าปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่บริเวณบ้านที่เขาจะซื้อก่อน”

18ม.ค.2566-เรื่องราวของแพทย์หนุ่มรายหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยในโลกโซเซียลว่าตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ทำให้หลายคนรู้สึกตกใจและหวาดวิตก และนึกไปถึงสาเหตุที่สงสัยว่าก่อโรคมะเร็งปอดให้กับแพทย์รายนี้  แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าสาเหตุอับดับหนึ่งที่ทำให้เกิด “มะเร็งปอด” คือ “การสูบบุรี่” แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุของมะเร็งปอดที่เรารู้จักเพิ่มขึ้นก็คือ “ฝุ่นพิษ PM2.5” ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการวัดคุณภาพอากาศ

แต่จริงๆแล้ว สาเหตุของมะเร็งปอดไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่ หรือฝุ่นพิษPM2.5เท่านั้น แต่ยังมี “ก๊าซเรดอน”เหตุก่อโรคมะเร็งปอดที่มีมานานแล้ว และอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด แต่สังคมกลับรับรู้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง
รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ผู้เชี่ยวชาญการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ก๊าซเรดอน”เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่จัดได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดมะเร็งปอดโดยจัดเป็นสาเหตุอันดับสองรองจากบุหรี่ โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง International  Agency of Research on Cancer: IARC) แห่งองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้สรุปเป็นเอกฉันท์ว่า เรดอนเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดในมนุษย์ แต่น่าตกใจคือก๊าซเรดอนเป็นก๊าซที่สามารถพบได้ตามอาคารบ้านเรือนทั่วไป!

รศ.นเรศร์ จันทร์ขาว

“ก๊าซเรดอนกับมะเร็งปอด เป็นเรื่องที่มีผู้ศึกษากันมากว่า 10 ปีแล้วโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยก่อนคนอเมริกาจะเลือกซื้อบ้าน หลายคนจะขอดูตัวเลขค่าปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่บริเวณบ้านที่เขาจะซื้อก่อน”รศ.นเรศร์ กล่าวเสริมอีกว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม(Environmental Protection Agency หรือ EPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ข้อมูลความรู้และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับก๊าซเรดอนแก่ประชาชน ได้ออกมาเตือนให้ผู้คนตระหนักและระมัดระวังก๊าซเรดอนเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่หนาวซึ่งเป็นช่วงที่อากาศปิด”รศ.นเรศร์กล่าว

ก๊าซเรดอนมาจากไหน รศ.นเรศร์ อธิบายว่า เราอาศัยอยู่บนโลกที่มีกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่มนุษย์มีโอกาสได้รับรังสีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น จากธาตุกัมมันตรังสีที่มีปะปนอยู่ทั่วไปใน หิน ดิน ทราย หรือแม้แต่ในร่างกายของตัวเราเอง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณรังสีทั้งหมดที่มนุษย์ได้รับ ที่เหลืออีกประมาณ 20%เป็นรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นรังสีที่ถูกนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การถ่ายภาพเอกซ์เรย์อวัยวะต่างๆการฉายแสง กลืนแร่ หรือ ฝังแร่เพื่อรักษามะเร็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบนพื้นโลกส่วนใหญ่มีค่าครึ่งชีวิตสั้นทำให้เกิดการสลายตัวหายไปจนหมด มาจนถึงปัจจุบันแต่มีธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบางส่วนที่มีค่าครึ่งชีวิตยาวมาก จึงสามารถพบหลงเหลืออยู่และกระจายปะปนอยู่ทั่วไปในหิน ดิน ทราย แร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆที่ได้จากเปลือกโลก ซึ่งรวมไปถึงน้ำในแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน

ปริมาณก๊าซเรดิน เปลี่ยนแปลงตามระดับชั้นของอาคาร

“ธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบนพื้นโลกที่ยังสามารถพบได้ในปัจจุบัน ได้แก่ธาตุกัมมันตรังสีที่อยู่ในอนุกรมยูเรเนียม-238 อนุกรมทอเรียม-232 และโพแทสเซียม-40ซึ่งก๊าซเรดอนเป็นหนึ่งในบรรดาธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานที่เกิดจากการสลายตัวของธาตุยูเรเนียมและทอเรียม และเนื่องจากเรดอนมีสถานะเป็นก๊าซจึงสามารถฟุ้งกระจายปะปนอยู่ในอากาศทั่วไปเมื่อมนุษย์นำทรัพยากรจากเปลือกโลก เช่น หิน ดิน ทราย มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาคารบ้านเรือนวัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมา หากอาคารมีการระบายอากาศที่ไม่ดีจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีโอกาสได้รับก๊าซเรดอนปริมาณมากเข้าไปสะสมในร่างกายและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้”

ก๊าซเรดอน อันตรายอย่างไร อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ทำให้เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีก๊าซนี้อยู่รอบๆ ตัวเราจึงไม่อาจรู้ได้เลยว่ากำลังหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปหรือไม่ เมื่อเราหายใจเอาก๊าซเรดอนเข้าไปเรดอนจะเกิดการสลายตัวให้รังสีแอลฟาและเกิดเป็นธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ขึ้น ซึ่งธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสถานะเป็นของแข็งและสลายตัวให้ธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นธาตุตะกั่วซึ่งเป็นธาตุเสถียรและสะสมอยู่ในถุงลมปอดไม่สามารถกำจัดออกจากปอดได้เป็นผลให้เซลล์ที่ปอดจะได้รับอันตรายจากทั้งรังสีแอลฟาและพิษตะกั่วซึ่งจะนำไปสู่การทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์

ดร.รวิวรรณ บอกอีกว่าที่อยู่อาศัยของเราก็มีก๊าซเรดอนอยู่ด้วย  โดยในดินในแต่ละบริเวณจะมีธาตุยูเรเนียมปะปนอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกันไป ซึ่งดินจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ นั้นมีปริมาณของธาตุยูเรเนียมน้อยกว่าดินจากจังหวัดอื่น ดินที่พบว่ามีธาตุยูเรเนียมปะปนอยู่ในปริมาณสูงส่วนใหญ่ มักจะเป็นตัวอย่างดินจากบริเวณที่มีชั้นหินแข็งเป็นหินแกรนิตหรือมีวัตถุต้นกำเนิดดินที่สลายตัวผุพังมาจากหินแกรนิต นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าตะกอนโคลนจากแหล่งน้ำพุร้อนต่างๆ ก็มีธาตุเรเดียมปะปนอยู่ในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน

ศ.ดร.สุพิชชา จันทรโยธา ธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯได้ศึกษาวิจัยและวิเคราะห์หาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีในธรรมชาติในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในจังหวัดตัวแทนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นฐานทางรังสีของประเทศ นอกจากนี้ ยังนี้มีกรมทรัพยากรธรณีที่เคยจัดทำและเผยแพร่แผนที่ปริมาณยูเรเนียมและทอเรียมของประเทศไทยไว้อีกด้วย กล่าวว่า  แม้แต่ในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณก๊าซเรดอนที่ระดับพื้นดิน ใต้ดินหรือที่ระดับชั้นต่างกันของอาคาร ก็มีปริมาณที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะชั้นล่างของบ้าน อย่างชั้นใต้ดินและชั้น 1 มีแนวโน้มจะมีปริมาณก๊าซเรดอนมากที่สุด หากตามพื้นที่มีรอยแตก รอยต่อระหว่างท่อระบายน้ำ ท่อปะปา หรือพื้นที่ที่เจาะรูไว้อาจทำให้ก๊าซเรดอนสามารถแพร่แทรกเข้ามาได้


จากการทดลองวัดค่าปริมาณก๊าซเรดอนที่ห้องภาควิชาชั้น 1คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯของดร.รวิรรณ พบว่า หลังจากวัดค่าแล้ว ลองเปิดประตูหน้าต่าง และพัดลมดูดอากาศพบว่าปริมาณก๊าซเรดอนในห้องลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 และเมื่อเปลี่ยนพื้นที่ลงไปวัดค่าก๊าซเรดอนที่ห้องใต้ดิน พบว่า ค่าก๊าซเรดอนสูงขึ้นถึง 3 – 4 เท่าค่าปริมาณก๊าซเรดอนที่อยู่ในเกณฑ์อันตรายคือ 148 Bq/m3 ขึ้นไปซึ่งปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ยทั่วโลก ภายในอาคารจะอยู่ที่ 40 Bq/m3 ส่วนภายนอกอาคารจะมีค่าก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ย 10 Bq/m3 ซึ่งในปัจจุบัน การวัดค่าปริมาณก๊าซเรดอนในที่อยู่อาศัย นิยมทำการวัด 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การวัดด้วยแผ่นฟิล์ม CR39 และ เครื่องวัดปริมาณก๊าซเรดอน RAD7

การวัดเรดอนอีกวิธีคือ การวัดด้วยแผ่นฟิล์ม CR39เป็นการวัดร่องรอยของอนุภาคแอลฟาซึ่งปลดปล่อยออกมาจากก๊าซเรดอนที่วิ่งชนแผ่นฟิล์ม โดยนำแผ่นCR39 ไปวางไว้บริเวณที่ต้องการตรวจทิ้งไว้ประมาณ 1-3 เดือน  แต่การตรวจโดยแผ่น CR39 ต้องใช้ระยะเวลารอผลนาน และต้องวิเคระห์โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่มีข้อดีคือค่าใช้จ่ายต่ำ


อีกวิธีที่สามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอน ณ เวลานั้นได้เลย คือ การตรวจวัดด้วยเครื่อง RAD7เครื่องจะดูดอากาศและบอกปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนได้ทันที เครื่อง RAD7 ยังสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนได้จากน้ำได้  น้ำที่มีก๊าซเรดอนสูงมักจะเป็นน้ำใต้ดิน เช่น น้ำบาดาล และ น้ำพุร้อน

การวัดก๊าซเรดอนด้วยเครื่อง RAD7

การป้องกันก๊าซเรดอนเข้าสู่ร่างกายก๊าซเรดอน รศ.นเรศร์ แนะนำดังนี้  ถ้าเราอยู่ในบริเวณที่ระบบอากาศเปิด ก๊าซเรดอนจะระบายและเจือจางออกไปเอง ผู้ที่ทำงานอยู่ในที่โล่งจึงไม่ต้องกังวล ส่วนผู้ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในอาคาร ควรเปิดหน้าต่างระบายอากาศอยู่เป็นประจำ  ห้องที่ปิดมิดชิดไว้นาน ก่อนเข้าไปควรเปิดระบบระบายอากาศก่อนและไม่ควรเข้าไปในห้องทันที  ในพื้นที่แคบๆ ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี หรือ ควรติดตั้งระบบระบายอากาศ ตัวอย่างในประเทศทางยุโรป มีกฎหมายให้ทุกบ้านต้องทำระบบระบายอากาศ โดยเฉพาะห้องใต้ดินเพราะเป็นห้องที่จะได้รับก๊าซเรดอนจากพื้นดินทุกด้าน

ส่วนชั้นที่สูงขึ้นปริมาณก๊าซเรดอนจะต่ำลง ก๊าซเรดอนสามารถซึมผ่านตามรอยแตกของบ้าน จึงต้องปิดรอยต่อรอยแตกให้มิดชิด พื้นต้องผนึกหรืออัดให้แน่นแม้จะเป็นคอนกรีต เทคอนกรีตทับรอยร้าว ส่วนผนังของบ้าน โอกาสที่ก๊าซเรดอนจะซึมผ่านเข้ามามีเปอร์เซ็นต์น้อย เพราะมีสีทาบ้าน ส่วนเครื่องฟอกอากาศควรเลือกที่มีถ่านกัมมันต์  Charcoal) และแผ่นกรองชนิดคุณภาพสูง (High Efficiency Particulate Air Filter; HEPA) จะช่วยจับไอระเหยและก๊าซเรดอนได้

ก๊าซเรดอน ที่ออกมาจากรอยแตกชั้นล่างสุดของบ้านเรือน

“ไม่อยากให้ตื่นกลัวเรื่องก๊าซแรดอนมากเกินไปก๊าซแรดอนเป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดแต่การเกิดมะเร็งในปอดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น การได้รับสารเคมีอันตรายชนิดอื่นๆการสูบบุหรี่ และ ความทนทานหรือการปรับตัวได้ของเซลล์ร่างการของเราซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเซลล์มะเร็งแอบแฝงอยู่แล้วขึ้นกับว่าเราดูแลมากน้อยขนาดไหน”รศ.นเรศร์กล่าว

พร้อมกับทิ้งท้ายอีกว่า ถ้าบ้านไหนมีคนเป็นมะเร็งปอด และอยู่ห้องชั้นล่างหรือห้องใต้ดิน อยู่ในที่อับอากาศอากาศไม่ถ่ายเท และเปิดแอร์ทั้งวัน อาจจะให้หน่วยงานเข้าไปวัดค่าก๊าซเรดอนที่บ้านโดยภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนแบบครบวงจรได้ สนใจติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ โทร.0-2218-6781 หรือEmail: [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ต้นหอม' แชร์ปัญหาฝุ่นจากหมอ ห่วงทารก เครื่องฟอกอากาศเอาไม่อยู่!

นาทีนี้ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงไม่หยุดเลยทีเดียว โดยเฉพาะทางภาคเหนืออย่าง เชียงใหม่-เชียงราย ล่าสุด ต้นหอม-ศกุนตลา เทียนไพโรจน์ ได้แชร์สถานการณ์ฝุ่นพิษจากเพจ "Doctor กล้วย" เพจของคุณหมอท่านหนึ่งที่เชียงราย ซึ่งเผยว่าทางโรงพยาบาลต้องใช้เครื่องฟอกอากาศหลายตัวโดยเฉพาะในห้องทารกแรกคลอด ที่ปอดเด็กเพิ่งเริ่มทำงานวันแรกก็ต้องเจอศึกหนักแล้ว

หมอหนุ่มเจ้าของเพจ 'สู้ดิวะ' โพสต์อาการมะเร็งปอดล่าสุด

ผมเพิ่งรับเคมีบำบัดครั้งที่สาม มาเมื่อวันพุธที่ผ่านมาครับ รอบนี้เพลียมากๆเลยครับ ง่วงทั้งวัน ตื่นมากินข้าวแล้วก็หลับต่อ เรียกได้ว่านอนจนจะเป็นแผลกดทับครับ

'สุวินัย' เตือนสติ 'สลิ่มคลั่งเจ้า' ขุดคุ้ยหมอหนุ่มป่วยมะเร็ง อย่าใจแคบเหมือนพวกสามนิ้ว

ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ผมเป็นคนตรงนะ งานนี้ผมขอยืดอกปกป้องหมอหนุ่มที่เป็นมะเร็งปอด

'สารวัตรหนุ่ม' เล่าประสบการณ์ป่วย 'มะเร็งปอด' ระยะลุกลาม แม้ยาดีแค่ไหน แต่ใจมันต้องได้

พ.ต.ต.รุ่งคุณ จันทโชติ สารวัตร(สอบสวน)กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก เล่าเรื่องราวการป่วยเป็นมะเร็งเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้อื่น โดยว่า “เป็นตำรวจ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราชอบออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจเลยนะ ถึงขั้นเสพติดเลยก็ว่าได้ กินเหล้า

เด็กไทยได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ทำเด็กป่วยหลอดลมอักเสบ ปอดบวมจนถึงเสียชีวิต

เด็กไทยได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน บุหรี่ทำคนไทยเสียชีวิตปีละเกือบหมื่นคน วอนเลิกสูบบุหรี่ในบ้าน ปกป้องสุขภาพเด็กและคนในครอบครัว ควันบุหรี่ทำเด็กป่วยหลอดลมอักเสบ หืด ติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวมจนถึงเสียชีวิต