ปิดฉากทวงคืน ‘บ้านป่าแหว่ง’ ศาลปค.ยกฟ้อง

ปิดฉากทวงคืน "บ้านป่าแหว่ง" ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง ชี้พื้นที่อยู่นอกเขตป่าสงวน-อุทยานดอยสุเทพ-ปุย ขั้นตอนการอนุญาตของกรมธนารักษ์ถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อวันที่​ 27 กรกฎาคม ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายสุวิทย์ รุ่งวิสัย ซึ่งอ้างเป็นผู้มีหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนและให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับปรุงพื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ ชม.1723 (บางส่วน) ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมก่อสร้างอาคารที่ทำการศาล บ้านพักตุลาการ และข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือที่รู้จักในคดี "ป่าแหว่ง" ให้กลับมามีสภาพดังเดิม 

โดยศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาททั้งแปลงอยู่นอกแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ และนอกแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อำนาจอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเป็นอำนาจของกรมธนารักษ์ ซึ่งขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่แปลงพิพาท เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ราชพัสดุแปลงพิพาท แม้มีสภาพเป็นป่าที่ลาดเชิงเขา บางส่วนเป็นที่สูงชันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ลุ่มน้ำปิง-วัง) แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมิได้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทจึงไม่อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

อีกทั้งพื้นที่ราชพัสดุแปลงพิพาทอยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 4 สำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมฉบับดังกล่าว และไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนเริ่มโครงการตามข้อ 14 (1) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548

ดังนั้น การพิจารณาอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท จึงเป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ข้ออ้างที่ว่าการพิจารณาอนุญาตของกรมธนารักษ์เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67 วรรคสอง ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และยังฟังไม่ได้ว่าการที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพักตุลาการและบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาทเพื่อก่อสร้างอาคารดังกล่าว ก็ชอบที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้การก่อสร้างอาคารดังกล่าวสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ข้ออ้างที่ว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นเหตุให้มีการโค่นต้นไม้ ทำลายป่า ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ป่าแหว่ง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้ที่สวยงามตามธรรมชาติ และมีผลกระทบต่อลำห้วยแม่ชะเยือง จึงไม่อาจรับฟังได้  และเมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุแปลงพิพาท  จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของนายสุวิทย์ผู้ฟ้องคดี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พื้นที่ราชพัสดุ 147 ไร่ ริมดอยสุเทพ สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีการส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรมธนารักษ์แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง