อุ้มดีเซล2เดือนหั่นภาษี5บ./ลิตร

ครม.เคาะลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร อุ้ม 2 เดือน มีผล 21 พ.ค.- 20 ก.ค.65 "บิ๊กตู่" ชี้ยอมสูญ 2 หมื่นล้านสกัดต้นทุนสินค้าเพิ่ม ส่วนเบนซินช่วยเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ จับตา "กบน." ถกตรึงราคาน้ำมัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีการพิจารณาขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งจะสิ้นสุดภายในวันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยรอบใหม่นี้จะลดลงประมาณ 5 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.2565 เป็นเวลา 2 เดือน และจะพิจารณาครั้งละ 2 เดือน คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งวันนี้กองทุนน้ำมันจำเป็นต้องใช้เงินกู้ เพราะเดิมติดลบอยู่แล้ว รวมแล้วใช้ไปทั้งสิ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท รวมกับครั้งนี้ด้วย แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องดูแลพี่น้องประชาชนและภาคการผลิตเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นไปตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน สินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับตามต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งนี้มีอีกหลายมาตรการที่กำลังหารือร่วมกันอีก

ผู้สื่อข่าวถามถึงราคาน้ำมันเบนซิน รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องของน้ำมันเบนซินจะพิจารณาให้เป็นเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว หากจะทำทั้งหมดทุกอย่างทุกคนทราบดีว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก แล้วจะเอามาจากที่ไหน การที่ให้ความสำคัญกับน้ำมันดีเซลเพราะถือเป็นต้นทุนการผลิตด้วย ด้านการขนส่งสินค้าอะไรต่างๆ สำหรับเบนซินเราช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มไปที่เดือดร้อนจริงๆ ที่เหลือถ้าพอช่วยกันได้ก็ช่วยกันไปก่อนเถอะ สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรจะช่วยกันประหยัดพลังงานจะได้ลดค่าใช้จ่าย

 ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.​อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ..... สาระสำคัญ โดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีลงประมาณ 5 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 2565 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 19)  พ.ศ.2565

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ ถือเป็นมาตรการทางภาษีในระยะสั้น เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนในภาคการผลิตและภาคการขนส่งในทุกอุตสาหกรรมไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน จากสถานการณ์ราคาสินค้าในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นที่อาจจะอยู่ในระดับที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงความจำเป็นต้องต่อเนื่องในการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการอย่างทั่วหน้า ขณะเดียวกันการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคประชาสังคมควบคู่กันไปด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยการใช้มาตรการภาษีดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการในระยะสั้น และถ้าหากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลยังคงใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกหลักในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2565 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.2565 ทำให้สูญเสียรายได้เดือนละ 5.7 พันล้านบาท รวม 3 เดือน สูญเสียรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท

รมว.การคลังกล่าวว่า แม้จะมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 เดือน แต่ยังประเมินว่าผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งปีนี้รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ 3.1 ล้านล้านบาท และประมาณการรายได้ที่ 2.1 ล้านล้านบาท และต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระกองทุนน้ำมันน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนี้ได้มากขึ้น จากที่กองทุนมีภาระดูแลดีเซลเกือบ 10 บาทต่อลิตร และกำลังจะประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ 15 พ.ค. ติดลบ 72,062 ล้านบาท ส่วนราคาขายน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์จะขึ้นราคาจาก 32 บาทต่อลิตรหรือไม่นั้น ต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 18 พ.ค.นี้

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีออกมาอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้พิจารณาต่อเนื่องแบบเดือนต่อเดือน ซึ่งในแง่งบประมาณขณะนี้ยังมีเพียงพออยู่ ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มจากแผนงานเดิม

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า จะมีการประชุม กบน. เพื่อติดตามแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันและพิจารณาทิศทางการกำหนดราคาน้ำมันดีเซลในประเทศประจำสัปดาห์ ซึ่งกองทุนจะรวบรวมปัจจัยต่างๆ รอบด้าน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบตลาดโลกล่าสุดรวบรวมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา

มีรายงานว่า ที่ประชุม กบน.จะนำมติ ครม.ที่อนุมัติให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร ออกไปอีก 2 เดือน ทั้งนี้ปัจจุบันราคาดีเซลอยู่ที่เกือบ 32 บาทต่อลิตร จะต้องมาดูมติที่ประชุม กบน.อีกครั้งว่าจะใช้กลไกของการลงภาษีสรรพสามิตลงมาเท่าไหร่ หากมีมติต่ออายุมาตรการเดิม คือลดราคาขายปลีกแค่ 2 บาทต่อลิตร จะยังไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายหน้าปั๊มลดลง แต่หากที่ประชุมต้องการที่จะลดราคาขายปลีกน้ำดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จะต้องใช้โควตาการลดภาษีสรรพสามิตทั้งหมด 4 บาทต่อลิตร จากโควตาทั้งหมด 5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มลดลง 2 บาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทุนชดเชยราคาดีเซลไว้กว่า 9.92 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร จากราคาจริงควรจะอยู่ที่ 41.94 บาท/ลิตร โดยล่าสุด ณ วันที่ 17 พ.ค.2565 ประมาณการฐานะกองทุนสุทธิติดลบ 72,062 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,854 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 34,208 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง