‘บิ๊กตู่’ไม่ยุบสภาก.พ. ขอบคุณครม.ร่วมงาน‘วิษณุ’แจ้งไทม์ไลน์เลือกตั้ง

“กกต.” เคาะระเบียบและประกาศ 3 ฉบับแล้ว ทั้งเรื่อง “เลือก ส.ส.-ไพรมารีโหวต-สาขาพรรค” เตรียมชงให้รัฐบาลประกาศราชกิจจาฯ ก่อนลุยแบ่งเขตเลือกตั้ง “บิ๊กตู่” ไม่ก้าวล่วง กกต. บอกหน้าที่รัฐบาลจบแล้ว พร้อมขอบคุณ ครม.ที่ร่วมงานกันมา ก่อนกำชับช่วง 2 เดือนใช้จ่ายงบให้โปร่งใส “วิษณุ” แจงไทม์ไลน์ชัดบอกผู้คุมกฎขอเวลา 1 เดือน ก.พ.ไม่ยุบแน่ แต่หลัง 1 มี.ค. เริ่มได้ลุ้น

เมื่อวันอังคารที่​ 31 มกราคม 2566 ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำสัปดาห์ สำนักงาน กกต.ได้เสนอเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณาร่างระเบียบและร่างประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ ร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.…, ร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดประชุมสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … และร่างประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พ.ศ. ….

“กกต.พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานเสนอ ซึ่งสำนักงานจะส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยเมื่อระเบียบและประกาศดังกล่าวประกาศในราชกิจจาฯ และมีผลใช้บังคับแล้ว สำนักงาน กกต.จะเร่งแบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์  วิธีการ และขั้นตอนที่กฎหมายและระเบียบกำหนด โดยจะเร่งรัดเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอนให้น้อยกว่า หรือรวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ เว้นแต่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลา 10 วัน”

แหล่งข่าวจาก กกต.แจ้งถึงการแบ่งเขตว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนจาก 350 เขต เป็น 400 เขต ทันทีที่ร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ กกต.จังหวัดทุกจังหวัดต้องนำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เตรียมไว้อย่างน้อย 3 รูปแบบปิดประกาศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย คือพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด เป็นเวลา 10 วันนับแต่วันปิดประกาศ ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอ หรือตำบล หรือเขตพื้นที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง จากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง และแผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง

แหล่งข่าวจาก กกต.แจ้งต่อว่า เมื่อครบเวลา กกต.แต่ละจังหวัดต้องนำความคิดเห็นของประชาชนทุกคนและทุกพรรคการเมืองที่เสนอ มาประมวลเพื่อวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียให้เรียบร้อยภายใน 3 วัน จากนั้นจึงนำเสนอสรุปรายงานเสนอเข้าที่ประชุม กกต.ผ่านเลขาธิการ กกต.เพื่อพิจารณาตามขั้นตอน เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการของจังหวัดจะใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน ขั้นตอนหลังจากนั้น ที่ประชุม กกต.ต้องพิจารณาเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เหมาะสม และตรงตามหลักเกณฑ์มากที่สุด โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ข้อสรุปครบถ้วนทุกจังหวัดทั้ง 400 เขตแล้ว ให้ประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ากรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รายงานในที่ประชุม ครม.ถึงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ว่าเป็นเรื่องของ กกต. ที่นายวิษณุนำมาถ่ายทอดต่อเท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีสิทธิ์จะไปก้าวล่วง กกต.ใดๆ ทั้งสิ้น หน้าที่ของรัฐบาลก็หมดแล้ว ในเรื่องของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งก็ออกมาเรียบร้อยแล้ว โปรดเกล้าฯ แล้ว หน้าที่ของรัฐบาลก็มีเท่านั้น 

ย้ำใช้งบประมาณให้โปร่งใส

เมื่อถามว่า 2 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลมีสิ่งใดที่เร่งด่วนที่กำชับ ครม.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นการทำงานปกติ ไม่ว่าเหลือเวลาเท่าไหร่ก็ทำให้ดีที่สุด เหมือนที่ทำมาหลายปีแล้ว เรื่องใดสำคัญ เรื่องใดเร่งด่วนก็ทำไป เพียงแต่ขอให้ระมัดระวังเรื่องการจ่ายงบประมาณให้ระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะช่วงการเลือกตั้งไม่ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม รัฐบาลยังคงรักษาการอยู่ ก็ต้องชี้แจงเรื่องงบประมาณให้คุ้มค่าและโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ได้กำชับเช่นนี้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากมีการทุจริต ก็ต้องไปตรวจสอบผู้รับผิดชอบในการชี้แจงว่าการใช้จ่ายงบประมาณถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง  และลงโทษไปตามกระบวนการยุติธรรม

เมื่อถามอีกว่า ตอนนี้มีรัฐบาลมีไทม์ไลน์ไว้อยู่ในใจแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี ยังไม่มี  

ทั้งนี้ หลังประชุม ครม. นายวิษณุได้ขึ้นไปหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องที่ไปพบกับนายกฯ เล่าไม่ได้ เป็นเรื่องราชการ และไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่รองนายกฯ จะคุยกับนายกฯ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการเลือกตั้งได้พูดในที่ประชุม ครม.หมดแล้ว โดยเหมือนกับที่ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ซึ่งนายกฯ ก็รับทราบ เพราะเป็นปัญหาของทุกพรรค เป็นอันว่าภายในเดือน ก.พ.ไม่สามารถยุบสภาได้ตามที่ กกต.แจ้ง

 “ไม่ใช่ว่าตื๊อ ไม่ใช่ว่ายื้อ อยากให้ไปเร็วจะตาย ไม่ใช่ว่าถ่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น แต่หาก กกต.แบ่งเขตได้เร็วกว่านั้นก็จะเป็นอิสระได้เร็วกว่านั้น ขณะนี้ กกต.ขอเวลาประมาณ 1 เดือน หรือ 28 ก.พ. ส่วนเวลาที่ กกต.ขอ 45 วันนั้น 15 วันหลังได้ให้เวลาพรรคเล็กทำไพรมารีโหวตและจัดตั้งสาขาพรรค” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กกต.ได้จัดทำร่างระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง, ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องของการทำไพรมารีโหวต, ฉบับที่ 3 การตั้งสาขาพรรคการเมือง และฉบับที่ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น โดย 3 ฉบับจะจัดทำเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนอีก 1 ฉบับ ซึ่งเป็นประกาศใหญ่จะเสร็จภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. กกต.จะส่งเรื่องไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และ กกต.จังหวัด เปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาจนถึงวันที่ 28 ก.พ.จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการการเลือกตั้งได้

เมื่อถามถึงมีกระแสข่าวว่าจะยุบสภาในวันที่ 15 มี.ค. นายวิษณุกล่าวว่า เป็นสมมติฐานที่ กกต.ใช้เตรียมพร้อมเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่หากแบ่งเขตการเลือกตั้งเสร็จแล้ว จะยุบช้ายุบเร็วก็แล้วแต่ ถ้าให้ทุกฝ่ายสะดวก ซึ่งรวมถึงพรรคเล็กก็ต้องบวกอีก 15 วัน จึงกลายเป็น 45 วัน แต่ถ้าไม่เอาสะดวก 30 วันก็ยุบได้ แต่จะยุ่งหน่อย โดยเฉพาะเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งพรรคใหญ่ไม่เดือดร้อน เพราะซุ่มทำไว้อยู่แล้ว แต่พรรคเล็กยังไม่ทำและยังไม่พร้อม เพราะไม่รู้ว่าเขตอยู่ตรงไหน ดังนั้นพรรคเล็กจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. สมมติว่าหากยุบสภา วันที่ 3 มี.ค.เขาก็แย่ เพราะวันที่ 5 มี.ค. กกต.จะออกประกาศวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครก็จะสมัครไม่ได้และไม่ทัน ดังนั้นเพื่อให้เกียรติและโอกาสแก่พรรคเล็ก กกต.จึงช่วยบวกไปอีก 15 วัน แต่ถ้าไม่คิดไม่เอื้อไม่เฟื้อกัน ก็ทำได้ 30 วัน แต่อย่าทำเลยเด็ดขาด จึงบอกว่ายกเดือน ก.พ.ให้เขาไปทั้งเดือน

ดีเดย์ 1 มีนาคมยุบสภาได้

เมื่อถามถึงกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ตั้งข้อสังเกตเรื่องการคำนวณ ส.ส.โดยนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ เพราะ กกต.เป็นผู้จัดทำ แต่หลักการแล้วคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่นำมานับคำนวณเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง และอย่าว่าแต่ต่างด้าวเลย คนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ถึงทำให้กรุงเทพฯ จาก 36 เขต ลดเหลือ 33 เขต เพราะนับไปนับมามีต่างดาวจึงต้องนำออก

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกระแสยุบสภาในวันที่ 15 มี.ค.ว่า เท่าที่มีข้อมูล คือต้องปิดสมัยประชุมสภาก่อน และการตัดสินใจยุบสภาเป็นของนายกฯ ซึ่งคิดว่ามีความเป็นไปได้หมด แต่ยุบสภาแน่ๆ อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงยุบสภาแน่นอน ส.ส.จึงย้ายพรรคได้ตามปกติ

รายงานข่าวจากทำเนียบฯ แจ้งว่า นายวิษณุได้รายงานไทม์ไลน์การเลือกตั้งให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า ในสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. จะมีประกาศออกมา 4 ฉบับ รวมถึงกรณี กกต.แจ้งว่าถ้าเรายุบสภาช่วงนี้ คงทำไม่ได้ เพราะ ส.ส.ไม่ทราบว่าตัวเองต้องลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตไหน เนื่องจากยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.เลยขอว่าอย่าเพิ่งยุบสภาในช่วงนี้ กว่าจะได้เขตเลือกตั้งต้องหลังวันที่ 28 ก.พ. เพราะต้องใช้ระยะเวลา แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. จะเป็นเรื่องของรัฐบาลว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ กกต.ระบุมาด้วย นอกจากนี้ กกต.ยังแจ้งว่าจะรวบรวมกฎหมายวิธีการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้รถหลวง ผู้ติดตาม ประมวลให้อยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันมาให้ทั้งหมด

ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงหลังประชุม ครม. ถึงคำปรารภและข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่านายกฯ ได้มอบให้นายวิษณุชี้แจงในที่ประชุม ครม.หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ฉะนั้นไทม์ไลน์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปคือ สัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. คือ กกต.จะออกระเบียบและประกาศ จำนวน 4 ฉบับที่สำคัญจากนี้ไป ฉบับที่ 1 คือเรื่องที่ว่าด้วยจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด ซึ่งจะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชากรมาดำเนินการ จึงจะออกระเบียบมาว่าจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดมีแบบไหน และให้ใช้กฎเกณฑ์อะไร, ฉบับที่ 2 คือเรื่องเกี่ยวข้องกับระเบียบและประกาศว่าด้วยการแบ่งเขต ที่ต้องมีการนำประชากรแต่ละพื้นที่มาพิจารณาว่าจะดำเนินการแบ่งเขตให้เหมาะสมกับประชากรในเขตนั้นๆ อย่างไร, ฉบับที่ 3 คือเรื่องที่ว่าด้วยการทำไพรมารีโหวต ที่ต้องสรรหาผู้สมัครเพื่อเตรียมความพร้อม และให้ทุกพรรคการเมืองดำเนินการอย่างเคร่งครัดไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขด้วย และฉบับที่ 4 คือ เรื่องการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัด

นายอนุชากล่าวอีกว่า ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่สองของเดือน ก.พ. ทาง กกต.อาจต้องออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งฉบับสมบูรณ์ ตามที่รัฐบาลมีข้อสังเกต ซึ่งจะเป็นฉบับที่มีรายละเอียดทั้งหมด โดยจะระบุสิ่งที่ทำได้ และสิ่งที่ทำไม่ได้ แบ่งเป็นหมวดหมู่และประเภท หลังจากนั้นรัฐบาลคงต้องพิจารณาถึงเรื่องความเหมาะสม และขึ้นอยู่กับ กกต. ที่จะพิจารณาดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งในอนาคต ที่คาดว่าน่าจะเสร็จภายใน 28 ก.พ.นี้

นายอนุชายังกล่าวอีกว่า นายกฯ ขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่ได้ทำงานร่วมกันมาตลอด ซึ่งจากนี้ไปต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และต้องทำงานอย่างเข้มแข็งและแข็งขันต่อเนื่อง โดยยึดหลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะเมื่อมีการประกาศให้จัดเลือกตั้งแล้วรัฐบาลชุดนี้จะยังรักษาการอยู่

ที่ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยมีการพูดคุยเรื่องข้อกฎหมายลูก 2 ฉบับที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดที่พรรคจะต้องเร่งดำเนินการ แก้ไขข้อบังคับพรรคให้สอดคล้องกับกฎหมายลูกที่ประกาศออกมา ดังนั้นตอนนี้จึงยังไม่สามารถประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้อย่างชัดเจน เพราะรอกฎหมายอื่นๆ ที่จะออกมาก่อน ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรระบุตอนหนึ่งในการประชุมว่า “จะทำอะไรที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทั้งเรื่องตัวแทนสมาชิกประจำจังหวัด การตั้งสาขา ก็ขอให้รีบทำ และให้สอดคล้องกับกฎหมาย เพราะจะยุบสภากันแล้ว

บี้ กกต.รายงานผลเรียลไทม์

ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมการเลือกตั้งว่า มีกระบวนการที่ต้องเตรียมตัวพอสมควร เพราะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เป็น 33 เขตเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงาน กกต.จะส่งรายละเอียดรูปแบบการแบ่งเขตมาให้เราติดประกาศที่เขต เพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นไปยัง กกต. สุดท้ายแล้ว กกต.จึงจะสรุปรูปแบบการแบ่งเขต ซึ่งต้องเตรียมเรื่องการดำเนินการต่างๆ ให้พร้อม โดยได้เน้นย้ำหลักสำคัญในเรื่องของความโปร่งใสและความยุติธรรม ส่วนงบประมาณการเลือกตั้งคงต้องเบิกจาก กกต.โดยตรงต่อไป

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่สุดจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดารที่ไม่ส่งผลดีทั้งต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และนำไปสู่ข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส จึงขอเรียกร้องให้ กกต.แบ่งเขตในการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะถึงนี้อย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ ไม่ใช่ตัดแบ่งหรือรวมตำบลต่างๆ ออกเป็นเขตเลือกตั้งตามฐานเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคเป็นสำคัญ

 “ผมไม่อยากให้ประเทศมีข้อครหาว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะถึง กลายเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกอีกครั้งเหมือนปี 2562 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีอยู่ 400 เขต ประเทศไทยก็เคยผ่านมาแล้ว หากแบ่งเขตได้อย่างเป็นธรรม ก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์กล่าวถึงกรณีการรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ ซึ่ง กกต.อ้างว่าไม่อาจทำได้เพราะใช้งบประมาณมากเกินไปว่า ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติงบประมาณให้ กกต.เกือบ 6,000 ล้านบาท เป้าหมายหนึ่งก็เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด หากการประกาศผลการเลือกตั้งสามารถเป็นไปแบบเรียลไทม์ได้ การทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ แบบที่เคยทำกันมาก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนจำนวนมากจะเห็นผลการเลือกตั้งไปพร้อมๆ กัน เชื่อว่าประชาชนก็เอาด้วย แต่ถ้า กกต.บอกว่าไม่อยากทำ เพราะ กกต.ต้องการช่วยใครหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง