บันทึกกรธ.เขย่า‘บิ๊กตู ศาลสั่งสภาส่งให้ภายใน13กย. พท.หวังหักล้างคำชี้แจง‘มีชัย’

ศาล รธน.สั่งสภาส่งบันทึกการประชุม​ กรธ.ครั้งที่​ 50​1 ที่รับรองการประชุมครั้งที่ 500 ปมวาระ 8 ปีนายกฯ ภายใน 13 ก.ย. จ่อนัดพิจารณาคดีต่อ​ 14 ก.ย. "บิ๊กตู่" เข้าทำงาน กห.ตามปกติส่งโผทหารให้ "บิ๊กป้อม" แล้ว "ฝ่ายค้าน" ยังมีหวังศาลรับหลักฐานพิจารณา ระบุการรับรองการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 หักล้างคำชี้แจง "มีชัย" อ้าง ม.158 ไม่เขียนให้ไม่นับย้อนหลังปี 60 เท่ากับให้นับย้อนหลัง เย้ยเอกสารหลุดแค่โยนหินถามทาง  เตรียมขุดบทเฉพาะกาล รธน.ปี 21 จับโป๊ะมีชัย ครป.เตือน "มีชัย" ระวังโดนข้อหาให้การเท็จ

เมื่อวันที่​ 8 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญ​ ออกเอกสารข่าวกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170​ วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

โดยผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา​ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 27 วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 ก.ย.2561 ซึ่งมีวาระการประชุม รับรองบันทึกการประชุม ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย.2561 ที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้วโดยไม่มีการแก้ไข

ทั้งนี้ ให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 13 ก.ย.2565 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 14 ก.ย.2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบันทึกการประชุม และรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 ก.ย.61 นั้น เป็นเอกสารที่รับรองบันทึกการประชุมของ กรธ.ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย.61 ที่มีกระแสว่าในที่ประชุม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ประธาน กรธ. และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ กรธ. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ว่าแม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

สำหรับความเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม เดินทางเข้าทำงานที่กระทรวงกลาโหมตั้งแต่ช่วงเช้า โดยไม่มีวาระงานใดเป็นพิเศษ เนื่องจากในวันเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีนัดประชุมพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี สำหรับความคืบหน้าบัญชีรายชื่อปรับย้ายนายทหารของทุกเหล่าทัพเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ในวันที่ 9 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม เดินทางไปเป็นประธานในพิธีปิดหลักสูตรของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 64 วิทยาลัยเสนาธิการทหาร รุ่นที่ 63 วิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 67 วิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 54 และวิทยาลัยการทัพอากาศ รุ่นที่ 56 ในเวลา 14.00 น. ที่อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ

'อนุทิน' ทำหน้าที่รบ.ให้ดีที่สุด

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีเอกสารหลุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ชี้แจงเรื่องปม 8 ปีนายกฯต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเอกสารหลุดคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ มองสถานการณ์นี้อย่างไร ว่าตนให้ความเห็นไม่ได้ และไม่ทราบว่าเอกสารนั้นหลุดหรือไม่ทุกอย่างอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเหลืออายุกี่ปี พรรคภูมิใจไทยพร้อมจะเดินเคียงข้างไปด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า พรรค ภท.เดินหน้าเคียงคู่พี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ภท. เพราะ ภท.รู้เพียงว่าเดี๋ยวเดือน มี.ค.2566 แล้วบวก 45 หรือ 60 วันหรือจะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ต้องเลือกตั้งคิดเพียงเท่านี้

เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่ได้หวังเป็นนายกฯ ในช่วงนี้ แต่รอลุ้นหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า นายอนุทินกล่าวว่า ตนหวังที่จะมีโอกาสทำงานมากกว่า สิ่งที่ ภท.ทำตอนนี้คือเตรียมพร้อมนโยบาย แล้วจะค่อยๆ นำเสนอให้ประชาชนตัดสินใจ เราทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ไปมีปัญหาหรือมีเรื่องกับใคร โดยยึดหลักการระบอบประชาธิปไตยเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ยึดหลักการทำงานในหน้าที่ในรัฐบาลนี้ให้ดีที่สุด ช่วยนายกฯ ทำการประชุมเอเปกและซัมมิตในเดือน พ.ย.นี้ให้ประเทศไทยมีความสง่างามสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศ จากนั้นก็ไปเลือกตั้งกัน

เมื่อถามว่า หากศาลวินิจฉัยเริ่มนับอายุตั้งแต่ปี 60 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เหลือเวลาอีก 2 ปี ภท.จะยังคงสนับสนุนหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อยู่ที่ผลของการเลือกตั้ง ภท.สนับสนุนทุกคนที่เข้ามาทำคุณงามความดีให้บ้านเมือง ภท.ปฏิบัติตามกติกา เพราะ 4 ปีคือเทอมการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามปกติ แต่ที่ผ่านมามีนายกฯ หลายคนอยู่ได้ไม่กี่เดือน หรือบางคนก็อยู่ได้ไม่กี่ปี และเวลานี้ก็ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรนูญตัดสินอย่างไร ที่สำคัญต้องดูผลการเลือกตั้งออกมาก่อน เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น        นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาส่งบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 ไปให้ว่า แสดงว่าศาล รธน.ยังมีข้อสงสัย ในบันทึกการประชุมของ กรธ.ครั้งที่ 500 ที่ระบุว่าไม่มีการรับรองบันทึกการประชุม ที่มีความเห็นของ กรธ.แต่ละคนในเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ในขณะนั้นด้วย ซึ่งในบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 ที่ฝ่ายค้านได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมผ่านประธานสภาฯ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับแจ้งว่าจะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ โดยมีหลักฐานชัดว่าเป็นการรับรองการประชุมครั้งที่ 500 ที่อนุกรรมการฯ ได้พิจารณาตรวจสอบแล้วโดยไม่มีการแก้ไขในบันทึกการประชุมนั้นเลย

บันทึก กรธ.หักล้าง 'มีชัย'

"เท่ากับว่าได้รับความเห็นชอบ จึงถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจน และยิ่งศาลสั่งให้ทางสภาส่งหลักฐานในส่วนนี้ไป ก็จะยิ่งทำให้ฝ่ายค้านมีความหวังว่าศาลจะรับเอาพยานเอกสารหลักฐานของฝ่ายค้านที่ยื่นไปเข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะจะเป็นการหักล้างคำชี้แจงของนายมีชัยที่หลุดออกมา และระบุว่านับวาระ 8 ปี จากวันที่ 6 เม.ย.60 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แล้วอ้างบันทึกการประชุมที่เคยบอกให้นับปี 57 นั้น ไม่ใช่เอกสารสมบูรณ์"

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายค้านไม่ได้แย้งไปคือ นายมีชัยให้ความเห็นในเรื่องนี้ในฐานะพยานบุคคล ซึ่งศาลได้สั่งให้นายมีชัยให้ข้อมูลในฐานะเป็นประธาน กรธ. ดังนั้นต้องเอาความเห็นของตัวเองในขณะที่เป็นประธานในขณะนั้น ซึ่งมีบันทึกไว้เรียบร้อยแล้วให้กับศาลรัฐธรรมนูญไป โดยต้องตอบตามนั้น ซึ่งเป็นความเห็นที่ย้อนแย้งกัน จึงเห็นว่าบันทึกของนายมีชัยที่หลุดออกมา เป็นเรื่องที่เข้าทางฝ่ายค้าน และเป็นประโยชน์กับการพิจารณาในมุมของฝ่ายค้าน เพราะไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ คือมีน้ำหนักไม่พอเพียง หรือขาดความน่าเชื่อถือ และยังเป็นการให้การต่อศาลเป็นเท็จด้วย

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงเราขอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะชี้สถานะ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะจบอย่างไร เราได้เห็นความเคลื่อนไหวที่เห็นข้อควรสังเกตและประชาชนสามารถแสดงความเห็นโดยบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเอกสารของนายมีชัย ฤชุพันธุ์  ซึ่งเอกสารดังกล่าวตนมองว่าหมดน้ำหนักแล้ว โดยในทางการพิจารณาคดี หากเอกสารขัดกัน ถือว่าพยานเอกสารนี้ไม่มีน้ำหนัก ซึ่งรายงานการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 กับ ครั้งที่ 501 มันขัดกันชัดเจน จึงมองว่าในการพิจารณาคดีหลักฐานดังกล่าวไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ หากไปพิจารณามาตรา 264 ที่ได้เขียนยึดโยงไปกับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60 เพราะเจตนารมณ์ระบุไว้ชัดเจน อีกทั้งเราจะมองข้ามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกฯ ปี 57 ไปไม่ได้ นั่นถือว่าเป็นนายกฯ ที่สมบูรณ์ทุกประการแล้ว ซึ่งก็ตรงกับมาตรา 158 ทุกประการ

นายสุทินกล่าวว่า นอกจากนี้ หากมีการตีความว่าไม่นับย้อนหลังและเริ่มนับจากปี 60 ตนอยากให้ไปดูที่มาตรา 158  หากจะมุ่งหมายกันอย่างนั้น จะต้องเขียนในมาตรา 158 ไว้ด้วยว่ามาตรานี้ต้องไม่มีผลย้อนหลังกับรัฐบาลก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ เพราะเขียนแบบนี้จะชัดเจนที่สุด ดังนั้นการที่มาตรา 158 ไม่ได้เขียนไว้ เพราะต้องการมีผลย้อนหลังถึงรัฐบาลก่อนรัฐธรรมนูญ 60 จะประกาศใช้ด้วย

ส่วนเอกสารที่ฝ่ายค้านได้ยื่นเพิ่มเติมไปนั้น นายสุทินกล่าวว่า น่าจะเพียงพอ และน่าจะจบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์และของนายมีชัยที่หลุดออกมาตนมองว่าขาดน้ำหนักโดยสิ้นเชิง และเชื่อว่ามีนัยเพื่อโยนหินถามทาง และนำทางไปสู่การพิจารณา แต่คนที่ทำเอกสารหลุดอาจจะคาดหมายผิดว่าเราจะไม่มีเอกสารใหม่ ขณะเดียวกันเราก็จะไปค้นข้อมูลเพิ่มโดยอ้างอิงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่นายมีชัยเคยเขียนไว้เพื่อให้เห็นเจตนาของคนเขียนว่าต้องการอะไร

เตือน'มีชัย'โดนข้อหาให้การเท็จ

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการโปรปะกันดาหรือโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ เพื่อเปลี่ยนกระแสสังคมเรื่องนายกฯ 8 ปี ตามแนวทางชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของพล.อ.ประยุทธ์และทีมกฎหมายที่นำโดยนายวิษณุ เครืองาม โดยการปลูกฝังแง่มุมความคิดเห็นอย่างเป็นระบบเพื่อเบี่ยงเบนกระบวนการรับรู้และพฤติกรรมเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีปฏิกิริยาตอบสนองตามที่ตนเองกำหนดแนวทาง จึงเห็นการโต้แย้งทางกฎหมายออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อชงเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ควรนับอายุ 8 ปี เริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เอกสารชี้แจงรายละเอียด 8 ข้อนั้นฟังไม่ขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความเกรงกลัวละอายต่อบาป อธิบายกฎหมายแบบศรีธนญชัย ตีความเข้าข้างตนเองเพื่อให้ตนเองได้ยึดอำนาจปกครองบ้านเมืองต่อ

นายเมธากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องแสดงรายการทรัพย์สิน เพราะเป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาจากปี 2557 ดังนั้นย่อมจะต้องนับอายุต่อเนื่อง เรื่องนี้ไม่ต้องอ้างการใช้ดุลพินิจและตีความกฎหมาย แต่ พล.อ.ประยุทธ์มีหิริโอตตัปปะหรือไม่  คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์เข้าข่ายให้การเท็จ อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตลอดมาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่ความจริงปล่อยให้คนอื่นคอร์รัปชันมโหฬาร ตามดัชนีชี้วัดการทุจริตที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จัดอันดับให้ประเทศไทยตกต่ำลงทุกปีจนอยู่อันกับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

"นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาจต้องระวังการโดนข้อหาให้การเท็จด้วย เพราะการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 นายมีชัยนั่งเป็นประธานรับรองการประชุมครั้งที่ 500 เองที่ให้นับระยะเวลานายกฯ 8 ปี รวมช่วงการดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ซึ่งสวนทางกับคำชี้แจงที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเสนอให้นับ 6 เม.ย.60 เพราะประมวลกฎหมายอาญา ม.177 เขียนว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" 

วันเดียวกัน กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการทหารเรือ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ

ภายหลังการประชุม พล.ท.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

เมื่อถามว่า กำชับให้ติดตามสถานการณ์หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงความเคลื่อนไหวการชุมนุมอย่างไรบ้าง พล.ท.ธีรพงศ์กล่าวว่า ท่านได้กำชับให้ติดตามในทุกๆ เรื่องที่เป็นสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและนอกประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง